posttoday

PTT เร่งเทคโนโลยี CCS -ไฮโดรเจน หนุนเป้า Net Zero ปี 2050

04 ธันวาคม 2567

PTT เดินหน้าเทคโนโลยี CCS -ไฮโดรเจน ขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero ในปี 2050 เน้นผนึกความร่วมมือในกลุ่ม นอกกลุ่ม พันธมิตร และภาครัฐ สู่ความยั่งยืน

นายรัฐกร กัมปนาทแสนยากร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ความยั่งยืนองค์กร บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงาน “Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business” ภายใต้หัวข้อ “PTT Insight Together for Sustainable” จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ว่า กลุ่ม ปตท. ดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ทำโครงการปลูกป่า 1.2 ล้านไร่เสร็จแล้ว และตั้งเป้าหมายเพิ่มอีก 1 ล้านไร่ และในกลุ่มปตท. อีก 1 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยสร้างงาน และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน

ขณะเดียวกัน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กลุ่ม ปตท. มีการวัดผลดัชนีด้านความยั่งยืน DJSI ซึ่ง ปตท. ได้รับรางวัลตั้งแต่ ปี 2012 ถือว่าได้รับการยอมรับตลอด 13 ปีที่ผ่านมา รวมถึงรางวัลความยั่งยืนในประเทศไทยด้วย เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ 15 ปี  

“การทำเรื่องของความยั่งยืน ได้เข้ามาสร้างโอกาสให้ทั้งกับ ปตท. และประเทศ ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มถือเป็นเป้าหมายสำคัญ” นายรัฐกร กล่าว 

นอกจากนี้ ปตท. ได้ดำเนินนโยบาย ESG ที่ต้องขับเคลื่อนให้ถึงเป้าหมาย จึงได้เดินหน้าธุรกิจใหม่ด้วยหลัก C3 คือ 1. ธุรกิจที่มีความยืดหยุ่นต่อสภาพอากาศ Climate-Reilience Business 2. ธุรกิจที่ใส่ใจเรื่องคาร์บอน Carbon Conscious Business 3. การร่วมมือ การสร้างสรรค์ เพื่อทุกคน Coalition, Co-creation & collective Efforts for All

นายรัฐกร กล่าวว่า ในกระบวนการ C3 นี้ จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพกระบวนการผลิต โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ มุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน พร้อมกับประสานความร่วมมือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีในการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้เทคโนโลยีการดักจับและการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage: CCS) เทคโนโลยีไฮโดรเจน รวมถึงศึกษาความเป็นไปได้โอกาสในการลงทุนโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) เป็นต้น

ทั้งนี้ ปตท. ได้ร่วมมือกันในกลุ่ม ปตท. นอกกลุ่ม ปตท. พาร์ทเนอร์ทั้งในและต่างประเทศ รวมไปถึงภาครัฐ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งความร่วมมือที่เป็นทีมเวิร์คจะช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายได้ดี โดยเฉพาะการลดการใช้พลังงานในโรงงานและในกระบวนการผลิตของทั้งกลุ่ม

โดยบริษัทใดถนัดด้านไหนก็ให้ดำเนินการในด้านนั้น เช่น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ทำด้านพลังงานสะอาด ก็อาจจะต้องศึกษาเทคโนโลยีนิวเคลียร์ด้วย

ส่วน บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC จะทำในเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ ขณะที่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP จะลงทุนผลิตภัณฑ์น้ำมันไบโอเจ็ต เพื่อส่งให้ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ขาย ด้าน OR จะดูด้านอีโคซิสเต็มส์ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เป็นต้น 

นอกจากนี้ ปัจจุบัน ปตท. อยู่ระหว่างเร่งผลักดันธุรกิจใหม่ด้านการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage: CCS) ดำเนินการโดย บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP ใน 2 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ แหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ และโครงการลังละบาห์ 

โดยแหล่งก๊าซธรรมชาติโครงการอาทิตย์ นับเป็นการดำเนินการแห่งแรกของประเทศไทย คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

อีกทั้งเร่งลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการกักเก็บคาร์บอนจากกระบวนการผลิตของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่ใกล้ฝั่งทะเลภาคตะวันออก ปริมาณดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ราว 10 ล้านตันต่อปี และยังมีการลงทุนในธุรกิจไฮโดรเจน รองรับการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มเติม และมีเป้าหมายนำไฮโดรเจนเข้ามาผสม 5% ปี 2030 ในท่อส่งก๊าซเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าตามร่างแผน PDP ฉบับใหม่ เพื่อลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนในอนาคต

"2 โครงการใหญ่ในระยะสั้น คือ เทคโนโลยี CCS และไฮโดรเจน จะทำให้ถึงเป้าหมาย Net Zero ได้ แต่ต้องร่วมมือททุกภาคส่วน กุญแจสำคัญคือ หากต้องการพังงานสะอาด ราคารับได้ สุดท้ายภาครัฐต้องทำงานใกล้ชิดด้วย" นายรัฐกร กล่าว