posttoday

เปิดรายได้ “เคโฟร์” หลังสำนักงาน กสทช.สั่งหยุดจำหน่าย-แจกซิม หวั่นลวงลงทุน

19 ธันวาคม 2567

กสทช.ชี้ลงพื้นที่ตรวจพบพิรุธ ไม่มีการตั้งตู้เติมเงินจริง แจ้งรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท แต่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 5 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท ใน 2 ปี มีซิมใช้งานอยู่ 4 หมื่นเลขหมาย เติมเงินเฉลี่ย เลขหมายละ 38 บาทเท่านั้น

KEY

POINTS

  • แจ้งรายได้ 5 ล้าน แต่เพิ่มทุนเป็น 500 ล้านใน 2 ปี
  • ซิมใช้งาน 40,000 เลขหมาย เติมเงิน 38 บาทต่อเบอร์
  • เตรียมเพิกถอนใบอนุญาต หากผิดจริง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า จากกรณีมีการร้องเรียน บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) เกี่ยวกับการลงทุนตู้เติมเงินที่ใช้ชื่อ “เคธี่ปันสุข” ที่ให้ผลตอบแทนสูง โดยบริษัทมีการตั้งกลุ่มไลน์โฆษณาชักชวนให้ลงทุน และแจ้งกับสมาชิกในกลุ่มไลน์ว่า บริษัทได้รับใบอนุญาตจากสำนักงาน กสทช. เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ลงทุน นั้น 

ทางสำนักงาน กสทช. ได้เร่งตรวจสอบ ควบคู่ไปกับการออกข่าวประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อช่องทางต่าง ๆ ในเดือน ก.ค. 2567 พร้อมทั้งมีการหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมสอบคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และได้ให้บริษัท เคโฟร์ฯ เข้าชี้แจง เพื่อรวบรวมข้อเท็จจริงต่อเนื่อง 

ทั้งนี้จากการตรวจสอบธุรกิจของ เคโฟร์ฯ เป็นผู้ได้รับใบอนุญาต   เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน หรือบริการ MVNO  จาก กสทช. แต่ธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” และบริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. แต่ต้องขอใบอนุญาต จากธนาคารแห่งประเทศไทย ขณะที่ธุรกิจขายตรงอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง

นายไตรรัตน์ กล่าวต่อว่า สำนักงาน กสทช. ได้มีการตรวจสอบข้อมูลการประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท เคโฟร์ฯ พบว่า ปัจจุบันบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับจัดสรรประมาณ 331,000 เลขหมาย โดยช่วง 3 เดือนหลัง ได้แก่ เดือน ก.ย. 2567 มีเลขหมายที่ใช้งานจริงประมาณ 33,000 เลขหมาย  มียอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,286,000 บาท

เดือน ต.ค. 2567 มีเลขหมายใช้งานจริงประมาณ 42,000 เลขหมาย  ยอดการเติมเงินออนไลน์ประมาณ 1,020,000 บาท และ

เดือน พ.ย. 2567 ใช้งานจริงประมาณ 46,000 เลขหมาย ยอดการเติมเงินออนไลน์ 1,742,000 บาท ซึ่งหากนำยอดการใช้จ่ายจริงในเดือน พ.ย. มาคำนวณจะพบว่ามีการเติมเงินเฉลี่ยเพียงเลขหมายละ 38 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ ในปี 2566 บริษัท เคโฟร์ฯ ได้ชำระค่าธรรมเนียมจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับสำนักงาน กสทช. เพียง 7,000 บาท ซึ่งคำนวณจากรายได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประมาณ 5 ล้านบาท

ดังนั้นจึงมีข้อสังเกตว่าในการประกอบกิจการโทรคมนาคม ระหว่างปี 2566-2567 บริษัท เคโฟร์ฯ มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนบริษัทจาก 5 ล้านบาทในปี 2565 เป็น 500 ล้านบาท ในปี 2567  

