posttoday

ครม.ไฟเขียว พรก.ภาษี 2 ฉบับ คาดดึงลงทุนเพิ่มรายได้กว่า 1 หมื่นล้านต่อปี

11 ธันวาคม 2567

ครม.ไฟเขียว 2 พ.ร.ก.ภาษี ตามหลักเกณฑ์ OECD จัดเก็บภาษีเพิ่มจากภาษีขั้นต่ำ อัตรา 15 % นำรายได้เข้ากองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย "จุลพันธ์" ชี้ เป็นการเพิ่มความชัดเจน ช่วยดึงการลงทุน สร้างรายได้เพิ่มกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

รายงานข่าวเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่11 ธ.ค.67 มีวาระสำคัญวาระหนึ่ง คือ เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พรก.) 2 ฉบับเกี่ยวกับการปฏิรูปภาษีนิติบุคคลในไทย คือ พ.ร.ก.ภาษีส่วนเพิ่ม พ.ศ... ของกระทรวงการคลัง และ พรบ.การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (ฉบับที่..) พ.ศ...  ของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)


สำหรับร่าง พ.ร.ก.ทั้ง 2 ฉบับนี้ เป็นไปตามเกณฑ์ของ OECD ภายใต้มาตรการ Pillar 2 เพื่อดำเนินการจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมจากบริษัทที่เข้าตามมาตรการต้องเสียภาษีขั้นต่ำ (Global Minimum Tax : GMT)ในอัตรา 15% และส่งเงินภาษีบางส่วนที่จัดเก็บได้ให้กองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ระหว่างการเข้าร่วมเป็นสมาชิก OECD
 

ทั้งนี้เมื่อร่างพ.ร.ก.ทั้งคู่ได้ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมครม. แล้ว จะเสนอต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตรวจสอบรายละเอียดและคำต่าง ๆ ของกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จากนั้นจึงนำเข้าสู่ขั้นตอนของสภาผู้แทนราษฎรต่อไป คาดว่า จะประกาศให้มีผลใช้บังคับใช้ในปี 2568 นี้ 

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง กล่าวว่าการออกกฎหมายในเรื่องภาษีเป็น พ.ร.ก.นั้นเป็นเรื่องของความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ซึ่งแต่ละเรื่องไม่ได้ต้องการระยะเวลาในการให้สาธารณะชนได้ทราบล่วงหน้านานนัก โดยจะมีขั้นตอนในการประกาศและมีผลบังคับใช้

ภาษีเกณฑ์ของ Global minimum tax  ถือเป็นหลักการที่ทั่วโลกมีการรับรู้ร่วมกันว่าเป็นหลักปฏิบัติของ OECD และมีประเทศที่เข้ามาร่วมในกติกานี้มากกว่า 100 ประเทศแล้ว ในส่วนของประเทศไทย มีนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาสอบถามในส่วนนี้อยู่มาก หากเราสามารถที่ประกาศได้ชัดเจนก็จะทำให้นักลงทุนสามารถเลือกได้ว่า จะมีการเลือกเสียภาษีในประเทศไหน จะเสียที่ประเทศไทยหรือประเทศต้นทาง

"มาตรการนี้ถือว่าเป็นมาตรการที่ดีเพราะนอกจากเกิดความชัดเจนในการดึงการลงทุนแล้ว กระทรวงการคลังคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับประเทศมากกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี"นายจุลพันธ์ กล่าว