“TDRI” เตือนรัฐบาล เข็นแจกเงิน 10000 เฟส3 เสี่ยงกระทบหนักฐานะการคลัง
นักวิชาการTDRI ประสานเสียงธปท. หั่นงบประมาณแจกเงินหมื่นเฟส3 เพิ่มลงทุนภาครัฐกระตุ้นศก.โตระยะยาว ห่วงทำภาระหนี้การคลังพุ่ง ลามถูกลดเครดิตประเทศ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า ตนมีเห็นสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เสนอให้รัฐบาลนำเงินบางส่วนจากโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท (เฟส3) ไปใช้สำหรับการลงทุนภาครัฐ โครงการพัฒนาบุคคลากร ที่นอกจากกระตุ้นเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
ซึ่งในภาพรวม การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการแจกเงินดิจิทัลไม่มีความเหมาะสมในภาพรวมโดยมีหลากหลายสาเหตุ เช่น สถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจไม่ได้ถดถอยจนต้องแจกเงินถึง 5 แสนล้านบาท รูปแบบการกระตุ้นยังไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเมื่อเทียบกับกลไกเดิมที่เคยดำเนินการ เช่น โครงการคนละครึ่ง หรือแม้แต่การพัฒนาในรูปแบบเงินดิจิทัลก็เป็นการสร้างระบบที่ซ้ำซ้อนกับสิ่งที่มีอยู่เช่น พร้อมเพย์
พอแยกส่วนมาเป็น 3 เฟส จะพบว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะกระจายได้นานขึ้นจาก 1 เป็น 3 ระยะ ซึ่งเฟสแรกจะดูมีความพอดีของทั้งขนาดเม็ดเงินที่กระตุ้นและกลุ่มเป้าหมายที่มีความเปราะบาง พอมาระยะที่สองจะเริ่มมีความเหมาะสมน้อยลง เพราะเริ่มกระตุ้นมากเกินความจำเป็น และกลุ่มเป้าหมาย (ผู้สูงอายุ) มีความเปราะบางแค่บางส่วน และเมื่อไปดูเฟสสามที่ไม่น่าจะมีเหตุผลทางวิชาการมาสนับสนุนเลยเพราะเป็นส่วนต่อขยายจากการกระตุ้นที่มากเกินความจำเป็น และกลุ่มเป้าหมายก็ไม่มีความเปราะบาง
ดังนั้น ผมเห็นด้วยกับ ธปท. ว่าการแจกเงินเฟส3 หรือแม้แต่เฟส2 ก็ควรเอาไปทำเรื่องระยะยาว มากกว่าการกระตุ้นในระยะสั้น
ทั้งนี้ การแจกเงิน 10,000 บาทร่วมกับแผนการจ่ายงบประมาณแบบขาดดุล (รัฐจ่ายมากกว่ารับ) จะทำให้หนี้สาธารณะเข้าใกล้ระดับหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่กำหนดตามกฏหมาย (กรอบหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิน 70%)ซึ่งจะเป็นความเสี่ยงมาก หากเป็นการดำเนินการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น อัดฉีดแล้วก็หมดไป ถ้าใช้จ่ายสูงแต่มีหวังผลอนาคตแบบที่ธปท. แนะนำยังอุ่นใจได้ว่าเป็นการสร้างพื้นฐานเพื่อให้เศรษฐกิจในอนาคตดีขึ้น และทำให้รายได้ภาครัฐมีแนวโน้มมากขึ้น สามารถเอาเงินมาใช้หนี้ที่ก่อขึ้นมาได้
เมื่อระดับหนี้สาธารณะเข้ามาใกล้ระดับเพดานตามกฎหมาย แม้ว่ากฏหมายจะเปิดช่องให้ปรับเพดานเพื่อกู้มาใช้กรณีฉุกเฉินได้ แต่ก็เป็นสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงต่อการบริหารประเทศในระยะยาวมาก เพราะหนี้ที่สูง ภาระดอกเบี้ยก็สูงตามไปด้วย และอาจถูกปรับลดเครดิตประเทศทำให้ต้นทุนทางการเงินสูงขึ้น การก่อหนี้ที่ไม่จำเป็นอาจกลายเป็นวัฒนธรรมทางการเมืองที่แก้ได้ยาก
ส่วนกรณีที่รัฐบาลมั่นใจว่า หลังจากที่รัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ตั้งแต่ไตรมาส3 ปี 2567 อาทิ แจกเงิน 10,000 บาท เฟส 1 และ2 ,โอนเงินชาวนาไร่ละพัน , Easy E-Receipt จะส่งให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 1.5 แสนล้านบาท จะช่วยผลักดันให้จีดีพีไทยปี 2568 เติบโตได้ 3% นั้น มองว่ามีความเป็นไปได้ แต่ก็ไม่ง่าย เพราะเศรษฐกิจยังมีความเสี่ยงมากมายที่รออยู่ เช่น สงครามการค้า ปัญหาเศรษฐกิจจีน ปัญหาหนี้ครัวเรือน หนี้ธุรกิจไทย ความถดถอยของความสามารถในการแข่งขัน