เงินเฟ้อธ.ค.ปี67 สูงขึ้น 1.23% เข้ากรอบเป้าหมายครั้งแรกในรอบ 7 เดือน
พาณิชย์ เผยเงินเฟ้อธ.ค.67 สูงขึ้น 1.23% บวกต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 เข้ากรอบเป้าหมายเงินฟ้อครั้งแรกในรอบ 7 เดือน ปัจจัยมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมัน-ราคาสินค้าในกลุ่มอาหาร-เครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สสด คาดทั้งปีสูงขึ้น 0.40% ปี68 อยู่ 0.3-1.3%
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของไทยเดือนธันวาคม 2567 เท่ากับ 108.28 เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2566 ซึ่งเท่ากับ 106.96 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้น 1.23% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน โดยปัจจัยหลักมาจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นผลจากฐานราคาต่ำในปีก่อน รวมถึงราคาสินค้าในกลุ่มอาหารและเครื่องดื่มปรับตัวสูงขึ้นจากราคาผลไม้สด เครื่องประกอบอาหาร และเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สำหรับราคาสินค้าและบริกการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
เงินเฟ้อเดือนม.ค.68 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 1.25% โดยไตรมาส1 ปีนี้จะสูงขึ้นกว่า 1% จากการตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่เพดานไม่เกิน 33 บาท/ลิตร ของรัฐบาล หลังจากนั้นจะลดลงในไตรมาส2 และ3 ก่อนจะปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้งในไตรมาส4
อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยสูงขึ้น0.95% ซึ่งยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำอันดับ 19 จาก 129 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2ในกลุ่มประเทศอาเซียนจาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข คือ บูรไน อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว
ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 0.79% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่สูงขึ้น 0.80% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน
โดยในปี 2567 กระทรวงพาณิชย์ คาดเป้าหมายเงินไว้ในกรอบ 0.2-0.8% ขณะที่กรอบนโยบายการเงิน หรือเป้าหมายเงินเฟ้อ ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ที่ตกลงร่วมกันไว้ อยู่ที่ 1-3%
สำหรับ แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ทั้งปี 2568 ยังคงคาดการณ์ว่าจะอยู่ระหว่าง 0.3 – 1.3% (ค่ากลาง 0.8%) ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยมีปัจจัย ได้แก่ เศรษฐกิจไทยปี 2568 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปี 2567 ทั้งการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชน รวมถึงแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้อุปสงค์ต่อสินค้าและบริการปรับตัวเพิ่มขึ้น และ ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศที่กำหนดเพดานไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในไตรมาสที่ 1 และ 2 ของปี 2567
ขณะที่ปัจจัยที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่ ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดค่าไฟฟ้าและการตรึงราคาก๊าซ LPG ฐานราคาผักและผลไม้สด ปี 2567 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์เอลนีโญและลานีญา ขณะที่ในปี 2568 คาดว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่รุนแรงและส่งผลกระทบต่อราคาไม่มากนัก และ การชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์และการจำหน่ายรถยนต์ภายในประเทศ จะส่งผลให้ค่าเช่าบ้านและราคารถยนต์เพิ่มขึ้นอย่างจำกัด