posttoday

เปิด 3 ปัจจัย กระตุ้นความต้องการทองคำทั่วโลกปี 68 พุ่งทะยาน

25 พฤศจิกายน 2567

ดอกเบี้ยขาลง-ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์-ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ หลัง “ทรัมป์” นั่งประธานิบดีสหรัฐ ทำนโยบายเศรษฐกิจผันผวน หนุนความต้องการทองคำโลก-ไทย ไตรมาส 4/67 และทั้งปี 67 โดดเด่น พุ่งทะยานต่อเนื่องในปี 68

          หลังจากสภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ได้รายงานแนวโน้มความต้องการทองคำประจำไตรมาส 3/256 ว่าปริมาณความต้องการทองคำทั่วโลกยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่อง โดยมีปริมาณความต้องการทองคำทั้งหมด จากทุกภาคส่วนเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับปีก่อนอยู่ที่ระดับ 1,313 ตัน ซึ่งนับว่าเป็นปริมาณความต้องการโดยรวมของไตรมาส 3 ที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ และนับเป็นมูลค่าของความต้องการทองคำรวมสูงกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการเก็บสถิติ 

          ขณะเดียวกัน ความต้องการทองคำผู้บริโภคไทยในไตรมาส 3/2567 มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียนติดต่อกันถึง 2 ไตรมาส โดยในไตรมาส 3/2567 ประเทศไทยมีความต้องการทองคำผู้บริโภคเพิ่มสูงขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นปริมาณรวม 14.4 ตัน แม้ว่าราคาทองคำได้พุ่งสูงและได้รับแรงกดดันจากสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง 
 
          “โพสต์ทูเดย์” ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ “เซาไก ฟาน” (Shaokai Fan) หัวหน้าภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (ไม่รวมประเทศจีน) และหัวหน้าธนาคารกลางระดับโลก สภาทองคำโลก (World Gold Council : WGC) ถึงแนวโน้มความต้องการทองคำทั่วโลกในไตรมาส 4/2567 และทั้งปี 2567 ต่อเนื่องในปี 2568  

          “เซาไก ฟาน” ระบุว่า ความต้องการทองคำภาคผู้บริโภคของประเทศไทยแข็งแกร่งและโดดเด่นตลอดทั้งปี 2567 โดยตลาดทองคำยังคงเติบโตและได้รับความนิยมในช่วงที่เศรษฐกิจและการเมืองของประเทศไทยมีความไม่แน่นอน เราพบว่านักลงทุนไทยมองทองคำเป็นทั้งเครื่องมือที่ใช้เพื่อป้องกันความเสี่ยงและเป็นเครื่องมือสำหรับการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว 

          ในช่วงที่ค่าเงินบาทอ่อนตัว นักลงทุนในประเทศได้ใช้ทองคำเพื่อช่วยปกป้องมูลค่าการลงทุน และในขณะที่ราคาทองคำพุ่งสูงในไตรมาส 3 นักลงทุนไทยได้เข้าหาผลตอบแทนจากทองคำ แม้ว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ถือครองเพื่อความปลอดภัยเป็นหลัก แต่นักลงทุนก็สามารถใช้ทองคำเพื่อแสวงหาผลกำไรได้เช่นกัน และตลาดของประเทศไทยก็ยังมีศักยภาพในการพัฒนาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นอีกมาก 

          ทั้งนี้ ราคาทองคำซึ่งพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 3 ได้ทำให้ความต้องการทองคำเครื่องประดับทั่วโลกปรับตัวลดลง โดยต่ำกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 12% ซึ่งในกลุ่มประเทศอาเซียนอื่นๆ ก็ลดลงประมาณ 8-13% เช่นกัน แต่ในประเทศไทยปริมาณความต้องการทองคำเครื่องประดับลดลงเพียง 5% ซึ่งนับว่าเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบน้อยที่สุดในภูมิภาคนี้ 

