posttoday

“ดร.สามารถ” แนะ ไม่ต้องขยายสัมปทาน “ค่าทางด่วนก็ถูกลงได้” !

29 พฤศจิกายน 2567

“ดร.สามารถ” อดีตรองผู้ว่าฯกทม. แนะการทางพิเศษเฉือนค่าส่วนแบ่งรายได้ เพื่อลดค่าทางด่วน โดยไม่จำเป็นต้องขยายสัมปทาน

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊ก เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 เกี่ยวกับวิธีการทำให้ค่าทางด่วนถูกลง โดยระบุว่า

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า ค่าผ่านทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) จะถูกลง เพราะรัฐเตรียมที่จะขยายสัมปทานครั้งที่ 2 ให้เอกชนออกไปอีก 22 ปี 5 เดือน แต่ข้อเท็จจริงก็คือแม้ไม่ขยายสัมปทาน ค่าผ่านทางก็ถูกลงได้ !

กระทรวงคมนาคมต้องการให้การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ลดค่าผ่านทางด่วนศรีรัชช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 ซึ่งเวลานี้มีค่าผ่านทางสูงสุดสำหรับรถ 4 ล้อ 90 บาท เหลือสูงสุดไม่เกิน 50 บาท เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของพี่น้องประชาชน

การลดค่าผ่านทางดังกล่าวจะทำให้รายได้ค่าผ่านทางลดลงประมาณ 1,500 ล้านบาทต่อปี จากเดิมที่มีรายได้ประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี ลดลงเหลือประมาณ 11,500 ล้านบาทต่อปี

รายได้เดิมประมาณ 13,000 ล้านบาทต่อปี แบ่งเป็นของ กทพ. และเอกชนผู้รับสัมปทานตามสัดส่วนดังนี้ดังนี้

(1) รายได้จากทางด่วนเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) และทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ส่วน A (ถนนรัชดาภิเษก-ทางแยกต่างระดับพญาไท-ถนนพระราม 9) และส่วน B (ทางแยกต่างระดับพญาไท-บางโคล่) เป็นของ กทพ. 60% และของเอกชน 40%

(2) รายได้จากทางด่วนศรีรัช ส่วน C (ถนนรัชดาภิเษก-ถนนแจ้งวัฒนะ) และส่วน D (ถนนพระราม 9-ถนนศรีนครินทร์) รวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยา (ทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด) เป็นของเอกชนทั้งหมด 100%

การแบ่งรายได้เดิมตามสัดส่วนดังกล่าว ทำให้ กทพ.ได้รับรายได้ประมาณ 6,300 ล้านบาทต่อปี และเอกชนได้รับประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อปี

หากลดค่าผ่านทางลงจะทำให้รายได้ลดลงเหลือประมาณ 11,500 ล้านบาทต่อปี โจทย์สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้เอกชนได้รับรายได้เท่าเดิม ? เพื่อที่ กทพ.ไม่ต้องชดเชยให้เอกชน เช่น ด้วยการขยายสัมปทาน เป็นต้น

“ดร.สามารถ” แนะ ไม่ต้องขยายสัมปทาน “ค่าทางด่วนก็ถูกลงได้” !

 

 

กทพ.จึงเสนอให้ปรับเปลี่ยนสัดส่วนการแบ่งรายได้จากทางด่วนเฉลิมมหานคร และทางด่วนศรีรัช (ส่วน A และ B) ด้วยการยอม “เฉือนเนื้อตนเอง” จากเดิม กทพ.ได้รับ 60% เอกชนได้รับ 40% เป็น กทพ.ได้ 50% เอกชนได้ 50% ส่วนสัดส่วนการแบ่งรายได้จากทางด่วนศรีรัช (ส่วน C และ D) รวมทั้งทางด่วนอุดรรัถยายังคงเหมือนเดิม กล่าวคือเอกชนได้รับทั้งหมด 100%

การปรับเปลี่ยนสัดส่วนการแบ่งรายได้ดังกล่าว ทำให้ กทพ.ได้รับรายได้น้อยลงเหลือประมาณ 4,800 ล้านบาทต่อปี ในขณะที่เอกชนยังคงได้รับรายได้เท่าเดิม นั่นคือประมาณ 6,700 ล้านบาทต่อปี เป็นผลให้ กทพ.ไม่ต้องชดเชยให้เอกชนด้วยการขยายสัมปทาน

ทั้งหมดนี้ จะเห็นได้ว่า กทพ.ไม่จำเป็นจะต้องขยายสัมปทานให้เอกชน ก็สามารถทำให้ค่าทางด่วนถูกลงได้ !

 ทั้งนี้ ดร.สามารถทิ้งท้ายว่า ข้อสงสัยดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นข้อกังขาที่ตนและประชาชนทุกคนชอบที่จะต้องขอคำชี้แจงให้สิ้นสงสัยจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ด้วยเจตนาที่จะให้ประชาชนได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อย่างเต็มที่ โดยปราศจากข้อสงสัยใดๆ