ภาคเอกชน หนุนรัฐใช้มาตรการการค้าเข้มข้น-เชียร์ก.อุตฯคุมสินค้า มอก.
ภาคเอกชน หนุนมติกกร. เร่งภาครัฐใช้มาตรการทางการค้าเข้มข้น ป้องกันการทะลักของสินค้าต่างประเทศ เชียร์กระทรวงอุตสาหกรรมเข้มคุมสินค้ามอก. -จัดระเบียบโรงงานป้องกันภัยซ้ำซาก
นายนาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประธานกิตติมศักดิ์กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก และแกนนำ 10 สมาคมเหล็ก แสดงความเห็นด้วยยิ่งกับมติล่าสุดเดือนม.ค. 2568 ของ คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย ได้แสดงความกังวลต่อการไหลทะลักเข้ามาของสินค้าจากต่างประเทศ และเสนอต่อรัฐบาล ว่า
นอกจากมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (Anti-Dumping: AD) แล้ว กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาใช้มาตรการอื่นๆ ด้วยตามความจำเป็น ได้แก่ มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (Countervailing Duty : CVD) เพื่อให้การปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับสถานการณ์
นายนาวา เปิดเผยว่า สงครามการค้าโลกในยุคหลังได้เริ่มขึ้น นับตั้งแต่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสมัยแรก และอเมริกาได้ใช้มาตรา 232 (Section 232) อ้างเหตุความมั่นคงของชาติ ตามกฏหมายการขยายการค้า (Trade Expansion Act) ปกป้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard : SG) กับสินค้าเหล็กตั้งแต่ปี 2561 กำหนดอากร 25% กับสินค้าเหล็กทุกประเภท และสงครามการค้าได้ขยายวงโดยสหภาพยุโรปได้ใช้อากร Safeguard 25% กับสินค้าเหล็กเช่นกัน
อเมริกาและสหภาพยุโรปได้ใช้มาตรการดังกล่าวมา 7 ปีต่อเนื่องแล้ว และยิ่งขยายการกีดกันการนำเข้าสินค้าประเภทอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประเทศจีนในวงกว้างและรุนแรงยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ในปี 2567 ประเทศที่มีการส่งออกสินค้าสูงสุดในโลก คือ จีน ส่งออกสินค้ามูลค่ามากถึง 3.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าการส่งออกของประเทศไทยถึง 12.4 เท่าตัว ในระยะหลังนี้เมื่อจีนถูกอเมริกาและสหภาพยุโรปใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเข้มขึ้น จีนได้พุ่งเป้าส่งออกสินค้ามายังประเทศกลุ่ม Belt and Road Initiative มากขึ้นจนมีสัดส่วนการค้ามากกว่า 50% ของการค้าทั่วโลกของจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภูมิภาคอาเซียน
จนกระทั่งจีนขึ้นเป็นทั้งผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่สุดมายังอาเซียน และผู้นำเข้าสินค้าจากอาเซียนมากที่สุดในช่วง 5 ปีหลังสุด ยกตัวอย่างเฉพาะสินค้าเหล็ก ในปี 2567 จีนได้ส่งออกสินค้าเหล็กมาอาเซียนกว่า 40 ล้านตัน คิดเป็นสัดส่วนมากเกือบ 40% ของการส่งออกเหล็กจีนไปทั่วโลก ดังนั้น ประเทศไทยจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการค้าเพื่อปกป้องการจ้างงานของอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบและรักษาเศรษฐกิจหมุนเวียนภายในประเทศไทยด้วย