          ด้านความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของไทยก็ยังคงแข็งแกร่งมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับปริมาณทั่วโลกที่ลดลง 9% แต่ประเทศไทยกลับมีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน และไทยยังเป็นผู้ซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำรายใหญ่ที่สุดในอาเซียนสำหรับไตรมาส 3/2567 อีกด้วย

เปิด 3 ปัจจัย กระตุ้นความต้องการทองคำทั่วโลกปี 68 พุ่งทะยาน

          สำหรับแนวโน้มความต้องการทองคำทั่วโลกในไตรมาส 4/2567 เราเชื่อว่าปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทองคำในไตรมาส 4 ได้แก่

  • นโยบายการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ที่จะยังคงส่งผลต่อราคาทองคำ
  • ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ทั้งจากความตึงเครียดที่เพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางและผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำให้เกิดการแบ่งขั้วกันอย่างรุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อความสนใจในการลงทุนทองคำและอาจทำให้ปริมาณการรีไซเคิลทองคำมีน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้
  • แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจ ยังคงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่เราติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเปลี่ยนแปลงทิศทางแนวโน้มของทองคำได้ 

          ด้านการซื้อทองคำของธนาคารกลางในไตรมาส 4 มองว่าน่าจะเป็นในทิศทางเดียวกันกับช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจจะไม่ได้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเท่าปีก่อนๆ ส่วนความต้องการทองคำเครื่องประดับอาจปรับตัวลดลง เนื่องจากราคาทองคำที่สูง ในขณะที่ความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำเพื่อการลงทุน ยังคงมีแนวโน้มที่มั่นคงต่อเนื่อง สำหรับในด้านของอุปทาน คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากความแข็งแกร่งของฝั่งผู้ผลิตทองคำ

          ส่วนความต้องการทองคำทั่วโลกในปี 2568 เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ยังคงอยู่ในระดับสูง และมีความเป็นไปได้น้อยที่ความตึงเครียดเหล่านี้จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในอนาคตอันใกล้ ประกอบกับการคาดการณ์ว่าธนาคารกลางจะผ่อนคลายอัตราดอกเบี้ยเพิ่มเติม สภาพการณ์เหล่านี้จะสนับสนุนให้ความต้องการทองคำจากนักลงทุนมีความแข็งแกร่งต่อไป

“คาดว่าการเปลี่ยนแปลงในนโยบายอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกที่กำลังดำเนินอยู่นี้ จะช่วยกระตุ้นความสนใจการลงทุนในทองคำให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนค่าเสียโอกาสในการถือครองทองคำปรับลดลง แนวโน้มนี้มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และในประเทศไทย”

          รวมทั้งนโยบายเศรษฐกิจภายหลังจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ ที่มีนายโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน เป็นผู้ชนะการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าจะเกิดความผันผวนทั้งในและต่างประเทศ จะมีความสำคัญมากขึ้นต่อการเปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์ทางการเงิน รวมถึงทองคำ สิ่งนี้ได้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่นักลงทุนจะต้องป้องกันความเสี่ยงในพอร์ตการลงทุน ซึ่งทองคำสามารถตอบสนองบทบาทดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ

          การวิเคราะห์ของเราจากข้อมูลในอดีตที่ผ่านมาได้แสดงให้เห็นว่าทองคำมักให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าเล็กน้อยในช่วง 6 เดือนก่อนหน้าที่ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันจะชนะการเลือกตั้ง และอยู่ในระดับคงที่ช่วงภายหลังการเลือกตั้ง อย่างไรก็ตามผลลัพธ์เหล่านี้ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

          โดยรวมแล้ว ผลจากการวิเคราะห์เชิงลึกของเราเกี่ยวกับทองคำและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าทองคำไม่ได้ตอบสนองโดยตรงต่อการเปลี่ยนแปลงของพรรคการเมืองหรือผู้นำ แต่สะท้อนถึงปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคทั่วโลกที่สำคัญ มากกว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง

“ไม่ว่าผู้ชนะการเลือกตั้งจะเป็นใคร หรือตลาดอาจเกิดการเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะหนึ่ง แต่ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีโอกาสน้อยที่ความเสี่ยงจะลดลงในช่วงอนาคตอันใกล้นี้ อาจเป็นแรงกระตุ้นให้ทองคำมีบทบาทที่สำคัญมากขึ้น” 

          ขณะที่ความต้องการทองคำในอินเดีย มองว่าน่าจะยังคงแข็งแกร่ง อย่างไรก็ตาม การที่ราคาทองคำอยู่ในระดับที่ถือว่าสูงอาจทำให้ผลของการลดภาษีนำเข้าลดกำลังลง และอาจได้เห็นแนวโน้มที่นักลงทุนอินเดียรอให้ราคาทองคำปรับฐานเพื่อหาจังหวะเพิ่มการถือครองทองคำ

          หลังจากในไตรมาส 3 มาตรการลดภาษีนำเข้าทองคำของประเทศอินเดีย ซึ่งเกิดขึ้นในเดือน ก.ค. ได้ช่วยลดผลกระทบจากราคาทองคำที่เพิ่มสูงขึ้น และกระตุ้นความต้องการทองคำเครื่องประดับของอินเดียให้กลับมาอีกครั้ง ทำให้ไตรมาส 3/2567 ถือเป็นไตรมาส 3 ของปีที่มีปริมาณความต้องการแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2558 โดยอินเดียมีความต้องการทองคำเครื่องประดับเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน คิดเป็นปริมาณสูงถึง 171.6 ตัน

          ด้านการลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของอินเดียได้เพิ่มขึ้นถึง 41% คิดเป็นปริมาณ 76.7 ตันในไตรมาสนี้

          ประกอบกับธนาคารกลางอินเดีย (Reserve Bank of India: RBI) ยังคงดำเนินแนวทางการซื้อทองคำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องด้วยความระมัดระวัง

          ส่วนความต้องการทองคำในจีน คาดว่าจะมีการฟื้นตัวเล็กน้อยในไตรมาส 4 เนื่องจากการลดอัตราดอกเบี้ยในประเทศที่น่าจะมีเพิ่มเติม และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล ซึ่งอาจช่วยสนับสนุนการซื้อทองคำแท่งและเหรียญทองคำ หลังจากประเทศจีนมีความต้องการในไตรมาส 3 อ่อนแอที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 โดยความต้องการทองคำเครื่องประดับอยู่ในระดับต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี ถึง 36% เนื่องจากปัจจัยที่คล้ายคลึงกับไตรมาสก่อนหน้านี้ ได้แก่ราคาทองคำในประเทศที่ยังคงสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ต่ำ และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

          “หลังจากช่วงครึ่งแรกของปีที่แข็งแกร่งมาก การลงทุนในทองคำแท่งและเหรียญทองคำของจีนก็ได้สูญเสียโมเมนตัมในไตรมาสที่ 3 นี้ อย่างไรก็ตามการเปรียบเทียบแบบรายปีซึ่งอ้างอิงจากฐานของตัวเลขที่พุ่งขึ้นสูงมากในช่วงก่อนหน้า อาจทำให้การปรับตัวลดลงดูรุนแรงเกินจริง หากเรามองในระยะยาวจะพบว่าความต้องการทองคำแท่งและเหรียญทองคำของจีนยังคงอยู่ในระดับที่ดี โดยความต้องการทองคำสำหรับการลงทุนตลอดทั้งปี 2567 ยังคงแข็งแกร่งที่สุดนับตั้งแต่ปี 2556”  

          นอกจากนี้ การหยุดซื้อทองคำชั่วคราวที่ธนาคารกลางจีนได้ประกาศเมื่อไม่นานมานี้ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ความต้องการลงทุนทองคำลดลงในระดับหนึ่ง