เปิดเงื่อนไข “โครงการคุณสู้ เราช่วย” สางหนี้ครัวเรือนกว่า 2 ล้านบัญชี คาดช่วยลดNPLได้กว่า 10%
คลัง-ธปท. คลอดแพ็กเกจใหญ่ 2 มาตรการแก้หนี้ครัวเรือน-SMEs มูลหนี้แตะ 9 แสนล้าน ดีเดย์เปิดลงทะเบียนลูกหนี้ร่วมโครงการพรุ่งนี้(12ธ.ค.นี้) เล็งผุดเฟส2 อัดเงินเข้าสู่ระบบกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านแบงก์รัฐ 1 ล้านล้านบาท
นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคลัง กล่าวภายหลังเปิดตัว “โครงการคุณสู้ เราช่วย” เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ร่วมกับกระทรวงการคลัง ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)สมาคมธนาคารนานาชาติ สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ รวมถึงผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่สถาบันการเงิน (Non Banks) ว่า หนี้ครัวเรือนครัวเรือนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน และการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจไทย ทุกภาคส่วนจึงได้ร่วมกันผลักดันมาตรการชั่วคราวเพิ่มเติม เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยและ SMEs เฉพาะกลุ่ม หลังจากที่วันนี้(11ธ.ค.67) ครม.ได้ผ่านความเห็นชอบมาตรการดังกล่าวแล้วเมื่อช่วงเช้าวันนี้ ประกอบด้วย 2 มาตรการ ดังนี้
มาตรการที่ 1 “จ่ายตรง คงทรัพย์” เป็นการช่วยเหลือลูกหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs ขนาดเล็กที่มีวงเงินหนี้ไม่สูงมาก ให้สามารถรักษาทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันทั้งบ้าน รถ และสถานประกอบการไว้ได้ โดยเป็นการปรับโครงสร้างหนี้แบบลดค่างวดและลดภาระดอกเบี้ย โดยค่างวดที่จ่ายจะนำไปตัดเงินต้น
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
(1) ลดค่างวดเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้ชำระค่างวดขั้นต่ำที่ 50% 70% และ 90% ของค่างวดเดิม ในปีที่ 1 ปีที่ 2 และปีที่ 3 ตามลำดับ ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น
(2) พักดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับยกเว้นทั้งหมด หากลูกหนี้ปฏิบัติได้ตามเงื่อนไขได้ตลอดช่วงระยะเวลา 3 ปีที่อยู่ภายใต้มาตรการ
ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถชำระมากกว่าค่างวดขั้นต่ำที่กำหนดไว้ได้ เพื่อตัดเงินต้นเพิ่มและปิดจบหนี้ได้ไวขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) มีวงเงินสินเชื่อรวมต่อสถาบันการเงินไม่เกินที่กำหนด โดยพิจารณาแยกวงเงินตามประเภทสินเชื่อต่อสถาบันการเงิน ดังนี้
- สินเชื่อบ้าน / บ้านแลกเงิน วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถยนต์ วงเงินไม่เกิน 8 แสนบาท
- สินเชื่อเช่าซื้อ / จำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์ วงเงินไม่เกิน 5 หมื่นบาท
- สินเชื่อธุรกิจ SMEs วงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท
- กรณีสินเชื่อส่วนบุคคลและบัตรเครดิต หากมีหนี้บ้านหรือรถที่เข้าเงื่อนไขข้างต้น สามารถพิจารณาเข้ามาตรการรวมหนี้ได้ ภายใต้ระดับความเสี่ยงที่สถาบันการเงินรับได้ โดยวงเงินเมื่อรวมแล้วไม่เกินเงื่อนไขที่กำหนด
(2) เป็นสินเชื่อที่ทำสัญญาก่อนวันที่ 1 มกราคม 2567
(3) มีสถานะหนี้ ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567 อย่างใดอย่างหนึ่ง ดังนี้
(3.1) เป็นหนี้ที่ค้างชำระเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 365 วัน
