posttoday

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

29 สิงหาคม 2567

10 ปี ทีวีดิจิทัล บนเส้นทางขรุขระ กำลังเผชิญปัญหาใหม่ หลังปี 2572 เมื่อใบอนุญาตหมด จะเดินหน้าไปทางไหน เหลืออีกไม่ถึง 5 ปี กสทช.ยังไร้คำตอบ เหล่าผู้ประกอบการเรียกร้องให้แก้กฎหมาย ยกเลิกประมูล ต่อลมหายใจด้วยการต่อใบอนุญาต เพื่อรักษาทีวีดิจิทัลเป็นสื่อของชาติ

ทีวีดิจิทัล เดินทางมาถึง 10 ปี หรือ 1 ทศวรรษ บนหนทางเริ่มแรกที่นึกว่าสวยหรู การประมูลในครั้งนั้นเมื่อปลายปี 2556 สร้างรายได้เข้ารัฐถึง 50,000 ล้านบาท มากกว่าที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คาดการณ์ไว้ที่ 13,000 ล้านบาท เท่านั้น ทำให้มีช่องทีวีดิจิทัลถึง 24 ช่อง และได้รับใบอนุญาตในปี 2557

ทว่าปัจจุบันเหลือช่องธุรกิจเพียง 15 ช่อง ไม่รวมช่องสาธารณะอีก 5 ช่อง เนื่องจากการลงทุนประมูลที่สูงเกินไป ไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ ในปี 2562 รัฐบาลเห็นปัญหา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงต้องออก ม. 44 ให้คืนใบอนุญาตได้ ไม่จ่ายค่าประมูล 2 งวดที่เหลือ รวม 13,622 ล้านบาท และ กสทช.จ่ายค่า MUX ให้รวมปีละ 1,960 ล้านบาท

ปัจจุบันเหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 ปี เพราะใบอนุญาตจะหมดลงในปี 2572 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ก็ต้องเจอกับความไม่แน่นอนต่อไปอีก หากใบอนุญาตหมดอายุ กฎหมายระบุ ต้องประมูลเท่านั้น นี่คือสิ่งที่ผู้ประกอบการถามหาความชัดเจนมาแรมปีแล้ว แต่ก็ยังไร้ข้อสรุป!!!

แก้กฎหมาย ล้มประมูล-คลื่นดาวเทียมคงอยู่

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า เราประมูลคลื่นมา เพราะหวังให้รายการของเราถึงมือคนที่ดูทุกบ้าน ผ่านกล่อง Set Top Box ที่กสทช.บอกว่า จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึง กสทช.นำมาแจก แต่คนดูได้ไม่ถึง 10 % ต้องยกคำที่ “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม บอก “ส่งของไม่ถึงมือ” จนเราต้องออกมาเรียกร้องให้เยียวยา

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

สุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย)

การเยียวยาของกสทช.คือ การไม่เก็บใบอนุญาต ตามที่ คสช.มีคำสั่ง รวมถึงยังได้มีกฎ Must Carry ขึ้นมา ให้ผู้ประกอบการดาวเทียม เคเบิลทีวี สามารถนำสัญญาณทีวีดิจิทัลมาให้ประชาชนรับชมได้ ซึ่งส่วนใหญ่ตอนนี้คนดูผ่านระบบดังกล่าว 60-70% แต่สุดท้าย ล่าสุด กสทช.มีความพยายามจะนำคลื่นดาวเทียมไปให้โทรคมนาคมใช้ โดยบอกกับผู้ประกอบการว่า ไม่กระทบ เพราะสามารถเพิ่มเติมอุปกรณ์เสริมให้ดูได้ ซึ่งยุ่งยาก และถ้าเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการคงตายก่อนที่จะสิ้นสุดใบอนุญาตในปี 2572 

ต่างประเทศ เขาใช้วิธีการคัดเลือก แต่บ้านเรามีนักร้องเยอะ ทางออกคือต้องประมูล ตอนนั้นประมูลยังแย่มาถึงวันนี้ เราจึงต้องนัดพับกสทช.ทั้งคณะ ให้เร็วที่สุด เพื่อเรียกร้องให้แก้กฎหมาย และไม่นำคลื่นดาวเทียมไปใช้ในโทรคมนาคม ทีวีมีรายการข่าวพระราชสำนัก มีการถ่ายทอดสดตามที่รัฐบาลต้องการ และมีเพลงชาติ ทีวีจึงมีความสำคัญ

เขากล่าวต่ออีกว่า พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุและกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (พรบ.กสทช.) ต้องถูกแก้ไข โดยกสทช.ต้องเป็นคนนับหนึ่ง เริ่มต้นไปคุยกับรัฐบาล เพื่อเสนอต่อสภาฯ รับพิจารณาเพื่อแก้กฎหมายไม่ต้องประมูล เปลี่ยนเป็นการต่อใบอนุญาต และเก็บค่าธรรมเนียมรายปี หรือ หากจะเปลี่ยนเป็นลักษณะบิวตี้ คอนเทสต์ ก็คิดว่าผู้ประกอบการก็รับได้ เพราะเขาทำธุรกิจมาพักหนึ่งแล้ว เขารู้ต้นทุนที่สมเหตุสมผลดี

ทีวีเป็นสื่อของประเทศที่ตรวจสอบได้

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท เดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลังประมูล เราล้มลุก คลุกคลานมาโดยตลอด เพราะทุกอย่างเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เมื่อการรับชมทีวีดิจิทัลผ่าน Set Top Box ไม่ได้ เราต้องใช้เวลาถึง 4-5 ปี ถึงจะชัดเจนว่า สุดท้ายแล้วต้องดูผ่านสัญญาณดาวเทียม 

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

ถกลเกียรติ วีรวรรณ ช่อง วัน 31

แน่นอนว่า คนดูทีวี น้อยลง แต่ไม่ได้แปลว่า คนดูคอนเทนต์ น้อยลง ทำให้คอนเทนต์ในโซเชียล มีเดีย แพลตฟอร์ม OTT มีจำนวนมาก แต่ คอนเทนต์ ที่สามารถตรวจสอบได้ต้องอยู่ในทีวีดิจิทัล เท่านั้น ถามว่า ให้นำคลื่น 3800 MHz ของดาวเทียมไปใช้ในกิจการโทรคมนาคมและย้ายทีวีดิจิทัลไปอยู่ช่องทางอื่นเลยนั้น เชื่อว่ากระทบแน่ เพราะคนดูเขาไม่ย้ายตาม การเปลี่ยนแปลงไปสู่อนาคตต้องค่อยๆเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงต้องไม่ลืมสิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบัน 

เราไม่ได้บอกว่า เราปฏิเสธเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามา แต่สื่อทีวี คือ สื่อที่สามารถต่อยอดได้ ยกตัวอย่าง ซีรีส์วาย ทำไมเขาถึงต้องอยากเช่าเวลาทีวี ทั้งๆที่เขามีกลุ่มฐานคนดูของเขาอยู่แล้ว คำตอบคือ ทีวี เป็นสื่อระดับชาติ คนทั้งประเทศเห็น เมื่ออยู่บนทีวีแล้วสามารถต่อยอดสร้างรายได้ทางอื่นได้ง่ายกว่า  

วัชร วัชรพล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม ไทยรัฐทีวี และไทยรัฐออนไลน์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทุกรายต้องการความชัดเจนโดยเร็วที่สุดว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไร เพราะต้องรีบวางแผนตั้งแต่วันนี้ ระยะเวลา 5 ปี มีไม่มาก ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลพยายามถามกสทช.มาตลอดว่าทิศทางต่อจากนี้จะไปทางไหน จะมีการประมูลใบอนุญาต หรือจะสามารถต่ออายุใบอนุญาตได้เลย ซึ่งหากต่ออายุใบอนุญาตก็ต้องมีการแก้ไขกฎหมาย กสทช. แต่เชื่อว่า ไม่ว่าความชัดเจนจะออกมารูปแบบไหนผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลก็รับได้

ยอมรับว่า ตลอด10ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการทุกราย ประกอบธุรกิจบนกติกา และกฎเกณฑ์ที่เข้มงวด ขณะที่บางแพลตฟอร์ม และOTT ไม่มีกฎกติกาอะไรเลย ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลทำงานยากขึ้น เพราะผู้ชมมีทางเลือก แต่นับเป็นที่ดี ดังนั้นกสทช.ควรหาวิธีเข้าไปกำกับดูแลบนOTT และแพลตฟอร์มอื่นๆด้วย

ประวิทย์ มาลีนนท์ อดีตผู้บริหารช่อง3 เปิดเผยว่า 10 ปีทีวีดิจิทัลที่ผ่านมามีเรื่องคาดไม่ถึงเกิดขึ้นกับวงการทีวีดิจิทัล ส่งผลให้ผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ทั้งผู้รับใบอนุญาตฯ บุคลากร ผู้ผลิตรายการ ดารานักร้อง เจ้าของสินค้า ภาครัฐ ผู้ชม ได้รับผลกระทบ ผู้ประกอบการบางส่วนเดินต่อได้ บางส่วนไปต่อไม่ได้ เช่น ช่อง ประเภทความคมชัดสูง(HD) ไปต่อได้ SD บางช่องไปได้ บางช่องไปต่อไม่ได้ ส่วนของช่องเด็ก และเยาวชน หายไปทั้งหมด ซึ่งช่องนี้เป็นความหวังของภาครัฐมากที่สุดว่าอยากให้เกิดขึ้น 

