เปิดรายได้ OPPO-Realme ในไทย 5 ปี กวาดรายได้เหยียบแสนล้าน
OPPO-Realme ยอมรับ แอปกู้เงินเถื่อน Fineasy ติดตั้งมาจากโรงงาน และไม่ได้ขออนุญาตจากแบงก์ชาติ ขณะที่พบรายได้ 5 ปี ทั้ง 2 แบรนด์สร้างรายได้เหยียบแสนล้านบาท ล่าสุดปี OPPO กวาดรายได้ปี 66 กว่า 1.5 หมื่นล้าน ขณะที่ Realme รายได้ 4.7 พันล้านบาท
จากกรณีผู้ใช้งานสมาร์ทโฟน พบการติดตั้ง Fineasy แอปพลิเคชันกู้เงิน บนโทรศัพท์มือถือแบรนด์ OPPO และ Realme แบบอัตโนมัติ โดยผู้ใช้งานไม่ได้เป็นผู้ดาวน์โหลดเอง อีกทั้งยังไม่สามารถลบแอปพลิเคชัน ดังกล่าวออกได้อีกด้วย
ล่าสุด วันนี้ (13 ม.ค. 2568) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เชิญทั้ง 2 บริษัทคือ บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO และ บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme โดยตัวแทนจากบริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป กล่าวยอมรับว่า Fineasy ไม่ได้ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ และเป็นการติดตั้งมาจากโรงงาน ขณะที่ตัวแทนจากบริษัท โปรทา กล่าวยอมรับไปในทิศทางเดียวกับ โพสเซฟี่ กรุ๊ป ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่า ทั้ง OPPO และ Realme เป็นเจ้าของเดียวกันและมาจากโรงงานเดียวกัน
สำหรับรายได้ 5 ปี ของทั้ง 2 บริษัท จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า
บริษัท โพสเซฟี่ กรุ๊ป จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ OPPO ทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท จดทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 5 มี.ค. 2552
ปี 2562 รายได้ 18,583,286,794 บาท
กำไร 167,924,094 บาท
ปี 2563 รายได้ 16,601,468,742 บาท
กำไร 192,419,222 บาท
ปี 2564 รายได้ 19,113,195,721 บาท
กำไร 165,902,794 บาท
ปี 2565 รายได้ 18,369,397,362 บาท
กำไร 125,951,136 บาท
ปี 2566 รายได้ 15,009,781,879 บาท
กำไร 88,896,009 บาท
บริษัท โปรทา จำกัด ตัวแทนจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ Realme ทุนจดทะเบียน 20 ล้านบาท จดทะเบียนตั้งแต่ วันที่ 16 ส.ค. 2562
ปี 2562 ยังไม่มีรายได้
ขาดทุน 221,220 บาท
ปี 2563 รายได้ 9,681 บาท
ขาดทุน 1,182,744.03 บาท
ปี 2564 รายได้ 15.91 บาท
ขาดทุน 5,082,964 บาท
ปี 2565 รายได้ 1,854,981,773 บาท
ขาดทุน 50,983,883 บาท
ปี 2566 รายได้ 4,751,711,132 บาท
ขาดทุน 717,077,784 บาท
ขณะที่แอปพลิเคชัน สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล ที่ได้รับอนุญาตจาก แบงก์ชาติ อย่างถูกต้อง มีแค่ 10 รายเท่านั้น (ให้บริการจริงแค่ 7 ราย) ตรวจสอบได้จาก หน้าเว็บไซต์ ธปท. ประกอบด้วย
บริษัท ซีมันนี่ (แคปปิตอล) จำกัด
บริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด
บริษัท จีฟิน เซอร์วิสเซส (ที) จำกัด - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท อบาคัส ดิจิทัล จำกัด - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ
บริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
บริษัท อยุธยา แคปปิตอล เซอร์วิสเซส จำกัด
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท แรบบิท แคช จำกัด - ยังไม่ได้เริ่มให้บริการ