posttoday

“วิทัย” ชูวิสัยทัศน์ สร้าง “Social Impact” เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม

19 ตุลาคม 2567

“ออมสิน” ตอกย้ำ “ธนาคารเพื่อสังคม” เดินหน้าปรับเป้าหมายไม่เน้นกำไรสูงสุด ทุ่มงบปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท ขยายผลการสร้าง “Social Impact” หนุนความยั่งยืนธุรกิจควบคู่ดูแลสังคม

ก้าวสู่สมัยที่ 2 ของการดำรงตำแหน่งของ นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กับภารกิจสำคัญ เดินหน้าบทบาท “Social bank” ตอกย้ำภาพลักษณ์ออมสิน “ธนาคารเพื่อสังคม” ล่าสุด นายวิทัย ได้ฉายภาพการดำเนินงานในช่วง 4 ปีแรกที่ผ่านมา พร้อมกำหนดเป้าหมายข้างหน้าในขยายผลการสร้าง "Social Impact" หรือผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมให้กว้างขวางขึ้น 

 

      นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เล่าว่า เดิมออมสินทำภารกิจหลัก 3 เรื่อง คือ 1.บทบาทดึงคนเข้าสู่ระบบ financial inclusion เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ความไม่เท่าเทียม เพื่อขยายโอกาสการเข้าถึงบริการทางการเงิน 2.บทบาทแก้ปัญหาหนี้ เช่น หนี้สินครู ข้าราชการ และคนทั่วไป และ 3.บทบาทการพัฒนา การสร้างอาชีพ และขณะนี้ กำลังขยายบทบาทที่ 4.สู่การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การออก soft loan หรือ สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 0.1% วงเงิน 1 แสนล้านบาท  และลดดอกเบี้ย MRR ลง 0.4% ตั้งแต่ต้นปี โดยที่ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ยังไม่ได้ลดดอกเบี้ยนโยบาย

 

       เมื่อปี 2566 ออมสินประกาศเรื่องของ CSV หรือ Creating Shared Value คือ การทำธุรกิจโดยนำปัจจัยทางสังคมเข้ามาใส่ใน product และ project ที่สำคัญทั้งหมด แม้กระทั่งการบริจาค เช่น คอมพิวเตอร์เก่าแทนที่จะ Retire เราก็นำไปบริจาคเพื่อนำไปใช้สอนนักเรียนตามศูนย์การเรียนรู้ชนบท เราเริ่มและทำแบบนี้มาโดยตลอด 2-3  ปี นำมาสู่ “concept CSV”  ที่มีความยั่งยืนจริง ไม่ใช่เพียงการทำ CSR โดยเชื่อว่าออมสิน น่าจะเป็นหน่วยงานแรกๆที่ทำเรื่องนี้ และตอนนี้มีหลายหน่วยงานเริ่มทำ Concept นี้

 

      ขณะที่ปี 2567 นี้ ออมสินได้กำหนดเป้าหมาย ขยายผลการสร้าง Social Impact ขณะนี้จะเห็นว่า บทบาท “Social bank” เดินหน้าไปจากเดิมไปมาก เทียบกับช่วงเข้ามาทำงานใหม่ๆ ที่เห็นปัญหาหลายเรื่องมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวาง Position ธนาคารซึ่งเป็นแบงก์พาณิชย์ ควรเป็นอย่างไร ซึ่ง 4 ปีที่แล้วเราได้สร้างธนาคารเพื่อสังคมขึ้นมา และเราก็ตอกย้ำเรื่อยมา เพราะคิดว่า Position ธนาคารต้องชัดเจนก่อน 

หลายคนสังสัยว่า ธนาคารเพื่อสังคมคืออะไร คือ การทำธุรกิจสองส่วนไปพร้อมกัน โดยการนำปัจจัยทางสังคม สิ่งแวดล้อม ปรับเข้ามาสู่การทำธุรกิจ เพื่อสร้างรายได้ และแบ่งกำไรส่วนหนึ่งจากธุรกิจเชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ ที่มีกำไรเยอะ กลับไปทำภารกิจเชิงสังคม เช่น ในช่วงโควิด ออมสินมีบทบาทมาก เราให้สินเชื่อช่วยคนหลายล้านคน เพราะแต่ละคนกู้ไม่มาก แนวคิดนี้ทำให้ธุรกิจ และสังคมเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน

      นายวิทัย ย้ำด้วยว่า ภารกิจออมสินจะไม่สามารถช่วยเหลือสังคมได้อย่างเข้มแข็ง หากไม่ได้รับการสนับสนุนของรัฐบาล และกระทรวงการคลัง ด้วยการเห็นชอบปรับตัวชี้วัดให้ออมสินไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่มุ่งเน้นเรื่องกําไรเป็นสําคัญ และขยายผลการช่วยสังคมมากขึ้น เนื่องจากออมสินเป็นส่วนหนึ่งในรัฐวิสาหกิจหลักในการนำส่งกําไรให้กับรัฐบาล อยู่ในอันดับ 2 หรืออันดับ 3 มาโดยตลอด ซึ่งต้องยอมรับว่า ออมสินเป็นแบงก์ที่มีกำไรมาก และมีคนบอกว่ามีกำไรมากเกินไป 

 

       โดยปี 2566 ปี ออมสินกําไรถึง 33,000 ล้านบาท ตนเองก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ เราควรเอากำไรที่พอเหมาะพอสม ทำให้ปีนี้ออมสินตั้งเป้าหมายกำไร ประมาณ 27,000 ล้านบาท และตั้งเป้าสร้าง "Social Impact" ปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท เริ่มจากปี 2567 เป็นต้นไป 

ไม่ได้ความว่าเราจะไม่มีกําไรเลย แต่มีกําไรให้พอเหมาะพอสม ไม่จำเป็นต้องกำไรสูงถึง 30,000 ล้านบาท ครึ่งปีแรกของปีนี้ออมสินกำไร 18,000 ล้านบาท ซึ่งได้หักสำรองหนี้ไปแล้ว แต่ผมไม่ประกาศ ไม่มีใครเคยเห็นกําไรออมสินเลย เพราะโดยหลักของแบงก์รัฐไม่ควรกำไรสูงขนาดนี้ แต่ถ้าไม่ปรับ KPI ตัวชี้วัดให้ เราก็ทําอะไรไม่ได้ ถึงจะช่วยคนแค่ไหนก็ยังกำไร
    

      หากดู  ROA หรือ Return on Assets เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม ในอดีตอยู่ที่ประมาณ 1.1%- 1.2% ซึ่งตอนนี้เห็นว่าระดับที่เหมาะสมอยู่ควรอยู่ที่ประมาณ 0.75% น่าจะเพียงพอแล้ว ส่วนที่เหลือแบ่งมาช่วยสังคม เพราะเป็นสิ่งที่จะสร้าง positive ให้กับสังคมชุมชน คนจน ที่สำคัญต้องสามารถทำได้จริง หลายหน่วยทำเป็นเรื่องของ PR ซึ่งไม่เกิด Impact เราไม่อยากเห็นสิ่งเหล่านี้ แต่ก็ยอมรับว่า การทำ "Social Impact" มีต้นทุน ทําอะไรเพื่อช่วยสังคมใครจะมาบอกว่าไม่ใช้เงิน คือไม่จริง การทำ Ney Zero , Plannet หรือ Net zero ซึ่งเราทำอยู่แล้ว ทุกอย่างล้วนใช้เงิน แต่ออมสินยังคงยืนยันที่จะเดินหน้าสร้าง "Impact" เพื่อช่วยเหลือสังคม คนจน คนฐานราก รวมถึง SMEs ทั้งหมดจะส่งผ่านไปยังโครงการต่างๆของธนาคาร ผ่านงบปีละมากกว่า 15,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นจำนวนมหาศาล

 

หากจะหาสักแบงก์หนึ่ง หรือหน่วยงานหนึ่ง ที่ทําเรื่องสังคม ซึ่ง Pass หลักของ ESG หรือ Environment Social and Governance  ผมคิดว่า ต้องมีออมสินอยู่อันดับต้นๆแน่นอน มีหน่วยงานหลักๆ ส่วนมากจะทําเรื่อง net zero  ซึ่งเราก็ทําเหมือนกัน แต่เราให้น้ำหนักกับความยากจน เรื่องสังคม ความเหลื่อมล้ำ เป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องการใช้เงิน เรื่องธรรมภิบาลไม่ต้องพูดถึง เพราะเราชัดเจนมาก