posttoday

เปิดตัวเลขเงินคงคลัง 7 เดือนแรกปี67 กว่า 4.32 แสนล้านบาท

03 กันยายน 2567

คลัง เผยยอดเงินคงคลัง 7 เดือนแรกปี 67 อยู่ที่ 4.32 แสนล้าน พร้อมโชว์ผลงานจัดเก็บรายได้ 10 เดือนปีงบ67 แตะ 2.21 ล้านล้าน พลาดเป้า 2.5 หมื่นล้าน แต่ยังมั่นใจสิ้นปีเก็บได้ตามเป้า 2.23 ล้านล้านบาท หลังผลการจัดเก็บรายได้ขยับขึ้นต่อเนื่อง

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยฐานะการคลังของรัฐบาลตามระบบกระแสเงินสด ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ค. 67) ว่า รัฐบาลมีรายได้นำส่งคลังทั้งสิ้น 2.2 ล้านล้านบาท ขณะที่มีการเบิกจ่ายงบประมาณทั้งสิ้น 2.74 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลได้กู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุล 4.68 แสนล้านบาท ส่งผลให้เงินคงคลัง ณ สิ้นเดือน ก.ค. 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 4.32 แสนล้านบาท

 

ส่วนภาพรวมผลการจัดเก็บรายได้สุทธิของรัฐบาลในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2567 (ต.ค.66-ก.ค.67) อยู่ที่ 2.21 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจ การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร กรมศุลกากร และกรมธนารักษ์ที่สูงกว่าประมาณการ

 

โดยการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในช่วง 10 เดือนแรก ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 25,259 หรือ 1.1% ซึ่งมีแนวโน้มลดลงจากในช่วง 9 เดือนแรกของปิงบประมาณก่อน

เปิดตัวเลขเงินคงคลัง 7 เดือนแรกปี67 กว่า 4.32 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การจัดเก็บรายได้รวมของ 3 กรมภาษี ได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร ในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 2.3 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าประมาณตามเอกสารงบประมาณ 4.92 หมื่นล้านบาท หรือ 2.1% แต่สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.83 หมื่นล้านบาท หรือ 3.5% โดยกรมสรรพากร สามารถจัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 1.76 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณตามเอกสารงบประมาณ 8.59 พันล้านบาท หรือ 0.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.31 หมื่นล้านบาท หรือ 1.9%

“ผลการจัดเก็บรายได้รัฐบาลดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีแนวโน้มที่ชัดเจนว่ารายได้ที่ห่างเป้าหมายลดลง ทำให้กระทรวงการคลังมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการการจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิในปีงบประมาณนี้ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.23 ล้านล้านบาทได้อย่างแน่นอน” นายพรชัย กล่าว

 ขณะที่กรมสรรพสามิต จัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 4.39 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.17 หมื่นล้านบาท หรือ 12.3% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากมาตรการปรับลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชนและผู้ประกอบการ ในช่วงเดือน ต.ค. 2566 – เม.ย. 2567 รวมถึงมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กรมสรรพสามิตสามารพจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น 5.26 หมื่นล้านบาท หรือ 13.6%
 

ทั้งนี้ กรมศุลกากร สามารถจัดเก็บรายได้รวมในช่วง 10 เดือนของปีงบประมาณ 2567 อยู่ที่ 9.9 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 3.92 พันล้านบาท หรือ 4.1% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.48 พันล้านบาท หรือ 7%

 

อย่างไรก็ดี ในส่วนของรัฐวิสาหกิจ มีการส่งรายได้รวม อยู่ที่ 1.74 แสนล้านบาท ซึ่งสูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 8.7 พันล้านบาท หรือ 5.3% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.76 หมื่นล้านบาท หรือ 27.6% ขณะที่หน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้รวมอยู่ที่ 1.44 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 757 ล้านบาท หรือ 0.5% แต่ต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.89 หมื่นล้านบาท หรือ 29% โดยกรมธนารักษ์ สามารถจัดเก็บรายได้รวม อยู่ที่ 1.21 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.4 พันล้านบาท หรือ 24.7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 3.81 พันล้านบาท หรือ 45.8%