posttoday

คลัง ชี้ ธปท.แทรกแซงค่าเงิน ยังไม่พอหยุดบาทแข็ง ต้องหั่นดอกเบี้ยเบรกเงินไหลเข้า

01 ตุลาคม 2567

เผ่าภูมิ จี้ธปท.ลดดอกเบี้ย ร่วมสกัดบาทแข็ง ชี้แทรกแซงค่าเงินอย่างเดียวยังไม่พอ เหตุส่วนต่างของดอกเบี้ยคือ ต้นตอของปัญหาดันเงินนอกทะลักเข้าไทย แนะระดับเงินบาทที่เหมาะสมในขณะนี้ควรอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง กล่าวถึงกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยอมรับว่าเข้าแทรกแซงเงินบาทในช่วงเงินบาทแข็งค่าและผันผวนสูงขึ้น ส่งผลให้เงินสำรองระหว่างประเทศของไทยสูงสุดในรอบ 2 ปี ว่า การแก้ไขค่าเงินบาทที่ผันผวน จะแก้ไขด้วยการแทรกแซงค่าเงินเพียงอย่างเดียวไม่พอ เนื่องต้นตอที่ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น เกิดจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไม่สอดคล้องกับนโยบายการเงินของชาติมหาอำนาจ ทำให้เงินไหลเข้าไทย จนทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้นการแก้ไขด้วยการแทรกแซงจึงเป็นการแก้ไขปัญหาด้วยปลายเหตุ เพราะต้นต่อเป็นต้นตอระยะยาวเกิดจากส่วนต่างทางนโยบายการเงิน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายมีความแตกต่างกันมาก

“การแก้เรื่องบาทแข็งต้องแกไขทั้งสองทาง คือ ทั้งอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และการดูแลค่าเงินไม่ให้ผันผวนในระยะสั้น ดังนั้นการแก้ไขด้วยการแทรกแซงอย่างเดียวไม่พอ เพราะต้องแทรกแซงต่อไปเรื่อยๆ เพราะอัตราดอกเบี้ยมันต่างกัน เงินก็จะไหลเข้าไทยเรื่อยๆ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ”นายเผ่าภูมิ กล่าว

ทั้งนี้ ค่าเงินบาทที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจ คือ ต้องไม่ผันผวนจนเกินไป และค่าเงินบาทที่เหมาะสมในช่วงเวลามีความแตกต่างกัน ต้องดูประเทศจากประเทศคู้ค่า ประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในปัจจุบันจะเห็นว่าค่าเงินบาทของไทยแข็งค่าเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์แข็งค่ามาก ดังนั้นค่าเงินบาทที่เหมาะสมในขณนี้ มองว่า ที่ควรอยู่ที่ 34 บาทต่อดอลล่าร์สหรัฐกว่าๆ 

“ธปท.ต้องดูแลค่าเงินให้เกาะกลุ่มกับประเทศในอาเซียนให้ได้ ไม่ใช่วันนึงเงินบาทเราแข็งค่าขึ้นกว่าระดับสกุลเงินเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งผลกระทบในภาพรวม ไทยก็จะค้าขายกับเขาไม่ได้ เพราะความสามารถในการแข็งขันของไทยก็จะต่ำลง ” นายเผ่าภูมิ กล่าว

ส่วนเรื่องส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เป็นก็เป็นอีกปัญหา และหน้าที่ที่ธปท.ต้องรับผิดชอบหาทางแก้ไข เพราะเป็นความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน และเป็นการสร้างเข็มแข็งเพิ่มขึ้นให้กับธนาคารพาณิชย์ โดยควรมองในมิติในการช่วยกันกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยการปล่อยเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในอัตราที่ธนาคารพาณิชย์สามารถทำธุรกิจได้ซึ่งเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจมากกว่า
 

ซึ่งเป็นเรื่องที่เราต้องชั่งน้ำหนักของ 2 มิติ คือ ระหว่างศักยภาพของเศรษฐกิจ กับเสถียรภาพเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้มองว่า ประเทศมีเสถียรภาพทางการเงินสูงมาก แต่ศักยภาพทางเศรษฐกิจยังไม่ค่อยมีมากนัก ดังนั้นต้องจุนเจือให้เกิดความสมดุล อะไรมากไปน้อยไปก็ไม่ดี เศรษฐกิจก็เดินไม่ได้

 

ดังนั้นสิ่งที่กระทรวงการคลังทำได้ คือ การหารือ และขอความร่วมมือไปที่ธปท. รวมถึงธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ขณะที่ธปท.ดูแลในส่วนของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งด้วยหลัก 2 ขา นี้มีความเชื่อมโยงกัน หากเราช่วยกันทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยแคบลงมาได้ ก็จะเป็นจุดสตาร์ทให้ตลาดมีการปรับตัวมากขึ้น