การเพิ่มทุนจดทะเบียนดังกล่าวจะต้องพิจารณาต่อไปว่าการประกอบธุรกิจดังกล่าวนั้นมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายจูงใจให้ผู้ใช้บริการของตนโดยมอบผลประโยชน์ตอบแทนให้แก่ผู้ใช้บริการอันเป็นการแสวงหาผลประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากการให้บริการโทรคมนาคมตามประกาศ กสทช.หรือไม่

จากการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบศูนย์บริการของ เคโฟร์ ของสำนักงาน กสทช. ภาค และสำนักงาน กสทช. เขต พบว่า ศูนย์บริการบางแห่งมีการปิดล๊อกประตูเข้า-ออก บางแห่งพบว่ามีตู้เติมเงิน แต่มีสภาพที่ไม่พร้อมใช้งาน บางแห่งไม่พบตู้เติมเงินแต่อย่างใด  จากที่ได้แจ้งว่ามีตู้เติมเงิน 15,000 ตู้ และเมื่อโทรสอบถามได้รับแจ้งจากผู้ดูแลศูนย์บริการว่ายังคงเปิดให้บริการ และมีการขายซิมการ์ดอยู่ 

สำนักงาน กสทช. ได้สั่ง บริษัท เคโฟร์ฯ ให้หยุดจำหน่าย หรือ แจกซิมการ์ด ในระหว่างรอผลตรวจสอบจาหน่วยงานต่างๆ แล้ว โดยในประเด็น เรื่อง การเพิ่มทุนจำนวนมากเป็นเรื่องที่ผิดปกติหรือไม่ ต้องเป็นหน้าที่ของ ปปง. และดีเอสไอ เป็นผู้ตรวจสอบ โดยสำนักงานฯ ได้ยื่นเรื่องต่อดีเอสไอ สคบ. ปปง. ธปท. เพื่อให้แต่ละหน่วยงานดำเนินในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปแล้ว 

หากผลการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำ เข้าข่ายผิดกฎหมายและ ประกาศของ กสทช.นั้น ก็จะมีการลงทุนทางปกครอง ตั้งแต่ พักใบใช้ และเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป ซึ่งก็จะมีมาตรการเยียวยาลูกค้าที่มีการใช้งานอยู่ประมาณ 46,000 เลขหมายต่อไป

โพสต์ทูเดย์ ค้นหาข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด เปิดดำเนินการตั้งแต่ 16 พ.ย. 2561 รายชื่อกรรมการคนเดียว คือ นางสาวพรพิมล สีลาดเลา 

รายได้ปี 2562 อยู่ที่ 97,479.37 บาท 
กำไร 18,303.12 บาท

รายได้ปี 2563 อยู่ที่ 52.71 บาท 
ขาดทุน  12,207,690.42 บาท 

รายได้ปี 2564 อยู่ที่ 63,164,638.15 บาท
ขาดทุน 18,622,747.40 บาท

รายได้ปี 2565 อยู่ที่ 23,911,721.93 บาท
กำไร 4,499,569.42 บาท 

รายได้ปี 2566 อยู่ที่ 72,060,126.70 บาท
ขาดทุน 42,943,226.06 บาท 

นอกจากนี้ยังพบว่ามีการเปลี่ยนแปลงทุนการจดทะเบียน 5 ครั้งหลังจากที่แจ้งทุนจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 16 พ.ย. 2561 ที่ 5 ล้านบาท เป็น 25 ล้านบาท วันที่ 1 ธ.ค. 2565,50 ล้านบาท วันที่ 22 ธ.ค. 2565,90 ล้านบาท วันที่ 20 ธ.ค. 2566 , 150 ล้านบาท วันที่ 30 เม.ย. 2567 ,400 ล้านบาท วันที่ 31 ก.ค. 2567 และ 500 ล้านบาท วันที่ 4 ต.ค. 2567 โดยบริษัทเป็น MVNO ของ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT