posttoday

คลัง ส่งสัญญาณแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยโลกขาลง

19 กันยายน 2567

คลัง ชี้ธนาคารกลางทั่วโลกทยอยปรับลดดอกเบี้ย หลังเทรนด์อยู่ในทิศทางขาลง พร้อมส่งสัญญถึงแบงก์ชาติหั่นดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยและภาวะเศรษฐกิจโลก หวังนโยบายการเงิน กับการคลังสอดทำงานประสานกันเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงกรณี ที่ธนาคารกลางสหรัฐ หรือเฟด ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% จาก 5.3% เหลือ 4.8% เป็นการปรับลดครั้งใหญ่ครั้งแรกในรอบกว่า 4 ปีว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายโลกอยู่ในทิศทางขาลง ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของวงจรเศรษฐกิจโลก สำหรับแนวโน้มดอกเบี้ยของไทย เราต้องทําให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยสอดคล้อง และเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงทิศทางของนโยบายเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม การดำเนินนโนบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงค์ชาติ โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีอิสระในเรื่องของการที่จะกําหนดทิศทางดอกเบี้ย แต่กระทรวงการคลัง กับแบงก์ชาติต้องมีการพูดคุยกันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่จะได้รับผลลัพธ์ของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมที่สุด ทั้งนี้นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง จะมีการนัดหารือกับผู้ว่าแบงก์ชาติ ถึงการกำหนดกรอบเงินเฟ้อเร็วๆนี้

 

“สุดท้ายแล้วนโยบายการเงินกับการคลัง ต้องมีการแลกเปลี่ยนระหว่างทางคลัง ก็ปัจจุบันแม้เราเห็นเศรษฐกิจไทยในภาพรวมมีแนวโน้มที่ดูดีขึ้นในระดับหนึ่ง ในเรื่องของภาคการผลิตซึ่งเราเริ่มเห็นสัญญาณสัญญาณบวกขึ้นบ้าง จากที่เคยติดลบหนักมาเป็นหลายหลายเดือน ภาคการบริโภคก็อยู่ในเกณฑ์ที่ใช้ได้แต่สิ่งที่เราอยากเห็นก็ คือโมเมนตัมทางเศรษฐกิจในการที่จะช่วยผลักแรงส่งทางเศรษฐกิจสอดคล้องกันระหว่างนโยบายทางการ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่า นโยบายทางการคลังได้มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจมีการใส่เม็ดเงินไปกว่า  140,000 ล้านบาท เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบผ่านเรื่องของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้พิการภายในปลายเดือนนี้ หมายถึงว่าเม็ดเงินจะลงไป ดังนั้นหากมีแรงส่งผสานกันระหว่างทางนโยบายทางการเงินและนโยบายทางการคลังก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะตัวเลขของถึงแม้ภาคการผลิตยังดี แต่ก็ยังมีตัวเลขที่เรากังวลอยู่ ขณะที่เงินเฟ้อยังอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำไป ยังไม่เข้ากรอบที่ 1-3% แล้วยังไม่เป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำให้หลายๆเรื่องยังมีจุดที่น่าเป็นห่วง
 

ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาทที่อยู่ในทิศทางแข็งค่านั้น แน่นอนย่อมมีผลต่อเรื่องของการส่งออกซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ ซึ่งการดูแลค่าเงินให้ไม่อ่อนเกินไป หรือไม่ค่าแข็งเกินไป และที่สําคัญที่สุดต้องเป็นค่าเงินที่ไม่ผันผวนเร็วจนเกินไปเพราะจะส่งผลต่อผู้ส่งออกภาคธุรกิจของไทยวางแผนได้ยาก 

 

“เราเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าลงไปถึง 36.37 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐฯ แล้วค่าเงินบาทก็แข็งค่ามาจนถึง 33  มันแข็งค่าขึ้น 10% ซึ่งช่องว่างตรงนี้กว้างไป ดังนั้นต้องเข้าไปดูแลเพื่อไม่ให้กระทบผู้ส่งออกไทย”นาย เผ่าภูมิ กล่าว