(3.2) เป็นหนี้ที่ไม่ค้างชำระหรือค้างชำระไม่เกิน 30 วัน แต่เคยมีประวัติการค้างชำระเกิน 30 วัน และได้รับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565
1.3 เงื่อนไขของการเข้าร่วมมาตรการ
(1) ลูกหนี้ไม่ทำสัญญาสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรกที่เข้าร่วมมาตรการ ยกเว้นกรณีสินเชื่อธุรกิจ SMEs ที่จำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง เจ้าหนี้สามารถให้สินเชื่อเพิ่มเติมได้โดยจะพิจารณาความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ตามความเหมาะสม
(2) ลูกหนี้รับทราบว่า จะมีการรายงานข้อมูลต่อเครดิตบูโร (NCB) ถึงการเข้าร่วมมาตรการ
(3) หากลูกหนี้ไม่สามารถจ่ายชำระค่างวดขั้นต่ำได้ตามที่มาตรการกำหนด หรือไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขอื่น ๆ ได้ เช่น ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ก่อนระยะเวลา 12 เดือน ลูกหนี้จะต้องออกจากมาตรการและชำระดอกเบี้ยที่ได้รับการพักไว้ในระหว่างที่เข้ามาตรการ
(4) หากสัญญาสินเชื่อมีผู้ค้ำประกัน ผู้ค้ำประกันต้องให้ความยินยอมในการเข้าร่วมมาตรการและลงนามในสัญญาค้ำประกันใหม่
มาตรการที่ 2 “จ่าย ปิด จบ” เป็นการช่วยลูกหนี้รายย่อยที่มีหนี้เสียและยอดหนี้ไม่สูง หรือไม่เกิน 50,00 บาท ลูกหนี้ต้องเข้ามาเจรจาปรับโครงสร้างหนี้เพื่อชำระหนี้บ้างส่วน เบื้องต้นลูกหนี้ต้องชำระหนี้ 10% ของ 50,00 บาท โดยสามารถเข้าร่วมโครงการได้มากกว่า 1 บัญชี
1.1 รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ ลูกหนี้จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้แบบผ่อนปรน โดยลูกหนี้จะชำระหนี้บางส่วน เพื่อให้สามารถจ่ายและปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น
1.2 คุณสมบัติลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการได้
(1) ลูกหนี้บุคคลธรรมดา ที่มีสถานะค้างชำระเกินกว่า 90 วัน (NPL) ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2567
(2) มีภาระหนี้ต่อบัญชี ไม่เกิน 5,000 บาท โดยไม่จำกัดประเภทสินเชื่อ (สามารถเข้าร่วมมาตรการได้มากกว่า 1 บัญชี)
ในระยะต่อไป ผู้ประกอบธุรกิจกลุ่ม Non-Bank อื่น ๆ จะมีความช่วยเหลือออกมาเพิ่มเติม ซึ่งอาจมีรายละเอียดที่แตกต่างไป เพื่อร่วมกันผลักดันให้การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมใน วงกว้างและครอบคลุมลูกหนี้ได้มากขึ้น
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือไม่ได้ลดหนี้ทันที แต่เราลดภาระการชำระหนี้ โดยมุ่งไปที่การพักดอกเบี้ยไว้ก่อน สำหรับคนที่มีความพร้อมและมีวินัยการเงิน โดยเริ่มจากการลดภาระการผ่อนชำะค่างวดระยะเวลา 3 ปี เช่น ปีที่ 1 ลดดอกเบี้ย 50% ปีต่อไปลด 70% และชำระค่างวด 90% ของค่างวดเดิมตามลำดับตามค่างวดที่ชำระจะนำไปตัดเงินต้น เพื่อให้ลูกหนี้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้นและหากลูกหนี้ปฎิบัติตามเงื่อนไขเคร่งคัดดอกเบี้ยที่พักไว้ 3 ปี จะได้รับการยกเว้นทั้งหมด
ทั้งนี้ มียอดหนี้ที่เข้าเกณฑ์โครงการประมาณ 2 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ 8.9 แสนล้านบาท โดยแบ่งเป็นหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ 6-7 แสนบัญชี คิดเป็นมูลหนี้ราว 4.5 แสนล้านบาท และหนี้ของธนาคารพาณิชย์ 1.5 ล้านบัญชี คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท
นอกจากนี้ มาตรการแก้หนี้ดังกล่าว จะช่วยเหลือไปถึงลูกหนี้ธนาคารเฉพาะกิจของรัฐด้วย โดยใช้หลักการเดียวกับธนาคารพาณิชย์ แหล่งเงินมาจาก ม.28 เพื่อชดเชยให้ SFIs 6 แห่ง รวมทั้ง มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ ของ Non – banks โดยขยายการให้ความช่วยเหลือให้ครอบคลุมไปยังลูกหนี้ของ Non - banks เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเปราะบางและมีหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่มีดอกเบี้ยสูง
นายพิชัย กล่าวต่อว่า โครงการนี้ทำให้ทุกคนมีความหวัง แม้เศรษฐกิจไทยในขณะนี้อยู่ในสภาวะซบเซามากกว่า 10 ปี และยังประสบปัญหาเรื่องโควิด ทำให้เศรษฐกิจเติบโตไม่ได้เท่าที่ควร รวมทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ขณะนี้ จีดีพีไตรมาส 3/2567 เริ่มเห็นแสงสว่าง จีดีพีค่อยๆปรับขึ้นมาอยู่ที่ 3% แล้ว และลุ้นว่าจีดีพีไตรมาส4/2567 จะเห็นใกล้ๆ 4% หรือบวกลบ รวมแล้วทั้งปี 2567 น่าจะเห็นที่ 2.8% บวกลบ เมื่อเทียบกับ 1.9% ในปีที่ผ่านมา หรือเพิ่มขึ้น 40-50% ดังนั้นจึงเห็นว่าปี 2568 จีดีพีไทยน่าจะเพิ่มขึ้นได้อีก แต่แน่นอนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจมันต้องมีหลักฐาน มีมูลเหตุ คือ มีการลงทุน การใช้จ่ายเงิน
การพยากรณ์ไม่ง่าย แต่ถ้าถามผม ปีหน้าจีดีพีผมฝันไปไกลถึง 3.5% แต่จะขยับเป็น 3.5% หรือน้อยกว่านี้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่า เศรษฐกิจจะเดินไปข้างหน้าต่อไปได้ แต่คนในประเทศซึ่งมีปัญหาเยอะ ซึ่งกลุ่มเหล่านี้คือ กลุ่มครัวเรือน และเอสเอ็มอี เป็นกลุ่มพื้นฐานของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ดังนั้นสิ่งแรกคือ การแก้ปัญหาหนี้ที่มีอยู่เดิมต้องแก้ให้นิ่งก่อน ให้หนี้ที่มีอยู่เท่าเดิมยังคงเท่าเดิมแต่ภาระการจ่ายลดลง เมื่อหนี้เขาสามารถกลับมาอยู่ในสถานการณ์ปกติได้ เขาจะมีโอกาสเดินหน้าต่อไปได้
ทั้งนี้ เมื่อหนี้ในระบบลดลง รัฐบาลก็มีโจทย์การช่วยเหลือภาคสอง ในการเติมเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่เรามั่นใจว่าจะเพิ่มขึ้น จากภาคเศรษฐกิจหลายตัว เช่น การลงทุนในประเทศและต่างประเทศ เป็นจังหวะดีที่เราจะใส่เม็ดเงิน เข้าไป น่าจะเป็นเฟสที่2
เฟส 2 จะเป็นการปล่อยสินเชื่อให้กับคนที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อที่อยู่ตามชนบทมากกว่า ซึ่งเราจะเข้าดูตรงนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่มีตัวเลข แต่ผมมีตัวเลขในใจจะอัดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ผ่านธนาคารรัฐ ประมาณ 1 ล้านล้านบาท จะเป็นความฝันของรัฐ
นายพิชัย กล่าวต่อว่า ผ่านการช่วยเหลือจากสมาคมธนาคาร คลังและสถาบันการเงินอื่น โดยใช้เม็ดเงินในการช่วย เมื่อช่วงเช้า ครม.ได้ผ่านวาระ FIDF ขอลดลงแค่ครึ่งเดียว โดยมีหลักการช่วยประมาณ 3 ปี แต่อย่างไรก็ตามจะทดลองทำเป็นปีๆไป ในส่วนของกระทรวงการคลังวงเงินช่วยเหลือไม่เกิน 1 ปี ไม่เกิน 3.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะมีส่วนที่สถาบันการเงินให้ความช่วยเหลือในสัดส่วนใกล้เคียงกัน หรือเท่ากัน หรือเงินช่วยเหลือถึงปีละ 7.8 พันล้านบาท รวม 3 ปี 2 แสนกว่าล้าน
ดังนั้นเมื่อโครงการเสร็จสิ้นไปแล้ว เศรษฐกิจดีขึ้น เราจะเห็นเงินต้นลดลง จะเห็นเอ็นพีแอลในระบบลดลง 10% กว่าๆ จากปัจจุบันอยู่ 16 ล้านล้านบาท โดยเป็นหนี้เอ็นพีแอลกว่า 1 ล้านล้านบาท แต่ธนาคารพาณิชย์อาจต้องรอ 12 เดือนบวกลบ จะเห็นยอดเอ็นพีแอลลดลง ซึ่งยอมรับว่าตนอยากเห็นยอดเอ็นพีแอลต่ำกว่า 80%