posttoday

รัฐบาลสั่งเตรียมพร้อม รับลงทุนเซมิคอนดักเตอร์-อิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง

04 ธันวาคม 2567

รัฐบาลเดินหน้านโยบายสร้างฐานอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง สั่งเตรียมทัพบุคลากร -สาธารณูปโภค รองรับการลงทุน 5 แสนล้านใน 5 ปีข้างหน้า พร้อมทำแผนดึงดูด 10 บริษัทยักษ์ใหญ่มาลงทุนในไทย

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน แถลงผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567​ ว่า​  ที่ประชุม เห็นชอบจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมดังกล่าว รวมถึงรับทราบแผนยุทธศาสตร์ พัฒนาบุคลากรรองรับการลงทุน ตั้งเป้า ระยะ 5 ปี 2568-2572 ดึงเม็ดเงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาท เพื่อยกระดับ ไทยสู่ศูนย์กลางการผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง

 

ปัจจุบันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง โดยเฉพาะการผลิตชิป เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่สำคัญของโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด คาดว่ามูลค่าการตลาดจะขึ้นสูงถึง​ 1 ล้านล้าน ดอลลาร์สหรัฐในปี 2030

 

ที่ประชุมมีมติ​ 2 เรื่องสำคัญ​ 1. จัดทำยุทธศาสตร์ระดับชาติ โดยให้จัดจ้างที่ปรึกษาชั้นนำระดับโลก เพื่อจัดทำยุทธศาสตร์ทั้งในระดับนโยบาย ครอบคลุมถึงระดับปฏิบัติการ จัดทำแผนดึงดูดนักลงทุน รายสำคัญอย่างน้อย 10 บริษัท ชั้นนำระดับโลก ให้เข้ามาลงทุน ออกแบบและผลิตเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูงในไทย และร่วมมือกับประเทศผู้นำด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง เพื่อเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก และเพิ่ม ศักยภาพรอบการแข่งขันของประเทศ

 

2. เห็นชอบแผนการพัฒนากำลังคน รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยตั้งเป้า ปี 2573 จะต้องผลิตบุคลากร เฉพาะทางและนักวิจัยระดับสูง 84,900 คน ผ่านโครงการอีพสกิลและรีสกิล รวมถึงหลักสูตรการศึกษารูปแบบใหม่เช่น sandbox และโปรแกรมฝึกงานนานาชาติ จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรม 6 แห่งเช่นศูนย์.Wafer Fabrication และศูนย์วิจัยพัฒนา

 

นอกจากนี้ยังได้เห็นชอบตั้งคณะอนุกรรมการ 2 ชุด โดยมีเลขาธิการ​ BOI เป็นประธาน และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์​ วิจัยและนวัตกรรมเป็นประธาน โดยให้ดูเรื่องการเตรียมหลักสูตรความพร้อมรองรับพัฒนาแรงงาน และ เตรียมสถานที่รองรับอุตสาหกรรม ดูเรื่องระบบสาธารณูปโภคและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

นายนฤตม์ ยังกล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2561 ถึงเดือนกันยายน 2567 มีการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมกว่า 1,213 โครงการ มูลค่าการลงทุน 876,328  ล้านบาท​ โดยในช่วง 2 ปีหลัง มีการลงทุนในกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ชั้นสูง แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างมากส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากสหรัฐอเมริกา ยุโรป​ จีนไต้หวัน  และญี่ปุ่น