สภาพัฒน์ เผยแนวโน้มแห่เบี้ยวหนี้บ้านพุ่ง แนะแก้ไขด่วนก่อนฉุด ศก.พัง
สศช.เปิดสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไทยไตรมาส2/67 โตต่ำกว่า 90% ในรอบ 4 ปี ขณะที่ไตรมาส 3 กลับเริ่มเห็นสัญญาณผิดนัดชำระหนี้เร่งสูงขึ้น พบมูลค่าหนี้เสียพุ่ง 23.2% จับตาแบงก์เข้มปล่อยกู้ หวั่นทำประชาชนหันแก้หนี้นอกระบบ
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ แถลงรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 3 ปี 2567 ว่า ขณะนี้ สศค.เห็นแนวโน้มการผิดนัดชำระหนี้บ้านที่เร่งตัวขึ้น สะท้อนจากข้อมูลเครดิตบูโร ทั้งการขยายตัวของมูลค่าหนี้เสียที่สูงถึง 23.2% จาก 18.2% จากไตรมาสที่ผ่านมา และสัดส่วนหนี้เสียต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นเป็น 4.34% จาก 3.98% ของไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ การเลือกที่จะผิดนัดชำระหนี้บ้าน ที่ถือเป็นสินทรัพย์จำเป็น ทั้งต่อการอยู่อาศัยและบางส่วนยังใช้เป็นสถานที่ในการประกอบอาชีพ สะท้อนให้เห็นถึงสถานะทางการเงินของครัวเรือนที่ตึงตัว ที่ผ่านมาจากผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ พบว่า ลูกหนี้ที่มีการก่อหนี้หลายประเภทเกือบ 1 ใน 3 เลือกที่จะผิดนัดหรือหยุดชำระสินเชื่อบ้านก่อนสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล เนื่องจากมีความสามารถในการชำระหนี้จำกัด จึงเลือกรักษาวงเงินที่เหลือในสินเชื่อบัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคลไว้จับจ่ายใช้สอยแทน
อีกทั้งเมื่อพิจารณาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัยจำแนกตามวงเงินสินเชื่อ จะพบว่า วงเงิน ต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีสัดส่วนหนี้เสียสูงเมื่อเปรียบเทียบกับวงเงินอื่น สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนกลุ่มดังกล่าว เป็นกลุ่มที่ยังไม่ฟื้นตัวอีกด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้เสียของสินเชื่อที่อยู่อาศัย เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
เช่นเดียวกับผลกระทบของอุทกภัยต่อสภาพคล่องและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในวงกว้าง โดยมีผู้ประสบภัยกว่า 3.3 แสนครัวเรือน คิดเป็นความเสียหายต่อเศรษฐกิจถึง 4.65 หมื่นล้านบาท ทำให้ครัวเรือนมีปัญหาสภาพคล่องจากรายได้ที่ลดลง และอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ด้วย
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนต้องมีมาตการเข้าไปช่วยเหลือ โดยเฉพาะหนี้บ้าน หนี้รถยนต์ หรือหนี้ธุรกิจ ซึ่งเกี่ยวกับความมั่นคงชีวติ ซึ่งเร็วๆนี้ รัฐก็มีมาตรการร่วมกับแบงก์รัฐ ผ่านการลดอัตราเงินนำส่งสมทบเข้ากองทุน FIDF คงต้องรอการแถลงข่าวที่ชัดเจนอีกครั้งว่าจะมีมาตรการหรือรูปแบบอะไรออกมา ซึ่งมองว่า จะเป็นช่องทางหนึ่งในการช่วยแก้ปัญหาได้
อย่างไรก็ตามขณะที่หนี้สินครัวเรือน ในช่วงไตรมาสสอง ปี 2567 ขยายตัวชะลอลง โดยมีมูลค่ารวม 16.32 ล้านล้านบาท ขยายตัว 1.3% จาก 2.3% ของไตรมาสที่ผ่านมา ทำให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ปรับลดลงจาก 90.7% ของไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 89.6%
ทั้งนี้จากการตรวจสอบข้อมูลหนี้สินครัวเรือนไทยต่อ GDP ย้อนหลังพบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2567 ซึ่งลดลงเหลือ 89.6% เป็นการปรับลดลงต่ำกว่าสัดส่วน 90% ต่อ GDP เป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปี หรือประมาณ 3 ปีครึ่ง ตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2563 ซึ่งขณะนั้น สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ที่ 91.2%
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมการก่อหนี้ของสินเชื่อกลุ่มนี้จะขยายตัวชะลอลง แต่ยังต้องเฝ้าระวังและติดตามการกู้ยืมของครัวเรือนเนื่องจากเป็นสินเชื่อที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Loan) และปัจจุบันสัดส่วนของสินเชื่อประเภทนี้ต่อหนี้ครัวเรือนทั้งหมดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จาก 25% ในไตรมาสหนึ่ง ปี 2555 มาเป็น 27.9% หรือ เกือบ 1 ใน 3 ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด ยังมีความเสี่ยงที่คนกลุ่มนี้จะหันไปพิ่งพาหนี้นอกระบบ จากมาตรการการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดต่อเนื่อง