ที่ผ่านมาทีวีดิจิทัลประสบปัญหารุมเร้าจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ถูกดิสทรัปจากการไปดูสื่ออื่นแทน ทำให้งบประมาณไปอยู่ที่สื่ออื่น ก่อนประมูล ภาครัฐคาดว่า ทีวีดิจิทัลจะรุ่งเรืองเป็นส่วนพัฒนาประเทศชาติ แต่กลับไม่ได้เป็นตามที่คาดไว้ 

กสทช.แบ่งรับแบ่งสู้ เดินเกมแก้กฎหมาย

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ และ ถกลเกียรติ วีรวรรณ 

ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล จะหมดอายุลงในปี 2572 แต่คณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.หมดวาระ เม.ย. 2571 ข้อเรียกร้องของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจะขับเคลื่อนได้ก่อนหรือไม่ เรื่องนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะสมาคมฯเรียกร้องประเด็นนี้มาตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่เวลาก็เดินใกล้สิ้นปี เหลือเวลาอีกไม่ถึง 5 ปี กสทช.จะปล่อยเวลาให้ทอดออกไปอีก หรือ จะเร่งแก้ไข ให้กลายเป็นอีกหนึ่งผลงานของกสทช.

ประธานกสทช.นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยอมรับว่า ทีวี คือ อัตลักษณ์ของประเทศ แต่ทว่าในบริบทของเทคโนโลยี และกฎหมาย เมื่อมีช่องออนไลน์เกิดขึ้นจำนวนมาก ไม่ต้องประมูล ต้นทุนต่ำกว่า ถามว่าเขาทำผิดกฎหมายหรือไม่ หรือถามว่า เป็นธรรมไหม ถ้าให้เป็นธรรม คงต้องมีกฎหมายใหม่ มีคนมาตกลงกันใหม่ มีรูปแบบของการควบคุมใหม่ เราไปคุมยูทูป ได้ไหม ถ้าเขาเดินออกจากประเทศไทย เราแย่ หรือเขาแย่

ดังนั้นทุกฝ่ายต้องมาพูดคุยกันทุกปี เทคโนโลยีเปลี่ยนทุกปี คิดว่าการเริ่มต้นคือการทำงานร่วมกัน เมื่อถึงจุดที่ใบอนุญาตใกล้สิ้นสุด เราไม่รู้ว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนอย่างไรบ้าง คำถามคือ จะเปลี่ยนกฎหมายประมูลไหม เชื่อว่าต้องมาทำงานร่วมกัน และต้องดูว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับสิ่งเหล่านี้หรือไม่ 

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์

ขณะที่ พิรงรอง รามสูต กรรมการกสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวคิดว่าการประมูลเป็นสิ่งที่ตกยุคไปแล้ว แต่กสทช.ต้องทำงานร่วมกันเป็นคณะ กสทช.มีหน้าที่ทำงานคู่ขนานกับทุกภาคส่วน ขณะที่รอความชัดเจนเรื่องแก้กฎหมาย เราก็มีนโยบายในการส่งเสริมให้ทีวีดิจิทัลอยู่รอดหลังปี 2572 ด้วย เช่น 
การทำ (ร่าง) ประกาศฯ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต หรือ OTT เพื่อสร้างมาตรฐานเท่าเทียม ซึ่งเรื่องนี้เสร็จนานเกือบปีแล้ว แต่ยังไม่ถูกบรรจุในวาระการประชุมเพื่อเสนอให้บอร์ดพิจารณา และ (ร่าง) ประกาศฯมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อสร้างกลไกกำกับดูแลจริยธรรมกันเอง รวมถึง กสทช.จะเป็นผู้รับจดแจ้งการตั้งองค์กรวิชาชีพและสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานขององค์กร ซึ่งเรื่องอยู่ในวาระการพิจารณาของบอร์ดกสทช.แล้ว เหลือเพียงการอนุมัติเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม กสทช.มีแผนทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ในการรวมคอนเทนต์ต่างๆ ให้ง่ายต่อการดูแล และจะมีข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภค เพื่อใช้วางแผนในการซื้อโฆษณาได้ ที่สำคัญเม็ดเงินโฆษณาที่อยู่ในระบบจะไหลเวียนอยู่ในประเทศ แทนที่จะออกไปนอกประเทศเหมือนกับแพลตฟอร์มของต่างชาติ

