เปิดหลักฐาน สั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว 3,668.5 เมกะวัตต์
เปิดหลักฐานสั่งชะลอรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 3,668.5 เมกะวัตต์ “พีระพันธุ์” อ้างกฤษฏีกาไฟเขียว ขณะที่กฤษฎีกาตอบชัดเป็นเพียงการหารือด้วยวาจา แหล่งข่าวชี้ กกพ.เป็นองค์กรอิสระ กระทรวงพลังงานไม่มีอำนาจ เป็นเหตุนายกฯไม่นั่งประธานประชุมบอร์ดกพช.หวั่นผิดกฎหมาย
การประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565 – 2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ กพช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 2566 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
ทั้งนี้ มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้ง คณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวได้ ทั้งนี้ มอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้า ทราบมติ กพช. ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านั้น เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2567 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in-Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567
ด้านนายแพทย์พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ตามหลักการแล้ว กกพ.ถือเป็นองค์กรอิสระที่มีกฎหมายกำกับดูแลเป็นการเฉพาะ แต่อย่างไรก็ตาม กรณีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าว เป็นการดำเนินการโดยอ้างมติของ กพช. เมื่อปี 2566 คือ กพช.ในสมัยรัฐบาลที่แล้ว
ดังนั้นก็มีความสงสัยอยู่แล้ว อีกทั้งเรื่องนี้มีความซับซ้อนอยู่ ดังนั้น ในการประชุม กพช. เมื่อเดือนพ.ย. 2567 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มอบหมายให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ไปศึกษา ข้อเท็จจริง โดยมีการแจ้งขอให้ชะลอการรับซื้อไปก่อน แต่ปรากฏว่า กกพ. ไม่ได้ชะลอ ยังคงเดินหน้าคัดเลือก ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม
ไทม์ไลน์หลักฐานชะลอโครงการไฟฟ้าสะอาด
14 พ.ย. 2567 นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือถึงนายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ให้ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) เป็นการชั่วคราว
ระบุว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tanf (FIT) ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 9 มีนาคม 2566 ปริมาณ 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 แมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน
ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการมาก่อนที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) จะเข้ารับตำแหน่ง ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานนั้น จากข้อสอบถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ประกอบกับต่อมามีการโต้แย้งจากบุคคลภายนอกสอดคล้องกับข้อสอบถามดังกล่าวในบางประเด็น
อีกทั้งนายกรัฐมนตรี (นางสาวแพทองธาร ชินวัตร) ได้ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าวนี้ด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค) จึงหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในเบื้องต้นเห็นควระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
ด้วยเหตุข้างต้น จึงขอให้ท่านระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมสำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื่อเพลิงและชยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tarlf (FIT) ตามโครงการข้างต้นไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
11 ธ.ค. 2567 สำนักงาน กกพ. ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอข้อมูลความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา
ดังนั้นวันที่ 19 ธ.ค. 2567 สำนักงาน กกพ. จึงได้ส่งหนังสือถึง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง การระงับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed - in Tarff (FIT) เป็นการชั่วคราว โดยอ้างถึง หนังสือกระทรวงพลังงาน ที่ พน 0100/754 ลงวันที่ 14 พ.ย. 2567
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 54/2567 (ครั้งที่ 939) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2567 มีมติให้สำนักงาน กกพ. มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อขอขอรายละเอียตตามที่ท่านปรึกษาหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นควรระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมฯสำหรับนำมาใช้เป็นแนวทางดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศและมติที่เกี่ยวข้อง
16 ธ.ค.2567 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกามีหนังสือแจ้งมายังเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ว่า ไม่มีหนังสือหารือเรื่องนี้ มายังสำนักงานฯ มีเพียงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหารือด้วยวาจาเกี่ยวกับอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งเลขาธิการฯ ได้ตอบข้อหารือด้วยวาจาตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามสิ่งที่ส่งมาด้วย
แหล่งข่าวระดับสูงระบุว่า สำนักงาน กกพ. ถือเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงในการเปิดรับซื้อไฟสะอาดในโครงการดังกล่าว อีกทั้ง การที่นายพีระพันธุ์ จะขอให้ชะลอการเปิดประมูลจากมติกพช. วันที่ 9 มี.ค.2566 โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานนั้น จึงต้องอาศัยอำนาจของประธาน กพช.เป็นผู้อนุมัติ จึงเป็นเหตุให้นายทักษิณ ชินวัตร แนะนำ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไม่เข้าประชุมเป็นประธานกพช.นัดล่าสุด เพราะมีความเสี่ยงที่จะทำผิดกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ สำนักงาน กกพ. อยู่ระหว่างรอมติกพช.จากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะเลขา กพช. ก่อนและจะนำหารือในบอร์ด กกพ. ตามขั้นตอนต่อไป