posttoday

สภาพัฒน์ฯ X เคทีซี ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2567 โต 2.7% จับตาเผาจริงครึ่งปีหลัง68

17 ธันวาคม 2567

เคทีซีเปิดเวทีเสวนา KTC FIT Talk 13 "โฟกัสเศรษฐกิจปี 2568: โอกาสและความท้าทาย" นำเสนอข้อมูลแนวโน้มเศรษฐกิจ การรับมือความผันผวนและปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่อาจเกิดขึ้นในปี 2568 จากนโนบาบการเงิน-การคลังและจากนโยบายทรัมป์ทีจะส่งผลจริงจังครึ่งปีหลัง

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยในปี 2567 จะขยายตัวได้ประมาณ 2.7% โดยไตรมาส 4/2567 จีดีพีจะขยายตัวได้ 4% จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง และการขยายตัวของการส่งออก 

 

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (ซ้าย) และ นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ  ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

แต่ในปี 2568 นั้น ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จีดีพีจะขยายตัว 2.9% แต่แนวโน้มยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยมีความเสี่ยงที่โน้มเอียงไปในทิศทางขาลง ซึ่งทางไอเอ็มเอฟคงจะนึกถึงการชนะการเลือกตั้งของประธานาธิบดีทรัมป์ และความเสี่ยงของภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้นหากมองไปในปี 2568 จะมี 4 ปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้คือ

 

1. การส่งออกสินค้าซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 50% ของจีดีพี โดยการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ เท่ากับเกือบ 10% ของจีดีพี จะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโอกาสที่มีผลกระทบทางลบหรือความเสียหาย (downside risk) มาก และตลาดยุโรปกับจีนก็ดูจะ         ไม่แข็งแรง

 

2. การท่องเที่ยวคงจะฟื้นตัวต่อไป คือจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปี 2568 น่าจะกลับไปที่ 40 ล้านคน เท่ากับปริมาณก่อนการระบาดของโควิด 19 แต่รายจ่ายต่อหัวจะยังต่ำกว่า

 

สภาพัฒน์ฯ X เคทีซี  ชี้เศรษฐกิจไทยปี 2567 โต  2.7% จับตาเผาจริงครึ่งปีหลัง68

 

3. แรงกระตุ้นจากภาครัฐคงจะมีต่อเนื่องถึงประมาณกลางปีหน้า จากการแจกเงินก้อนสุดท้าย และการเร่งใช้งบลงทุน แต่การที่รัฐมนตรีคลังพูดถึงการเก็บภาษีเพิ่ม แปลว่า นโยบายการคลังน่าจะตึงตัวขึ้น

 

4. นโยบายการเงินนั้น ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย จะลดดอกเบี้ยนโยบายลง 2 ครั้งในปี 2568 เพราะเงินเฟ้อต่ำมาก แต่ในขณะเดียวกันธนาคารแห่งประเทศไทย ก็ยังคงจะส่งสัญญาณให้ธนาคารพาณิชย์เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อใหม่ และธนาคารพาณิชย์เองก็คงจะต้องใช้เวลากับการแก้หนี้เสียที่ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย ดังนั้น แนวโน้มของการลดลงของสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ (debt deleveraging) ก็จะยังดำเนินต่อไปในปี 2568

 

อย่างไรก็ตาม หากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่อนคลายนโยบายการเงินเชื่องช้าเกินไป ผลที่จะตามมาคือ กำลังซื้อในประเทศจะไม่แข็งแรงและเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นไปอีกได้”

ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ ประธานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

 

ดร. ศุภวุฒิยังกล่าวว่า ครึ่งปีหลังของปี 2568 ธนาคารแห่งประเทศไทยจะออกมาเป็นกองหน้ามากขึ้น เพราะนโยบายการคลังเริ่มตึงตัว และต้องติดตามดูว่านโยบายทางการค้าของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกาจะเข้มข้นมากน้อยแค่ไหน เพราะรูปแบบการดำเนินนโยบาย "ต่างตอบแทน" ของทรัมป์

 

นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ  ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เผยถึงแนวโน้มของเศรษฐกิจไทยว่า “เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตร้อยละ 2.9 ในปี 2568 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าโลก โดยเฉพาะประเด็นการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตและการส่งออกในภูมิภาค การที่สหรัฐฯ อาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 60 และขึ้นภาษีทั่วไปร้อยละ 10 สำหรับประเทศอื่นๆ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