เม็ดเงินโฆษณาทีวียังมาอันดับ 1 แม้การเติบโตลดลง

รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย บริษัท นีลเส็น ประเทศไทย กล่าวว่า ตัวเลขเม็ดเงินโฆษณาของเดือน ม.ค.-ก.ค.2567 พบว่ามีเม็ดเงินรวมอยู่ที่ 67,579 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยการซื้อโฆษณาผ่านทีวียังคงมาเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 33,875 ล้านบาท ลดลง 2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

รัญชิตา ศรีวรวิไล ผู้อำนวยการธุรกิจมีเดีย นีลเส็น

พฤติกรรมการดูของผู้บริโภค คำว่า ดูทีวี ไม่ได้ถูกจำกัดความว่าต้องดูผ่านโทรทัศน์ แต่นิยามการดูทีวีของผู้บริโภคไม่ว่าจะดูผ่านแพลตฟอร์มไหน ผู้บริโภคก็เรียกว่าดูทีวี ดังนั้นจึงพบว่า 67% มีการดูทีวีผ่านแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง ดูแบบฟรี 64% แบบมีโฆษณาแทรก และดูแบบพรีเมียมต้องจ่ายเงิน 48% โดยดูผ่านสมาร์ททีวี 56% 

ขณะที่การดูคอนเทนต์ผ่าน OTT มีอัตราเพิ่มขึ้น ตั้งแต่ปี 2565 มีการดู 60% เพิ่มขึ้นเป็น 63% ในปี 2566 และ 67% ในปี 2567

ยังไม่ชัด หลังปี 72 ใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ไปทางไหน

ย้อนผลประมูลทีวีดิจิทัล 5 หมื่นล้าน

สำหรับทีวีดิจิทัลที่ได้ประมูลกับกสทช.เมื่อ 10 ปีที่แล้ว กสทช.แบ่งการประมูลออกเป็น 4 หมวดหมู่ได้แก่ 

หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้แก่

ผู้ชนะลำดับที่ 1 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาที่ประมูล 3,530 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 2 บริษัท บางกอก มีเดีย แอนด์ บรอดคาสติ้ง จำกัด ราคาที่ประมูล 3,460 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 3 บริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ราคาที่ประมูล 3,370 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 4 บริษัท ทริปเปิล วี บรอดคาสท์ จำกัด ราคาที่ประมูล 3,360 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 5 บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ราคาที่ประมูล 3,340 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 6 ร่วม บริษัท อมรินทร์ เทเลวิชั่น จำกัด ราคาที่ประมูล 3,320 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 6 ร่วม บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอชดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ราคาที่ประมูล 3,320 ล้านบาท

หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้แก่

ผู้ชนะลำดับที่ 1 บริษัท ไทย บรอดคาสติ้ง จำกัด ราคาที่ประมูล 2,355 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 2 บริษัท ทรู ดีทีที จำกัด ราคาที่ประมูล 2,315 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 3 บริษัท จีเอ็มเอ็ม เอสดี ดิจิทัล ทีวี จำกัด ราคาที่ประมูล 2,290 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 4 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาที่ประมูล 2,275 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 5 บริษัท อาร์.เอส.เทเลวิชั่น จำกัด ราคาที่ประมูล 2,265 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 6 บริษัท โมโน บรอดคาซท์ จำกัด ราคาที่ประมูล 2,250 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 7 บริษัท แบงคอก บิสสิเนส บรอดแคสติ้ง จำกัด ราคาที่ประมูล 2,200 ล้านบาท

หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ จำนวน 7 ใบอนุญาต ได้แก่

ผู้ชนะลำดับที่ 1 บริษัท เอ็นบีซี เน็กซ์ วิชั่น จำกัด ราคาที่ประมูล 1,338 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 2 บริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ราคาที่ประมูล 1,330 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 3 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ราคาที่ประมูล 1,328 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 4 บริษัท สปริงนิวส์ เทเลวิชั่น จำกัด ราคาที่ประมูล 1,318 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 5 บริษัท ไทย นิวส์ เน็ตเวิร์ค(ทีเอ็นเอ็น) จำกัด ราคาที่ประมูล 1,316 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 6 บริษัท ดีเอ็น บรอดคาสท์ จำกัด ราคาที่ประมูล 1,310 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 7 บริษัท 3เอ. มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ราคาที่ประมูล 1,298 ล้านบาท

หมวดหมู่เด็ก เยาวชน และครอบครัว จำนวน 3 ใบอนุญาต ได้แก่

ผู้ชนะลำดับที่ 1 บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย จำกัด ราคาที่ประมูล 666 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 2 บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ราคาที่ประมูล 660 ล้านบาท

ผู้ชนะลำดับที่ 3 บริษัท ไทยทีวี จำกัด ราคาที่ประมูล 648 ล้านบาท