posttoday

TDRI ชี้รัฐแบ่งจ่ายเงินดิจิทัล ฉุดตัวคูณเศรษฐกิจรอบ 2 แผ่วเหลือ 0.4-0.8 เท่า

10 กันยายน 2567

TDRI ชี้ รัฐแปรสภาพแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินสดให้กลุ่มเปราะบาง เป็นการช่วยเหลือตรงเป้าหมาย แต่การแบ่งแจกทำให้ประสิทธิภาพกระตุ้นเศรษฐกิจอ่อนลง คาดรอบแรกสร้างตัวคูณการคลัง 1.2-1.8 เท่า รอบถัดไป 30 ล้านคนเหลือเพียง 0.4-0.8 เท่า

ล่าสุด รัฐบาลระบุถึงการดำเนินโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านโครงการดิจิทัล วอลเล็ตว่า เตรียมนำโครงการฯ เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 17 ก.ย.นี้ เพื่ออนุมัติโครงการฯเพื่อนำเงินไปกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ของประเทศ โดยจะแบ่งจ่ายเงินเป็น 2 กล่ม กลุุ่มแรก 140,000 ล้านบาท จ่ายเป็นเงินสดให้กับกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ และผู้พิการจำนวน 14.5 ล้านคน โดยผู้มีสิทธิสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าอะไรก็ได้ ไม่ได้ยกเว้นเฉพาะสินค้าที่เป็น Negative List เหมือนที่ผ่านมา และสามารถซื้อสินค้าจากร้านค้าขนาดใดก็ได้ 

 

อีกกลุ่ม แจกให้สำหรับผู้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐประมาณ 30 ล้านคน โดยคาดว่า อาจมีการแบ่งจ่ายเป็นสองรอบ รอบแรก หากระบบโอนเงินเสร็จไม่ทัน จะจ่ายเงินสดจำนวน 5,000 บาท ภายในสิ้นปี 2567 ส่วนรอบสอง หากระบบเสร็จทันก็จะจ่ายเป็นดิจิทัลอีก 5,000 บาท 

 

ดร.นณริฏ พิศลยบุต นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการแจกเงินดิจิทัลเป็นเงินสด ทำให้ประสิทธิภาพในส่วนที่แจกเฉพาะกลุ่มเปราะบางจะมีแนวโน้มดีขึ้นในภาพรวม เพราะแจกตรงเป้าหมายในกลุ่มที่ควรกระตุ้น คือคนที่ได้รับความเดือดร้อน และการใช้จ่ายทำได้ง่ายมากขึ้น เพราะเงินสดใช้ง่ายกว่าเงินดิจิทัล ข้อดี คือ จะเกิดการจ่ายเงินได้เร็ว ทันต่อเหตุการณ์ แต่ผลกระทบประสิทธิภาพจะอ่อนลง เพราะไม่สามารถจำกัดประเภทสินค้าได้ ทำให้เงินที่แจกอาจจะกระจายไปในสินค้าที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เหล้า บุหรี่ หรือสินค้าที่เงินกระจายต่อในไทยไม่เยอะ เช่น การใช้หนี้ หวย สินค้าต่างประเทศ นับเป็นข้อเสียที่อาจจะเกิดขึ้น กลุ่มที่ไม่เปราะบาง มีความเสี่ยงที่จะไม่ใช้จ่ายเงินแต่เอาไปออมแทน จึงเกิดผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ต่ำ

 

ส่วนการแจกเงินให้กับกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบางอีกที่มีการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่นทางรัฐ อีกประมาณ 30 ล้านคนนั้น มองว่า มีความจำเป็นที่ต้องกระตุ้นจำกัด จึงมักจะส่งผลให้การกระตุ้นทำได้ไม่เยอะมากนัก และน่าจะเป็นโครงการที่ไม่คุ้มค่าต่อการกระตุ้นในภาพรวม คือ ผลการกระตุ้นอาจจะเกิดผลได้ที่น้อยกว่าเม็ดเงินที่ลงไป การแจกเงินก็ส่งผลดี และผลเสียคล้ายคลึงกับข้อแรก แต่ในภาพรวมยังไม่เหมาะสมที่จะดำเนินการ

“การแบ่งจ่ายเงินในโครงการฯ ทำให้เป้าหมายกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดเป็นพายุแน่ เพราะเป็นการอัดฉีดเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจ แต่อาจจะเกิดพายุไม่ใหญ่มากนัก โดยรอบแรก แจกเงินกลุ่มเปราะบางน่าจะมีตัวคูณการคลัง (Fiscal Multiplier) 1.2-1.8. เท่า แต่รอบหลังแจกเงินกลุ่มที่เหลือ ตัวคูณอาจจะเหลือเพียง 0.4-0.8 เท่า โดยนโยบายที่ดีควรจะมีตัวคูณไม่น้อยกว่า 1 เท่า และน่าจะส่งผลชัดๆ ในปี 2568 เป็นต้นไป” ดร.นณริฏ กล่าว

ขณะที่ ผลต่อวินัยการเงินการคลัง น่าจะไม่ต่างจากเดิมมากนัก คือ น่าเป็นห่วง เพราะตัวเลขประมาณการระยะกลางบ่งชี้ว่าหนี้สาธารณะน่าจะเพิ่มไปอยู่ที่ราวๆ 68-69% ของ GDP ใกล้เพดานหนี้สาธารณะที่ 70% ต่อGDP มาก 

 

ทั้งนี้  ดร.นณริฏ กล่าวย้ำว่า อยากแนะนำให้รัฐบาลยกเลิกการแจกเงินรอบ 2 ให้กับคนที่ไม่ใช่กลุ่มเปราะบาง เพราะไม่เกิดความคุ้มค่า แต่ถ้าต้องแจกก็อยากให้แจกผ่าน App เดิมที่มี เช่น กรุงไทย หรือ PromptPay