เปิดแผนธุรกิจไปรษณีย์ไทยปี 68 ชู AI สู่บริการดิจิทัล
สร้างตัวตนไปรษณีย์ไทย ไม่ใช่แค่ผู้ส่งของ แต่ต้องมีสินค้าและบริการของตนเอง เตรียมเปิดแฟรนไชส์ โพสต์คาเฟ่ ปั้นรายได้ค้าปลีกเพิ่ม 10% พร้อมเปิดตัว “ ตฤณ ทวิธารานนท์” CTO คนใหม่ ปั้น 5 โครงการนำ AI ลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ -ออกบริการใหม่
นายดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2568 ไปรษณีย์ไทยมี 4 กลยุทธ์สำคัญ ในการแข่งขันในตลาดประกอบด้วย กลยุทธ์การเพิ่มมูลค่า สร้างความแตกต่าง โดยไปรษณีย์ไทยจะขยายขอบเขตบริการ เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริการระหว่างประเทศ เช่น พัฒนาระบบงานคลังสินค้าครบวงจร บริการ document warehouse พัฒนาการขนส่งสินค้าเข้าคลัง Amazon FBA พัฒนาการขนส่งสินค้าแบบ Virtual Address
กลยุทธ์ต่อมาที่สำคัญคือ การปรับธุรกิจบริการดิจิทัล รองรับการเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจและสังคม สนับสนุนส่งเสริมธุรกิจอื่น ๆ ของไทยให้เติบโตตามแนวทาง Connecting- the -dots นำสิ่งที่ทุกคนต้องการเชื่อมโยงได้ด้วยทรัพยากรที่โดดเด่นของไปรษณีย์ไทย เช่น Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร
ที่มีจุดเด่นทั้ง Digital Postbox ตัวกลางในการรับส่งเอกสารหรือข้อมูลออนไลน์ระหว่างหน่วยงานกับหน่วยงาน และหน่วยงานกับประชาชน ปลอดภัยจากสแปม และจดหมายทุกฉบับสามารถมั่นใจได้ว่ามาจากบุคคลและองค์กรตัวจริง จากการรองรับการยืนยันตัวตนในระบบที่เชื่อถือได้ D/ID ซึ่งเป็น Post ID ส่วนบุคคลที่จะมีการเริ่มใช้จริงต้นปี 2568
ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย
ด้วยระบบ QR CODE ที่จะเป็นทางเลือกการจ่าหน้า ช่วยปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างการจัดส่งสิ่งของ ล้ำกว่าระบบพิกัดตำแหน่งทั่วไปด้วยการบอกพิกัดแนวดิ่งได้ทำให้สามารถระบุที่อยู่สำหรับผู้ที่อยู่ในอาคารสูงได้และเมื่อผู้ใช้งานมีการแก้ไขข้อมูลที่อยู่ในระบบ D/ID ข้อมูลที่อยู่ซึ่งเดิมไว้ใช้ติดต่อกับหน่วยงานต่าง ๆ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ไปยังหน่วยงานปลายทางโดยอัตโนมัติ
Postman Cloud ที่ใช้บุรุษไปรษณีย์กว่า 25,000 คนทั่วประเทศในการให้บริการ Postman as a Service เช่น การเก็บข้อมูล รับส่งสิ่งของแบบ Point to Point และ Matching เชื่อมโยง Demand กับ Supply พัฒนาแพลตฟอร์ม e-marketplace โครงการ Virtual bank ให้บริการสินเชื่อกับประชาชน สามารถทำธุรกรรมฝากถอนเงินได้ที่สาขาของไปรษณีย์ทั่วประเทศ
กลยุทธ์ต่อมาคือ การออกแบบบริการเฉพาะกลุ่ม เช่น บริการไปรษณีย์ตอบรับในประเทศทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-AR) บริการ Pick up Service สำหรับกลุ่ม e-marketplace ขยายจุด Drop Off ผ่านเครือข่ายพันธมิตร
กลยุทธ์สุดท้าย คือการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ สร้างความสัมพันธ์กับผู้ใช้บริการ สร้างประสบการที่ดีกับไปรษณีย์ไทย เช่น ระบบบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า ร้าน POST Café เป็นพื้นที่ Cups of Connection ให้ทุกคนได้มาพบปะ และทำกิจกรรมร่วมกันในบรรยากาศที่เป็นกันเอง โดยในปีหน้าโพสต์คาเฟ่จะมีการเปิดแฟรนไชส์สำหรับผู้สนใจทำธุรกิจด้วย
นายดนันท์ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทย จะไม่ใช่เพียงแค่ผู้ส่งของอีกต่อไป แต่ไปรษณีย์ไทยคือ บริษัทที่ให้บริการตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้คน ต่อไปคนจะเข้ามาที่ไปรษณีย์ไทย ไม่จำเป็นว่าต้องมาเพราะมีธุระต้องส่งของ แต่เขาสามารถมาหาที่นั่งทำงาน ที่นั่งเล่น ดื่มกาแฟ และสามารถหาซื้อสินค้า เช่น น้ำ ข้าวสาร สินค้าชุมชนของประเทศไทยและต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรกับไปรษณีย์ไทย หรือ เวลาเจอบุรุษไปรษณีย์ ลูกค้าก็สามารถสั่งซื้อของกิน ของใช้ หรือ ของสูงวัย เช่น อาหารเสริม ยาแก้นอนไม่หลับ ได้ ซึ่งสินค้าสูงวัยนี้ ไปรษณีย์ไทยได้นำร่องวางขายแล้วที่สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และ นนทบุรี ทำให้ไปรษณีย์ไทยมีรายได้จากสินค้ารีเทลปีละ 600 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่ม 10% ในปีหน้า
ตั้งทีมดัน AI ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ 5%
สำหรับแผนที่สำคัญในการก้าวสู่บริการดิจิทัลนั้น นายดนันท์ กล่าวว่า บริษัทเพิ่งได้ผู้บริหารคนใหม่ คือ นายตฤณ ทวิธารานนท์ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบริการดิจิทัล เข้ามาร่วมงานได้ 2 เดือน โดยก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ทำงานด้านศูนย์คาดการณ์อนาคต Foresight Center สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA มาก่อน
ตฤณ ทวิธารานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจบริการดิจิทัล ไปรษณีย์ไทย
นายตฤณ กล่าวว่า ภาพรวมของเทคโนโลยี AI มีการพูดถึงและมีการใช้งานมานานแล้ว แต่ ณ วันนี้ เป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาช่วยลดกระบวนการผลิต ประหยัดการใช้แรงงานคนเพื่อนำแรงงานที่ถูกลดบทบาทอัพสกิล หรือ รีสกิลไปทำงานในกระบวนการอื่นแทน เป้าหมายของไปรษณีย์ไทยคือ ต้องการนำ AI เข้ามาลดต้นทุนในการทำงาน 5% และ เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน 5%
สำหรับแผนงานในการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 ทีมๆละ 5 คน ด้วยการนำบุคลากรด้านไอทีมาสร้างสรรค์ผลงานตามทีมดังกล่าว ประกอบด้วย ทีมนำ AI เข้ามาใช้ในการปฏิบัติงาน เช่น การคำนวณเส้นทางขนส่งที่ดีที่สุด รวดเร็ว ประหยัดการเดินทาง และประหยัดน้ำมัน การจัดสรรชิ้นงานให้เหมาะสมกับรถขนส่ง ด้วยการนำกล้อง AI เข้ามาใช้คำนวณขนาดของกล่อง โดยเทคโนโลยีนี้นอกจากจะช่วยทำให้สามารถจัดสรรการ คำนวณพื้นที่ในการขนส่งของรถแต่ละคันได้แล้ว ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับสินค้าหน้าเคาท์เตอร์ของพนักงานได้ด้วย ทำให้รวดเร็ว ไม่เสียเวลาในการใช้มือวัดขนาดกล่องและกรอกข้อมูลเอง
ทีมที่สอง คือการนำ AI มาประมวลข้อมูลทำให้เกิดมูลค่า สามารถรู้พฤติกรรมการส่งของของลูกค้าและนำมาสร้างสรรค์บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้เฉพาะกลุ่ม ทีมที่สาม คือ การนำ AI เข้ามายกระดับองค์กร ทำให้มีการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทีมที่สี่ คือ การทำดิจิทัล บิสิเนส ทำให้มีสินค้าและบริการเกิดใหม่ และ ทีมสุดท้าย คือ Post Next ซึ่งปัจจุบันมีบริการอยู่แล้ว เช่น Prompt POST ระบบจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร
ถามว่าการปรับองค์กรสู่ยุค AI ของไปรษณีย์ไทยต้องใช้งบประมาณมากน้อยเพียงใดนั้น นายตฤณ เปิดเผยว่า เป็นงานที่ไม่ต้องใช้งบประมาณ เพราะไปรษณีย์ไทยจะเน้นการทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ และ สตาร์ทอัพ ที่มีเทคโนโลยี AI อยู่แล้ว เพราะ AI ไม่จำเป็นต้องสร้างเอง AI เป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆมีให้บริการอยู่แล้ว รวมถึงมีมาตรฐานมีจริยธรรมในการใช้งานระดับโลก
9 เดือนยังแกร่งกำไร 31 ล้านบาท
สำหรับผลประกอบการในช่วง 9 เดือนแรก ของปี 2567 (ม.ค.- ก.ย.2567) นายดนันท์ กล่าวว่า ไปรษณีย์ไทยทำรายได้รวม 15,858.67 ล้านบาท กำไร 31 ล้านบาท โดยธุรกิจที่มีสัดส่วนรายได้มากที่สุดมาจาก กลุ่มธุรกิจขนส่งและโลจิสติกส์ 46.48% ซึ่งเติบโตจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ราว 3.34% สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ เช่น ค้าปลีก อีคอมเมิร์ซ
บริการพัสดุไปรษณีย์ในประเทศเติบโตที่ 18.45% ขณะที่บริการ EMS เติบโตราว 8.07% สะท้อนถึงการได้รับความเชื่อมั่นจากคนไทย ยืนยันด้วยผลสำรวจความเชื่อมั่นในแบรนด์ไปรษณีย์ไทย 2567 สูงถึง 91.87%
ขณะที่คาดการณ์รายได้ปี 2567 อยู่ที่ 21,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะมีกำไรหรือไม่ เนื่องจากต้องรอดูตัวเลขสำรองหนี้สงสัยจะสูญก่อนว่ามีจำนวนเท่าไหร่ โดยก่อนหน้านั้นนายดนันท์คาดการณ์ว่าปี 2567 จะมีรายได้ 22,802 ล้านบาท กำไรสุทธิ 350 ล้านบาท