posttoday

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า

04 ธันวาคม 2567

“สุริยะ” กางแผนลงทุนเมกะโปรเจ็ค ถนน ราง น้ำ อากาศ สู่ฮับในภูมิภาค ประกาศ มิ.ย.68 ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร พระราม 2 ย้ำ Land bridge ดัน GDP ไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 %

          นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงาน Sustainability Forum 2025 : Synergizing for Driving Business หัวข้อ Mobility Infrastructure for Sustainability’s Journey จัดโดยกรุงเทพธุรกิจว่า จากคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 12 ก.ย. 2567 รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ที่ต้องการเปลี่ยน “ความท้าทาย” ให้กลายเป็น “ความหวัง โอกาส และความเสมอภาคทางเศรษฐกิจและสังคม” ของคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม นั้น

          รัฐบาลจะเดินหน้าลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนาดใหญ่ (Mega Projects) ทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ ให้มีประสิทธิภาพ เชื่อมต่อกันอย่างไร้รอยต่อ โดยจะส่งเสริมให้เกิดความปลอดภัยทางถนนและลดต้นทุนระบบโลจิสติกส์ ,การสร้างรถไฟทางคู่และรถไฟความเร็วสูงควบคู่กับการพัฒนาเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ

          การยกระดับท่าเรือเพื่อเพิ่มศักยภาพในการการขนส่งสินค้าทางทะเล เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการคมนาคมและขนส่งของภูมิภาค (Logistics Hub) และการพัฒนาสนามบิน และเปิดเส้นทางการบินใหม่ ๆ เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการบิน (Aviation Hub) ของภูมิภาค

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงคมนาคมพร้อมขับเคลื่อนการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล ซึ่งตนเองได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคมใช้เป็นกรอบในการทำงาน เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2567 ภายใต้นโยบาย “คมนาคมเพื่อโอกาสประเทศไทย” เพื่อสนองต่อนโยบายของรัฐบาล และสร้างโอกาสให้กับประชาชน ทั้งในด้านการเดินทางของคน และการขนส่งสินค้า

          นอกจากนี้ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานเพิ่มประสิทธิภาพและเชื่อมโยงระบบคมนาคมขนส่งในประเทศในทุกมิติ ครอบคลุมทั้งทางบก ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ พร้อมทั้งเชื่อมโยงโครงข่ายคมนาคมไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อผลักดันให้ “ประเทศไทย” ก้าวสู่การเป็น “ศูนย์กลางด้านคมนาคมในภูมิภาคอย่างยั่งยืน” 

          สำหรับนโยบายที่ตนมอบให้กับข้าราชการกระทรวงคมนาคมประกอบด้วย 9 แนวทาง ดังนี้

1.    สานต่อโครงการคมนาคมตามแผนแม่บทของกระทรวง 

2.    ส่งเสริมโครงข่ายคมนาคมให้เชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อ 

3.    สร้างโอกาสในการลงทุน 

4.    ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งได้อย่างเท่าเทียม 

5.    เปิดโอกาสด้านโลจิสติกส์ไทย 

6.    สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Logistics) เพื่อลดปัญหาฝุ่น PM 2.5

7.    เพิ่มความปลอดภัยภาคคมนาคมขนส่ง ทั้งในช่วงก่อสร้าง และช่วงการให้บริการ โดยมุ่งเน้นการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐาน 

8.    ส่งเสริมการปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามมาตรฐาน ระเบียบ กฎหมาย และหลักธรรมาภิบาลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

9.    ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกมิติ เพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกฯและรมว.คมนาคม

          นายสุริยะ กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าว แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ 1.ระยะเร่งด่วน เร่งรัดการก่อสร้างโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการในปัจจุบัน ให้สามารถเปิดให้บริการได้ตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ มุ่งเน้นการยกระดับคุณภาพการให้บริการ และมาตรฐานด้านความปลอดภัยที่สามารถทำได้ทันที และใช้งบประมาณไม่สูง รวมถึงทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน สถานี และยานพาหนะ ให้มีความสะอาด สวยงาม และเป็นระเบียบเรียบร้อย

          2.ระยะกลาง ขับเคลื่อนการลงทุน และดำเนินการก่อสร้างโครงการที่ยังไม่เริ่มก่อสร้าง ให้เริ่มก่อสร้าง และเปิดให้บริการตามแผน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ

          3.ระยะยาว ขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ในแผนแม่บท ซึ่งมีขั้นตอนในช่วงเตรียมการตามระเบียบหลายขั้นตอน ให้สามารถเริ่มก่อสร้างได้ เพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศอย่างยั่งยืน

          สำหรับแนวทางการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศนั้น กระทรวงคมนาคมมุ่งเน้นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งสินค้าจากการขนส่งทางถนนเป็นการขนส่งทางรางและทางน้ำที่มีต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายต่ำกว่า 

          ความมุ่งหวังจากการดำเนินการตามเป้าหมายของกระทรวงคมนาคม คือประเทศไทยมีระบบคมนาคมขนส่งทั้งคนและสินค้าที่มีประสิทธิภาพ ช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสของประเทศชาติ อาทิเช่น แก้ไขปัญหาการจราจรที่ติดขัด และแก้ไขปัญหามลพิษ ฝุ่น PM2.5 จากท่อไอเสียรถยนต์ในพื้นที่ใจกลางเมืองใหญ่ อย่างเช่นกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผลต่อสุขภาพของประชาชน และยิ่งทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

          ช่วยสร้างโอกาสในการค้าขาย ช่วยสร้างงานสร้างรายได้ให้กับประชาชน หากผู้ประกอบการเปลี่ยนมาขนส่งสินค้าทางรถไฟและทางน้ำ แทนที่จะขนส่งด้วยรถบรรทุก จะทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าของไทยลดลง ส่งผลให้ราคาสินค้าไทยสามารถแข่งขันกับสินค้าจากประเทศอื่น ๆ ได้ ทำให้ประเทศไทยขายของได้มากขึ้น กำลังการผลิตมากขึ้น การจ้างงานมากขึ้น ส่งผลทำให้เศรษฐกิจชองไทยดีขึ้น 

          นอกจากนี้การไม่ใช้รถบรรทุกจะช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรคับคั่ง และแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุบนทางหลวงได้อีกด้วย เพื่อให้เห็นภาพอนาคตของระบบคมนาคมไทย ผมขออธิบายเพิ่มเติมแยกเป็นการขนส่งในเมือง และการขนส่งระหว่างเมืองดังนี้

การขนส่งในเมือง 

          ปัญหาในอดีตและปัจจุบันสำหรับการขนส่งในเมือง โดยเฉพาะอย่างกรุงเทพมหานคร ได้แก่ การจราจรติดขัด มลพิษทางอากาศ คุณภาพการให้บริการ และการใช้พลังงานในภาคคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ปัญหาทั้งหมดเกิดจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพ เดินทางโดยใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้ระบบขนส่งสาธารณะ ทำให้มีรถจำนวนมากอยู่บนท้องถนน เกิดปัญหาจราจรติดขัด และฝุ่นควันจากท่อไอเสีย

          แนวทางในการแก้ปัญหา กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะในรูปแบบรถไฟฟ้าให้มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพ ให้เกิดการเชื่อมต่อกับสนามบิน สถานีขนส่ง และสถานที่สำคัญต่าง ๆ 

          นอกจากโครงข่ายรถไฟฟ้า กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนาระบบ Feeder ในรูปแบบต่าง ๆ ทั้งทางเดินเท้า ทางจักรยาน รถโดยสารขนาดเล็ก รถแท็กซี่ และอื่น ๆ เพื่อนำคนออกจากบ้านมาสู่สถานีรถไฟฟ้า หรือจากสถานีรถไฟฟ้าไปยังจุดหมายปลายทาง อย่างเช่น ที่ทำงาน สถานที่ท่องเที่ยว และอื่น ๆ ได้อย่างสะดวก และมีประสิทธิภาพ

          เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ประเทศต่าง ๆ ต้องหาแนวทางในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดฝุ่น PM2.5 โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนที่จะใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้ามาใช้งานในระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งในปัจจุบันกระทรวงคมนาคมส่งเสริมให้ภาคเอกชนมาให้บริการรถเมล์ไฟฟ้า ในปัจจุบันมีรถเมล์ไฟฟ้าของเอกชนให้บริการอยู่ 2,350 คัน และจะเพิ่มเป็น 3,100 คันในปีหน้า

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้า

          สำหรับรถเมล์ที่ให้บริการโดยภาครัฐ ขสมก. มีแผนจะเปลี่ยนรถเมล์ที่ใช้น้ำมันดีเซล เป็นรถเมล์ไฟฟ้าจำนวน 1,520 คันในปี 2568 ในส่วน บขส. ก็มีแผนจะเปลี่ยนรถโดยสารทางไกลจำนวน 381 คัน เป็นรถโดยสารทางไกลขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้า

การขนส่งระหว่างเมือง

          หากพูดถึงการขนส่งระหว่างเมืองโดยส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องการขนส่งสินค้า สำหรับแนวคิดการพัฒนาการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองก็คล้ายกัน กระทรวงคมนาคมต้องการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าเปลี่ยนมาทำการขนส่งทางรถไฟ และทางน้ำ ถ้าเป็นการขนส่งสินค้าในประเทศ เน้นการขนส่งทางรถไฟ เพื่อลดจำนวนรถบรรทุกบนทางหลวง และประหยัดค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการขนส่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งสินค้าทางราง กระทรวงคมนาคมกำลังเร่งการพัฒนาโครงข่ายรถไฟให้เป็นทางคู่ทั่วประเทศ เพื่อให้การขนส่งสินค้าทางรถไฟตรงเวลา 

          นอกจากนั้นกระทรวงคมนาคมกำลังเร่งพัฒนาศูนย์เปลี่ยนถ่ายตู้สินค้าจากรถบรรทุกสู่รถไฟเพื่อให้การเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างรถไฟและรถบรรทุกมีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาใช้งาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทั้งการขนส่งในเมือง และระหว่างเมือง 

          ตามเป้าหมายที่อธิบายมาทั้งหมด กระทรวงคมนาคมจึงได้จัดทำแผนแม่บทการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางถนน ทางราง ทางน้ำ ประกอบด้วย

          ด้านการคมนาคมทางราง การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าในเขตพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล กระทรวงคมนาคมมีแผนในการพัฒนารถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลทั้งหมด 14 เส้นทาง ระยะทางรวม 554 กิโลเมตร ปัจจุบันรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการแล้วมีระยะทางประมาณ 280 กิโลเมตร ซึ่งล่าสุดรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพูเพิ่งเปิดให้บริการไปเมื่อปี 2566 

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การพัฒนารถไฟฟ้า

          รถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 5 โครงการ / อยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ 3 โครงการ / และอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมอีก 12 โครงการ

          นอกจากการพัฒนารถไฟฟ้าในเส้นทางต่าง ๆ แล้ว เพื่อให้ประชาชนเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าได้อย่างสะดวกและประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง กระทรวงคมนาคมจะเร่งการใช้ระบบตั๋วร่วม และนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย โดยจะเริ่มในเดือนก.ย.2568 ซึ่งปัจจุบันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาท ตลอดสาย ได้เริ่มใช้ในรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง

          สำหรับการขนส่งระหว่างเมือง กระทรวงคมนาคมได้เร่งรัดการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ซึ่งในปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จ 5 เส้นทาง และอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงมาบกะเบา - ชุมทางถนนจิระ และช่วงลพบุรี - ปากน้ำโพ  ส่วนการพัฒนารถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 จำนวน 7 เส้นทาง / ประกวดราคาแล้ว 1 เส้นทาง / และอีก 6 เส้นทางอยู่ระหว่างกระทรวงคมนาคม เตรียมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติโครงการ

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การพัฒนารถไฟทางคู่

          นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมได้ทำการพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่  โครงการรถไฟทางคู่ช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และ โครงการรถไฟทางคู่ช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ซึ่งนอกจากการพัฒนารถไฟทางคู่ กระทรวงคมนาคมได้จัดทำแผนพัฒนารถไฟความเร็วสูง (High Speed Train) เพื่อเชื่อมโยงภาคต่าง ๆ ในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง 2 เส้นทาง ได้แก่  1.รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง - สุวรรณภูมิ - อู่ตะเภา) และ2.    รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ – นครราชสีมา

          ทั้งนี้ อยู่ระหว่างนำเสนอขออนุมัติต่อคณะรัฐมนตรี 1 โครงการ ได้แก่ รถไฟความเร็วสูงช่วงนครราชสีมา - หนองคาย พร้อมก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - ลาว เพิ่มอีก 1 สะพานที่จังหวัดหนองคายสำหรับเชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูงของไทยกับรถไฟความเร็วสูง สปป.ลาว – จีน และในอนาคต กระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไปทางภาคเหนือจากกรุงเทพไปเชียงใหม่ และรถไฟความเร็วสูงไปทางภาคใต้จากกรุงเทพไปปาดังเบซาร์

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การพัฒนารถไฟความเร็วสูง

          ด้านการคมนาคมทางน้ำ สำหรับการขนส่งทางน้ำในพื้นที่กรุงเทพ กระทรวงคมนาคม มีแผนพัฒนาท่าเรือโดยสารสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เป็น Smart Pier จำนวน 29 ท่า ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว 11 ท่า และจะเร่งผลักดันให้เปิดบริการภายในปี 2568 จำนวน 5 ท่า  ได้แก่ ท่าปากเกร็ด / ท่าพระราม 7 / ท่าเกียกกาย / ท่าโอเรียนเต็ล/ และท่าเทเวศร์) และจะเปิดให้บริการครบ 29 ท่า ภายในปี 2570

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การพัฒนาท่าเรือเพื่อการท่องเที่ยว

          นอกจากการพัฒนาท่าเรือในพื้นที่กรุงเทพแล้ว กระทรวงคมนาคมมีแผนมีการพัฒนาท่าเรือสำราญ (Cruise Terminal) เพื่อรองรับการท่องเที่ยว โดยกระทรวงคมนาคมมีแผนจะก่อสร้างท่าเรือสำราญจำนวน 3 แห่ง ที่ชลบุรี เกาะสมุย และภูเก็ต โดยจะเริ่มก่อสร้างท่าเรือสำราญแห่งแรกที่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ในปี 2568

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3

          แผนการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าทางทะเลที่เพิ่มขึ้น ในอนาคต ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมกำลังดำเนินโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยเป็นการก่อสร้างเพื่อเพิ่มจำนวนท่าเทียบเรือ และติดตั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้ครบครัน รวมถึงทำการแก้ไขปัญหาจราจรภายในบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และภายนอกท่าเรือให้เกิดความสะดวก

          ปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้ารวมกันที่ 11.10 ล้าน ที.อี.ยู. หากดำเนินการก่อสร้างตามแผนพัฒนาระยะที่ 3 แล้วเสร็จ ท่าเรือแหลมฉบังจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้เพิ่มขึ้น 7 ล้าน ที.อี.ยู ต่อปี จะส่งผลให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าเพิ่มขึ้นเป็น 18.10 ล้าน ที.อี.ยู. ต่อปี

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า โครงการก่อสร้างถนนพระราม 2

          ด้านการคมนาคมทางบก กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาโครงข่ายการคมนาคมและบริการขนส่งทางบกให้มีความปลอดภัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยให้มีการเชื่อมต่อการขนส่งรูปแบบต่าง ๆ อย่างไร้รอยต่อ มีการนำเทคโนโลยีและการบริหารจัดการที่ทันสมัยมาใช้ในการพัฒนาและให้บริการ และปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย     

เราจะเร่ง “ปิดตำนานถนน 7 ชั่วโคตร” บนถนนสายพระราม 2 ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิ.ย. 2568 ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง - วงแหวนรอบนอก ด้านตะวันตก 2.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงทางแยกต่างระดับบางขุนเทียน-เอกชัย และ 3.โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษหมายเลข 82 ช่วงเอกชัย - บ้านแพ้ว 

          รวมทั้งเปิดให้บริการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน - นครราชสีมา (M6) ตลอดเส้นทาง ในช่วงปีใหม่ 2569 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่ - กาญจนบุรี (M81) ตลอดเส้นทาง ภายในปี 2568

          ด้านคมนาคมทางอากาศ กระทรวงคมนาคมมุ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เพื่อสร้างโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านการบินของภูมิภาค (Aviation Hub)ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนด้านการบินของภาคเอกชนในประเทศ และสนับสนุนการเชื่อมโยงการให้บริการด้านการบินกับการท่องเที่ยวในประเทศ เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวในประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เพิ่มมากขึ้น

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า แผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ

          สำหรับแผนการพัฒนาด้านคมนาคมทางอากาศ 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะเร่งด่วน มุ่งเน้นการอำนวยความสะดวก สร้างรอยยิ้มประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้มาใช้บริการสนามบิน เช่น การนำระบบการออกบัตรโดยสารด้วยตัวเอง (CUPPS) หรือการนำระบบโหลดกระเป๋าด้วยตัวเอง (CUBD) มาใช้ รวมถึงการเชื่อมต่อการเดินทางจากสนามบินกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

          ระยะกลาง มุ่งเน้นเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารและรองรับเที่ยวบินของท่าอากาศยานหลักของประเทศ เช่น ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานดอนเมือง ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ตให้สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสาร และเที่ยวบินได้มากขึ้น

          ระยะยาว การก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานล้านนา และท่าอากาศยานอันดามัน รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมการซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งระบบ เพื่อรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินในอนาคต

สนามบินสุวรรณภูมิ

          จากการคาดการณ์ของสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) ได้มีการศึกษาสนามบินต่าง ๆ ทั้งโลก และในผลการศึกษา มีการคาดการณ์ว่าสำหรับประเทศไทย ในปี พ.ศ.2574 ประเทศไทยจะมีคนที่เดินทางผ่านสนามบิน ประมาณ 200 ล้านคนต่อปี ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมต้องรีบเร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาสนามบินหลัก และสนามบินรองให้รองรับปริมาณผู้โดยสารจำนวนดังกล่าว

          ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีอาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร (Main Terminal) และอาคารเทียบเครื่องบินรอง 1 อาคาร (SAT-1) มีทางวิ่ง 3 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาในระยะที่ 3 โดยจะทำการขยายอาคารผู้โดยสารหลักฝั่งทิศตะวันออก ก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่ฝั่งทิศใต้ของสนามบิน และก่อสร้างทางวิ่งที่ 4 ซึ่งตามแผนการดำเนินการทั้งหมดจะเสร็จปี 2575 ทำให้สนามบินสุวรรณภูมิสามารถรองรับผู้โดยสารจากเดิม 65 ล้านคนต่อปี เป็น 150 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบินจากเดิม 94 เที่ยวบินต่อชั่วโมง เป็น 120 เที่ยวบิน ต่อชั่วโมง

สนามบินดอนเมือง

          ปัจจุบันสนามบินดอนเมืองมีอาคารผู้โดยสาร 2 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาระยะที่ 3 เพื่อก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ พร้อมทำการปรับปรุงอาคารผู้โดยสารเดิม ตามแผนจะแล้วเสร็จปี 2575 จะสามารถเพิ่มความสามารถรองรับผู้โดยสารจาก 40 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี

สนามบินอู่ตะเภา

          ปัจจุบันกำลังพัฒนาให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 และทางวิ่งเพิ่มอีก 1 เส้นทาง จะทำให้รองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านคนต่อปี เป็น 12 ล้านคนต่อปี ในปี 2571

          นอกจากการพัฒนาอาคารผู้โดยสารแล้ว ที่สนามบินอู่ตะเภา จะทำการพัฒนาศูนย์ธุรกิจขนส่งสินค้าและโลจิสติกส์ ศูนย์ซ่อมอากาศยาน ซึ่งจะเป็นส่วนสนับสนุนความเป็นศูนย์กลางการบินของไทย

สนามบินภูเก็ต

          สนามบินสำคัญทางภาคใต้ เนื่องจากจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนมากกว่า 10 ล้านคน และสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่า 3 แสนล้านบาทในปี 2566 ที่ผ่านมา 

          แม้สนามบินภูเก็ตจะมีข้อจำกัดเรื่องพื้นที่ ทำให้ไม่สามารถขยายสนามบินได้ แต่กระทรวงคมนาคมมีแผนจะขยายตัวอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการ ทำให้สามารถรองรับผู้โดยสาร โดยเฉพาะนักท่องเที่ยว ได้เพิ่มขึ้นจาก 12.5 ล้านคนต่อปี เป็น 18 ล้านคนต่อปี ตามแผนจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2572

สนามบินเชียงใหม่

          ปัจจุบันสนามบินเชียงใหม่มีอาคารผู้โดยสาร 1 อาคาร ให้บริการรวมทั้งผู้โดยสารระหว่างประเทศ และผู้โดยสารภายในประเทศ เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวมาเที่ยวภาคเหนือเพิ่มขึ้น กระทรวงคมนาคม จึงมีแผนจะก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ เพิ่ม 1 อาคาร และปรับปรุงอาคารเดิม ให้เป็นอาคารผู้โดยสารภายในประเทศอย่างเดียว ซึ่งจะแยกผู้โดยสารระหว่างประเทศ และภายในประเทศ ออกจากกัน จะทำให้สามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มจาก 8 ล้านคนต่อปี เป็น 20 ล้านคนต่อปี ตามแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2569 และเปิดให้บริการปี 2576

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสนามบินในพื้นที่ภาคเหนือ และภาคใต้ ยังมีข้อจำกัดในการขยายสนามบิน จึงจำเป็นต้องพัฒนาสนามบินแห่งใหม่ รองรับนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคต และช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในพื้นที่ 

          สำหรับในพื้นที่ภาคเหนือ จะมีการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ คือ สนามบินล้านนาซึ่งจะประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง สามารถรองรับผู้โดยสาร 24 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 41 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

          ส่วนพื้นที่ภาคใต้ จะมีการก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่ คือ สนามบินอันดามัน ประกอบด้วย อาคารผู้โดยสารหลัก 1 อาคาร และทางวิ่ง 2 เส้นทาง สามารถรองรับผู้โดยสาร 22.5 ล้านคนต่อปี และรองรับเที่ยวบิน 43 เที่ยวบินต่อชั่วโมง คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2573

เมกะโปรเจ็คดัน GDP ประเทศ

          นายสุริยะ กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมได้วางแผนเพื่อสร้างรากฐานการพัฒนาทางเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยอย่างยั่งยืน โดยมีแผนการพัฒนาโครงการ Landbridge เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์การการขนส่งสินค้า ทางทะเลในภูมิภาคอาเซียน โครงการ Landbridge ประกอบไปด้วย ก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแห่งใหม่ที่อำเภอแหลมริ่ว จังหวัดชุมพร และที่อำเภออ่าวอ่าง จังหวัดระนอง โดยทำการเชื่อมท่าเรือน้ำลึกทั้ง 2 ด้วยรถไฟทางคู่ และมอเตอร์เวย์ 

สุริยะ เปิดแผนคมนาคม สู่ฮับภูมิภาค ลั่นปิดตำนานพระราม 2 ถนน 7 ชั่วโคตรปีหน้า โครงการ Landbridge

          โครงการ Landbridge จะเป็นประตูการนำเข้า และส่งออกแห่งใหม่ ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย และเป็นเส้นทางขนส่งตู้สินค้าทางทะเลทางเลือกใหม่ของภูมิภาค นอกเหนือจากการที่ต้องไปขนถ่ายตู้สินค้าผ่านช่องแคบมะละกา ซึ่งจากการศึกษาพบว่าจะช่วยลดต้นทุนในการขนส่งได้ 15-20 % และช่วยประหยัดเวลาในการขนส่งได้ 3 - 5 วัน

โครงการ Land bridge จะช่วยเพิ่มการจ้างงานภายในประเทศได้มากกว่า2 แสนอัตรา และทำให้ GDP ของไทยเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 %