posttoday

คุยกับ CEO “พิทยา วรปัญญาสกุล” กับ KTC ในยุคดิจิทัลและการใช้ AI ในองค์กร

12 มกราคม 2568

คุยกับ “พิทยา วรปัญญาสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) CEO หญิงแกร่งและเก่งของ KTC กับประสบการณ์ 30 ปีที่ไม่ธรรมดาในงานด้านการตลาดบัตรเครดิต

“พิทยา วรปัญญาสกุล” ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งสูงสุดของ KTC ต่อจาก “ระเฑียร ศรีมงคล” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 ในองค์กรที่มีวัฒนธรรมองค์กรแข็งแกร่งและน่าสนใจ ในยุคที่ digital transformation และ AI กำลังมีบทบาทสำคัญในองค์กรยักษ์ใหญ่ทั่วโลก น่าสนใจว่า CEO อย่างคุณพิทยามีมุมมองและการรับมือกับนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วนี้อย่างไร ไปจนถึงการทำงานร่วมกับเจนเนอเรชั่นต่างๆ ในองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความหลากหลายมาอย่างยาวนาน

 

ปรัชญาในการทำงานของพิทยา

ความพยายามในการเรียนรู้ คือโลกทุกวันนี้มันเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ใครจะไปคาดคิดว่า เราอายุขนาดนี้ยังต้องมาเรียนรู้เรื่อง AI หรือแม้กระทั่งเรื่องการเงินที่มันลึกซึ้งมากขึ้น ที่ผ่านมาคิดว่าในการทำงานด้านการเงินการบริหารเราว่าเราลงลึกแล้วแต่กลับยังไม่พอ จึงคิดว่าเราน่าจะใส่ใจหรือทำได้ดีกว่านี้ ดังนั้น สิ่งที่คิดว่าเป็นปรัชญาก็คือ จากนี้ไปเราควรจะเรียนรู้มากขึ้น

 

เพราะมองว่าคนเราจะก้าวไปข้างหน้าได้ ข้อหนึ่งคือ ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อม ข้อสองเมื่อมีโอกาสเข้ามาก็ควรพิจารณาว่ามันเหมาะกับตัวเราไหม ข้อสาม ตัดสินใจ ต้องตัดสินใจเมื่อโอกาสมาแล้วแล้วมันใช่ตัวเรา ก็ตัดสินใจเลย แม้จะมีโอกาสเข้ามาเรื่อยๆ แต่เราไม่รู้ว่าโอกาสจะมาเมื่อไหร่ แต่เราพร้อมหรือยัง สำหรับพี่มันคือการเตรียมความพร้อม

 

อย่างเช่น วันนี้บางอย่างพี่ก็พร้อมเช่นในเรื่องของการตลาด เรื่องของธุรกิจบัตรเครดิต แต่พอมาเรื่องเรื่องนี้พี่อาจยังไม่เก่งเหมือน CEO ท่านเดิม (คุณระเฑียร ศรีมงคล) ที่เก่งมากๆ แต่พี่ก็ไม่กลัว ที่จะทำตัวให้พร้อมและเรียนรู้

 

“พิทยา วรปัญญาสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร “เคทีซี” หรือบริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

นิยามตัวตน

ไม่หยุดที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ

 

การทำงานกับคนเจนเนอเรชั่นต่างๆ มีหลักในการบริหารงานอย่างไร กับช่องว่างที่เกิดขึ้น

มองว่าไม่ว่าคุณจะอายุมากอายุน้อยก็ต้องปรับตัวเข้าหากัน เคารพกันและกัน เด็กรุ่นใหม่อาจคิดไม่เหมือนกัน เช่น เมื่อก่อนมีคำถามว่า เราจะ work from home ได้หรือไม่ ซึ่งคุณระเฑียรจะไม่เชื่อเรื่อง work from home ช่วงโควิดพวกพี่ซึ่งเป็น first line หรือแม้แต่ second line มาทำงานทุกวัน ไม่เคยที่จะ work from home การ work from home มันยากที่จะคอนโทรล เคยบอกน้องๆ เหมือนกันว่าถ้าอยากจะ work from home บอกมาว่าจะทำให้พี่รู้ได้อย่างไรว่าเราทำงาน คือเราต้องมาตกลงร่วมกัน

 

คิดอย่างไรกับ Digital Transformation และการใช้ AI ในองค์กร

พี่ว่า AI เป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจ ต้องรู้ ปีนี้เราลองศึกษาดู แค่เราลองทำโครงการเล็กมากๆ ในเรื่องนี้แค่โครงการเดียวก็ใช้เงินราว 30 ล้าน แล้วมันยังไม่ชัดเจน เป็นแค่ use case (โครงการเบื้องต้น)  ดังนั้น ถ้ายังเป็นแบบนี้ถามว่าเราสามารถมีวิธีอื่นไหมในการลงมือทำ แล้วมันก็มี ดังนั้นถ้าพี่คิดถึงการใช้เทคโนโลยี AI คิดว่าเราต้องมาเทรนเดต้าเอง และคิดว่าเวลาที่เราทดลองแล้วทำออกไปแล้วมันสเกลออกไปได้ไหม มันจะทำเงินต่อไปได้เยอะแค่ไหน ถ้าเกิดทดลองไปแล้วถึงเวลานำไปปฏิบัติงานจริงมันไม่ได้จะทำอย่างไรเพราะมันคือการลงทุนของเรา

 

“มองว่าคนและระบบคือ success factor หรือปัจจัยสู่ความสำเร็จของการทำ Digital transformation เพราะคนและระบบต้องคู่กัน อีกส่วนคือวัฒนธรรมองค์กร เพราะว่าถ้าคนไม่ตื่นเต้นกับมัน คนก็จะไม่เห็นคุณค่า เพราะฉะนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะกระตุ้น ส่งเสริม ให้คนเห็นความสำคัญและมีการบริหารจัดการให้มีความปลอดภัยด้านข้อมูล"

 

สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร ที่ให้ความสําคัญในเรื่องของคน กระบวนการ และเทคโนโลยี เพราะเมื่อมองจากอดีตที่ผ่านมาคนและกระบวนการพร้อมแต่ระบบ IT อาจจะยังไม่ support ได้เต็มที่ ดังนั้นในศักราชใหม่ KTC จึงได้ขยายงบด้าน IT เพิ่มขึ้นเฉียดหลักร้อยล้านบาท

 

โดยเฉพาะในเรื่องของกิจกรรมที่เป็นมิจฉาชีพทั้งหลายที่จะต้องรับมือ เพื่อให้ลูกค้าใช้บัตรหรือใช้สินเชื่อได้อย่างปลอดภัย พี่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สําคัญมากสําหรับในวันนี้ คือเรื่องความสําคัญของการดูแลรักษาข้อมูล

 

เราจะใช้ดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน Digital Transformation คือกระบวนการที่เราจะเปลี่ยนแปลงและพัฒนาวิธีการทํางาน โดยใช้เรื่องเทคโนโลยีมาช่วย เพื่อเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน เมื่อเราสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ และลดค่าใช้จ่ายได้ การเติบโตจะยั่งยืน แต่ทั้งนี้ การทำ Digital Transformation เป็นเรื่องระยะยาว เพราะเทคโนโลยีเปลี่ยนไปตลอดเวลา ความต้องการของคนเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

 

“เราพูดเสมอว่าโครงสร้างหรือรากฐานที่แข็งแรงของ เคทีซี มาจาก 3 เรื่อง คือ คน กระบวนการ และเทคโนโลยี เคทีซี เติบโตมาได้ด้วยความแข็งแกร่งจากทั้ง 3 ตัวนี้ เป็น foundation ที่เราจะต่อยอดด้วย digital transformation”