ครั้งแรก กสทช.จัดระเบียบคลื่นการบิน เฮียร์ริ่งใน 30 วัน สอดคล้องมาตรฐานโลก

05 กันยายน 2567

กสทช.เห็นชอบนำร่าง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ทางการบิน รับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน หลังจากที่ผ่านมาไม่มีการกำหนดชัดเจน เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานโลก ครั้งแรก

พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่าง หลักเกณฑ์การใช้คลื่นความถี่ทางการบิน  เพื่อให้การใช้คลื่นความถี่ในการปฎิบัติหน้าที่และภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการบินของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความซับซ้อนในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ที่ใช้ในระบบการบิน  และสอดคล้องกับการใช้คลื่นความถี่ในระดับสากล  โดยฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) และสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) 

ทั้งนี้มีรายละเอียด ที่เกี่ยวกับกิจการเคลื่อนที่ทางการบิน  กิจการเคลื่อนที่ทางการบินผ่านดาวเทียม กิจการเคลื่อนที่ผ่านดาวเทียม กิจการวิทยุนําทาง กิจการวิทยุนําทางทางการบิน และกิจการวิทยุหาตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งจะมีการนำไปประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะภายใน 30 วัน เพื่อนำกลับมาให้บอร์ดเห็นชอบและประกาศบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่มีหลักเกณฑ์กฎระเบียบการใช้คลื่นความถี่เกี่ยวกับการบิน ทั้งการสื่อสารระหว่างหอบังคับการบิน และนักบิน  การขึ้นลงของเครื่องบิน  ระบบเรดาห์ และต้องมีการใช้คลื่นความถี่ซึ่งมีมาตรฐานไอเคโอและไอทียู  แต่ประเทศไทยยังไม่ได้กำหนดให้เป็นมาตรฐาน ร่างประกาศฉบับนี้ 

ดังนั้นจึงต้องมีการนำมาจัดกลุ่มให้ชัดเจน เพื่อให้เกิดการส่งเสริมกิจการการบินด้วย และยังช่วยให้หน่วยงานที่ต้องใช้คลื่นความถี่เพื่อการบิน  สามารถเสนอเรื่องมายังสำนักงาน กสทช.ได้โดยตรงเพื่อขออนุญาตและพิจารณาได้เลย โดยที่ไม่ต้องนำเรื่องเข้ามาผ่านบอร์ด เป็นการช่วยลดภาระและทำให้กระบวนการมีความรวดเร็วมากขึ้น สำหรับในส่วนของอากาศยานไร้คนขับ หรือโดรน ก็จะมีการนำมาบังคับใช้ในภายหลังด้วยเช่นกัน

สำหรับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับร่างประกาศฉบับนี้  อาทิ 1.การจัดสรรคลื่นความถี่ในเส้นทางบินพาณิชย์กำหนดให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2850-22000 กิโลเฮิรตซ์ และย่าน 117.975-137 เมกะเฮิรตซ์ จะถูกใช้สำหรับการสื่อสารในเส้นทางบินพาณิชย์และผ่านดาวเทียม ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับของ ไอทียู และไอเคโอ

2.การใช้คลื่นความถี่สำหรับระบบช่วยเหลือการบิน สำหรับระบบเรดาร์และระบบวิทยุฉุกเฉิน เช่น คลื่นย่าน 121.5 และ 243 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับการสื่อสารฉุกเฉิน และคลื่นย่าน 9000-9500 เมกะเฮิรตซ์ สำหรับเรดาร์ตรวจอากาศ 3.คลื่นความถี่แบบใช้ร่วมกัน ในกิจการการบิน ที่เกี่ยวข้องไม่จำกัดเฉพาะหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในการใช้งานและสอดคล้องกับข้อบังคับระหว่างประเทศ และ 4.การใช้งานนอกเส้นทางบินพาณิชย์ โดยคลื่นความถี่ที่ใช้สำหรับการบินนอกเส้นทางพาณิชย์และการใช้งานผ่านดาวเทียม ต้องเป็นไปตามตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ เป็นต้น

Thailand Web Stat