ระหว่างปี 2554 - ปัจจุบัน ประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนที่มีการใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (Safeguard) ได้แก่ อินโดนีเซีย 25 มาตรการ เวียดนาม 5 มาตรการ ฟิลิปปินส์ 4 มาตรการ มาเลเซีย 3 มาตรการ ในขณะที่ประเทศไทยไม่ได้ใช้มาตรการ Safeguard มากว่า 6 ปีแล้ว และไม่เคยใช้มาตรการตอบโต้การอุดหนุน (CVD) เลย
นายนาวา ชี้ปัญหาสำคัญที่ประเทศไทยต้องดำเนินการป้องกันแก้ไขในช่วงสงครามการค้าโลกรุนแรง ได้แก่ 1.สินค้าจีนซึ่งไปอเมริกาและสหภาพยุโรปได้ยากขึ้น ก็จะยิ่งทะลักมาอาเซียน ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่กล้าใช้มาตรการทางการค้าบางอย่าง 2. ผู้ผลิตในไทยที่ใช้วัตถุดิบจากจีนแล้วส่งออกไปอเมริกา และสหภาพยุโรป จะถูกเพ่งเล็งและอาจถูกใช้มาตรการตอบโต้การหลบเลี่ยง (Anti-Circumvention) สินค้าจากจีนที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด และตอบโต้การอุดหนุนอยู่เดิม
3.การลงทุนจากจีนมาเปิดโรงงานในประเทศไทยจะส่งผลให้ผู้ผลิตสินค้าประเภทเดียวกันที่มีอยู่เดิมและมีกำลังการผลิต (Production Capacity) ล้นเหลืออยู่แล้วในประเทศไทย ต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงจากนักลงทุนจีน จนผู้ประกอบการเดิมบางรายต้องปิดกิจการลง
นายนาวา กล่าวว่า ขณะนี้ภาคเอกชนและประชาชนชื่นชมกระทรวงอุตสาหกรรม นำโดยนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินการหลายมาตรการอย่างเข้มแข็ง ได้แก่ 1. การห้ามตั้งห้ามขยายโรงงานบางประเภทซึ่งประเทศไทยมีกำลังการผลิตสูงเกินพออยู่แล้ว 2. เข้มงวดการดำเนินการทั้งตามพรบ.มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ม.อ.ก.) และ 3.พรบ.โรงงาน โดยชุดตรวจการณ์สุดซอยกระทรวงอุตสาหกรรม
นำโดย น.ส.ฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรมว.อุตสาหกรรม จนมีการสั่งหยุดกิจการหลายแห่งซึ่งผลิตสินค้าไม่เป็นไปตามม.อ.ก.บังคับ และฝ่าฝืนด้านความปลอดภัยในโรงงาน โดยให้กิจการดังกล่าวดำเนินการปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงดำเนินคดีผู้กระทำผิดตามขั้นตอนของกฎหมายอย่างเคร่งครัดโดยไม่หวั่นเกรงผู้มีอิทธิพล เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีก หากเป็นบริษัทที่ละเลยในเรื่องดังกล่าวหรือฝ่าฝืนกฎหมายหลายครั้งซ้ำซาก ควรโดนมาตรการที่เข้มข้นยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ส.อ.ท. นำโดยนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานส.อ.ท. มีนโยบายให้ทุกโรงงานอุตสาหกรรมในประเทศไทยดำเนินกิจการโดยให้ความสำคัญลำดับต้นต่อความปลอดภัยของประชาชนและพนักงาน รับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ มุ่งประโยชน์ที่ยั่งยืน ไม่มุ่งเน้นเพียงเป้าหมายเฉพาะกำไรจากการดำเนินงาน หรือการลดค่าใช้จ่ายด้านต่างๆ จนละเลยการดำเนินการตามกฎหมายโรงงาน หรือมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
ส.อ.ท. จึงสนับสนุนกระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องเข้มงวดกวดขันเพื่อกำจัดและไม่ให้ผู้ประกอบอุตสาหกรรมโดยพฤติกรรมดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อประชาชน ชีวิตพนักงาน มีความเสี่ยงต่อชุมชนรอบข้าง และได้เปรียบผู้ประกอบอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจอย่างมีจริยธรรมและเน้นความยั่งยืนตามหลัก ESG (Environmental, Social and Governance)