 

อย่างไรก็ตาม ไทยมีโอกาสได้รับประโยชน์ในระยะสั้น จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน (China+1) แม้ว่าในระยะยาวอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดส่งออก จุดแข็งสูงสุดของการเติบโตคาดว่าจะอยู่ในช่วงไตรมาส 4/2567 และไตรมาส 1/2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาอยู่ที่ร้อยละ 1.50-2.00 สอดคล้องกับทิศทางทั่วโลก เนื่องจากเงินเฟ้อที่ชะลอตัวและราคาพลังงานที่คาดว่าจะปรับลดลง การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลยังคงมีแนวโน้มเข้ามาต่อเนื่อง โดยมีอาเซียนเป็นศูนย์กลางการลงทุนที่สำคัญ รวมถึงการใช้จ่ายภาครัฐที่คาดว่าแข็งแกร่งในช่วงครึ่งปีแรกของ 2568

 

ภาคธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น ได้แก่ ธุรกิจร้านอาหารและโรงแรม บริการสุขภาพที่ได้ประโยชน์จากสังคมผู้สูงอายุ และสถาบันการเงินที่มีการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินและปรับตัวสู่ดิจิทัล โดยเฉพาะการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าบริหารจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสำเร็จในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปี 2568 จะขึ้นอยู่กับความสามารถในการใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงของห่วงโซ่การผลิตโลก ควบคู่ไปกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างรอบคอบ เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาว

 

นายอภิเชษฐ์ เกียรติวรคุณ  ผู้อำนวยการ - การเงิน “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

อุตสาหกรรมสินเชื่อผู้บริโภคมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจที่จะเร่งตัวขึ้น และต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ซึ่งเอื้อให้สถาบันการเงินสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่แข่งขันได้มากขึ้น รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้จะช่วยขยายการเข้าถึงบริการทางการเงิน อย่างไรก็ตาม ความ ท้าทายสำคัญยังคงเป็นเรื่องหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งต้องมีการบริหารความเสี่ยงอย่างรัดกุม รวมถึงการปรับตัวต่อกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้นและการแข่งขันจากผู้ให้บริการเดิมและผู้เล่นใหม่ โดยเคทีซีพร้อมที่จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถจัดการหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นธรรม และตอบโจทย์รูปแบบการใช้ชีวิตที่ปรับเปลี่ยนตามยุคสมัย

 

ทิศทางธุรกิจเคทีซีในปี 2568 จะนำพาองค์กรสู่องค์กรดิจิทัลอย่างยั่งยืนด้วย 3 องค์ประกอบ คน ระบบและเทคโนโลยี เราเชื่อมั่นว่าการทำความเข้าใจแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และการวางแผนกลยุทธ์ที่รอบคอบ จะช่วยให้เคทีซีสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนในยุคที่โลกเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เรามุ่งมั่นสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมไทย ด้วยบริการทางการเงินที่ทันสมัยและครบวงจร พร้อมเป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการขยายผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อเสริมสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงิน และขยายฐานลูกค้าให้กว้างขึ้น เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำในตลาดสินเชื่อผู้บริโภคและสนับสนุนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนในปี 2568 และต่อไปในอนาคต” 

 

ผลการดำเนินงานในปี 2567 เคทีซีทำกำไรสุทธิ 5,549 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรก และคาดว่าจะบรรลุเป้าหมายกำไรสุทธิ 7,295 ล้านบาทในสิ้นปี สำหรับปี 2568 บริษัทตั้งเป้ากำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยพอร์ตสินเชื่อรวมคาดว่าจะเติบโตในอัตรา 4-5% พร้อมรักษาคุณภาพของพอร์ตสินเชื่อให้มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือ NPL (Non-Performing Loan) ไม่เกิน 2.0% เคทีซียังวางแผนเพิ่มยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต 10% โดยใช้กลยุทธ์สร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า และขยายผลิตภัณฑ์บัตรกดเงินสด “เคทีซี พราว” (KTC PROUD) เติบโต 3% และยอดลูกหนี้ใหม่ของสินเชื่อ “เคทีซี พี่เบิ้ม รถแลกเงิน” เท่ากับ 3,000 ล้านบาท ด้วยโซลูชันการเงินเฉพาะบุคคลที่    ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค