3 ค่ายมือถือพร้อมแล้ว มาตรการกำจัดซิมผี แบงก์พร้อมหรือยังกำจัดบัญชีม้า

30 มกราคม 2568

เอ็นที เอไอเอส ทรู ยืนยันพร้อมปฏิบัติตามพ.ร.ก.ปราบแก๊งมิจฉาชีพ เผย มีมาตรการยืนยันตัวตน จำกัดการถือครองซิม กวดขันซิมผีออกจากระบบ ขณะที่แบงก์ยังไม่จำกัดการเปิดบัญชีธนาคาร ด้าน “ประเสริฐ” เตรียมเปิดมาตรการโมบายล์ แบงก์กิ้ง 31 ม.ค.นี้

พ.อ.สรรพชัยย์ หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที เปิดเผยว่า พระราชกำหนด (พ.ร.ก) มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ.2566 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งผ่านความเห็นของ ครม. และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้เดือน ก.พ. 2568 นั้น มีความเห็นว่าเป็นมาตรการที่ดี แต่ต้องให้ความเป็นธรรมกับผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือด้วย  

เนื่องจากที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) หรือ กสทช.มีมาตรการป้องกันซิมผีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการจำกัดการถือครองซิมต่างชาติ การลงทะเบียนยืนยันตัวตน และการยืนยันการถือครองซิมสำหรับคนถือครองซิมตั้งแต่ 5 เบอร์ขึ้นไป 

ขณะที่เอ็นทีเองก็มีการตัดวงจร การใช้งานที่ต้องสงสัย เช่น ไฟเบอร์ออฟติก ที่ลากสายไปยังชายแดน และเป็นที่อยู่ที่มีความเสี่ยง หรือลากสายข้ามแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ได้รับอนุญาต ที่อาจนำไปให้ทางแก็งคอลเซ็นเตอร์ใช้งาน ขณะเดียวกัน ก็ให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบลูกค้าที่มาเปิดใช้งานซิมมือถือ และ อินเทอร์เน็ตบอร์ดแบรนด์ ด้วยการตรวจสอบหลักฐ่นต่างๆ อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้ต้องเสียรายได้เดือนละกว่า 1 ล้านบาท แต่เพื่อเป็นการช่วยแก้ปัญหาของประเทศและความเดือดร้อนของประชาชนก็ยินดีดำเนินการ

เราได้ประสานสั่งการไปยังสาขาบริการลูกค้าต่างๆ ทั่วประเทศ ให้มีความเข้มงวดเรื่องการเปิดซิมการ์ดใหม่ ต้องมีความเข้มงวดมากขึ้น ตามกฎระเบียบของ กสทช.และคงไม่ต้องสำรองเงินสำหรับจ่ายให้ผู้ร้องเรียนกรณีลูกค้าถูกมิจฉาชีพหลอกลวงเงิน ซึ่งขณะนี้ลูกค้าเอ็นทีอยู่ที่ 2 ล้านราย อย่างไรก็ตามอยากเสนอแนะให้ภาครัฐ มีมาตรการหรือเข้มงวดในเรื่องการเปิดบัญชีธนาคารด้วย เนื่องจากปัจจุบัน ไม่ได้มีการกำจัดจำนวนบัญชี ซึ่งทำให้บางคนมีบัญชีธนาคารเป็นร้อยบัญชี  ซึ่งก็อาจนำไปสู่การนำไปใช้เป็นบัญชีม้าได้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอสยินดีสนับสนุนมาตรการปราบปรามมิจฉาชีพของภาครัฐ รวมถึง การหารือในรายละเอียดของกฎหมายร่วมกันต่อไป ซึ่งยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาและประกาศใช้

ดังนั้นขอแนะนำให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อและให้ข้อมูลส่วนบุคคลผ่านการกดลิงก์ แอดไลน์ หรือตอบกลับ SMS รวมถึงงดให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่แหล่งที่ไม่มีความน่าเชื่อถือ โดยหากท่านรับสายที่เข้าข่ายมิจฉาชีพ เมื่อวางสาย สามารถกด *1185# โทรออก ภายใน 5 นาที ระบบจะส่งเบอร์ล่าสุดที่รับสายไปเพื่อตรวจสอบและบล็อกทันที หรือ หากได้รับ SMS ผิดปกติ ก็สามารถโทร.แจ้งผ่านสายด่วน 1185 AIS Spam Report Center ได้ฟรีตลอด 24 ชั่วโมง โดย AIS จะตรวจสอบร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ขณะที่นายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ทรู คอร์ปอเรชั่น ตระหนักถึงความรับผิดชอบที่จะสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการปกป้องคนไทยจากภัยไซเบอร์ที่ปัจจุบันทวีความซับซ้อนและส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและทรัพย์สิน และทรูก็พร้อมปฏิบัติตามที่ ครม. เห็นชอบ 

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงทุนพัฒนาระบบและนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ AI ขั้นสูงยกระดับภารกิจรักษาความปลอดภัยในชื่อ “ทรู ไซเบอร์เซฟ True CyberSafe” ระบบป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพ ทั้งจาก ลิ้งก์แปลกปลอม SMS หลอกลวง และการกรองสายเรียกเข้า โดยนำร่องให้บริการระบบปิดกั้นและแจ้งเตือนการเข้าถึงลิ้งก์แปลกปลอม (Web / URL Protection) ทั้งที่เป็น Blacklist จากภาครัฐ และลิ้งก์ที่มีความเสี่ยง รวมเบื้องต้นกว่า 100,000 ลิ้งก์ และแจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่มีความสุ่มเสี่ยงมากกว่า 7 ล้านสาย

มากกว่า 98% ที่มีการแจ้งเวลามีสายเรียกเข้าแล้วลูกค้าเรากดปฏิเสธ แต่ก็ยังเหลืออีก 2% ที่ลูกค้าก็กดรับ ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่เราพยายามทำมาตลอด แต่หากเป็นตามพ.ร.ก.ที่เพิ่งผ่านครม.ให้ค่ายมือถือมีการรับผิดด้วยนั้น ก็คงต้องพิสูจน์ในหลักฐานไปว่าเป็นที่ระบบเรามีการรั่วไหลหรือไม่

ทั้งนี้ ระบบทรู ไซเบอร์เซฟ ยังเป็นไปตามข้อบังคับ PDPA โดยใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เพื่อปกป้องความปลอดภัยของข้อมูลส่วนตัวของลูกค้า ซึ่งกระบวนการทำงานของ AI ทั้งหมดนี้ ทำให้ทรูสามารถตรวจพบสิ่งผิดปกติ และแจ้งเตือนภัยออนไลน์ จากมิจฉาชีพ ได้อย่างแม่นยำ รวดเร็ว และสามารถป้องกันภัยไซเบอร์จากมิจฉาชีพได้ใน 4 รูปแบบ คือ

1. ลิ้งค์แปลกปลอม ปกป้องลูกค้ามือถือทรู ดีแทค : บล็อก หรือ แจ้งเตือน เมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย หากลูกค้ากดเข้าไป จาก SMS หรือ บราวเซอร์

2. ลิ้งค์แปลกปลอม ปกป้องลูกค้าเน็ตบ้านทรูออนไลน์ : บล็อก หรือ แจ้งเตือน เมื่อมีการเข้าถึงเว็บไซต์ที่อาจเป็นอันตราย บนเว็บบราวเซอร์

3. SMS AI Filter : โดยจะแจ้งเตือนSMS ที่อาจเป็นมิจฉาชีพ ใช้ AI ในการประมวลพฤติกรรมของมิจฉาชีพ 

4. Call AI Filter การกรองสายเรียกเข้า : แจ้งเตือนสายเรียกเข้าที่อาจเป็นมิจฉาชีพ โดยความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐและพันธมิตรเอกชน ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างเต็มระบบทุกรูปแบบในเฟส 2 ราวเดือนมี.ค. 2568 โดยจะบล็อกเลขหมายจากต้นทางทันที หากเบอร์นั้นถูกระบุว่าเบอร์จากมิจฉาชีพ

นางรุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ เปิดเผยว่า แบงก์ชาติ สนับสนุนหลักการของร่าง พ.ร.ก. ดังกล่าว และได้ทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความเห็นเพื่อปรับร่าง พ.ร.ก. ให้สามารถนำมาใช้ในการยกระดับมาตรการป้องกัน และปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้อย่างมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น

รวมถึงการกำหนดกลไกที่ผู้ให้บริการที่เกี่ยวข้องต้องร่วมรับผิดชอบ และชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นหากละเลยการปฏิบัติตามมาตรฐานที่หน่วยงานกำกับดูแลกำหนด ซึ่งเป็นทิศทางนโยบายที่ แบงก์ชาติ ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการผลักดันร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ และเอกชนมาต่อเนื่อง

ส่วนของ แบงก์ชาติ จะมีการประกาศกำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบที่สถาบันการเงินพึงปฏิบัติให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ร่วมกับผู้ให้บริการด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ พ.ร.ก. ฉบับนี้ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องต่อไป

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 31 ม.ค. 2568 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กำหนดจัดงานแถลงข่าว แนวทางการดำเนินการ เรื่อง เจ้าของเบอร์โทรศัพท์มือถือกับเจ้าของบัญชี Mobile Banking โดยจะมีการเชิญตัวแทนจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.),สำนักงานกสทช.และตัวแทนแบงก์ชาติ มาแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งมาตรการนี้แต่เดิมจะเริ่มมาตรการในช่วงเดือน ต.ค. 2567 แต่เลื่อนมาเริ่มเดือน ก.พ.2568 

Thailand Web Stat