“ธนินท์ เจียรวนนท์” มั่นใจเศรษฐกิจไทยมีอนาคต เต็มไปด้วยโอกาสทางการเกษตร
เวทีสัมมนา "Chula Thailand Presidents Summit 2025" โดยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กับครั้งแรกของการรวมตัวสุดยอดผู้นำองค์กรระดับประเทศ ที่รวมนิสิตเก่าจุฬาฯ ในฐานะผู้นำองค์กรชั้นนำของประเทศทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งประสบความสำเร็จในการบริหารงานทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ หนึ่งในนั้นคือ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขึ้นกล่าวถึงอนาคตของประเทศไทยในหัวข้อ “Future Thailand : Next Growth” ว่า อนาคตเศรษฐกิจของประเทศไทยแจ่มใส มีอนาคตแน่นอน ทุกวิกฤตมีโอกาส และเมื่อมีโอกาส ก็มีวิกฤต ได้ “ผมก็ผ่านมาแล้วหลายวิกฤต” เขายืนยัน พร้อมเล่าต่อด้วยว่า หากพูดถึงการใช้พลังงาน เมื่อพลังงานลม พลังงานไฟฟ้า ไม่เพียงพอ พลังงานจากไฟฟ้านิวเคลียร์ ช่วยเสริมได้ เพราะมองว่าเป็นพลังงานสะอาด และปลอดภัย อินโดนีเซีย และ มาเลเซีย ก็มีการออกกฎหมายสนับสนุน
การท่องเที่ยวของประเทศไทย เดินมาถูกทางแล้ว เพราะเป็นสิ่งที่ใกล้ตัว และได้เงินเร็วที่สุด แต่รัฐบาลต้องมีงบประมาณ ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน ว่าคนเที่ยวคือกลุ่มไหน “มีชัดหรือยัง ประเทศไทยยังไม่ชัด” เจ้าสัวซีพี เผย พร้อมอธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวก็เช่นกัน มีผลต่อการท่องเที่ยว
เขากล่าวอีกว่า ประเทศไทยนั้นเต็มไปด้วยโอกาสทางด้านการเกษตร ประเทศไทยได้เปรียบเรื่องการเกษตร เพราะประเทศไทยไม่มีแผ่นดินไหว ไม่มีพายุ เหมือน เวียดนาม จีน ไต้หวัน จะมีก็แต่เรื่องน้ำท่วม ดังนั้นรัฐบาลต้องมีงบประมาณในการทำชลประทาน สร้างเขื่อน และถนนให้ดี ป้องกันน้ำท่วม “แต่วันนี้ยังไม่เห็นเอาจริงเอาจัง” ถ้าทำแบบนี้ได้ เขากล่าวว่า ผลผลิตทางการเกษตรจะเพิ่มขึ้น 5 เท่า เพราะนอกจากผลพวงที่ได้เพื่อการเกษตรแล้ว “รอบๆเขื่อนก็สามารถทำเป็นที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวได้ ” เจ้าสัวธนินท์ สะท้อนมุมมองการต่อยอดนโยบายการเกษตรไปถึงการท่องเที่ยว ที่เปรียบเสมือน 2 หัวใจหลักที่ประเทศไทยมีข้อได้เปรียบในด้านเศรษฐกิจ
เกษตรเป็นน้ำมันบนดิน ใช้ไม่หมด เป็นทรัพย์สมบัติล้ำค่าของประเทศไทย สินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เกือบ 90% เป็นรายได้ของประเทศ
เมื่อขยายลงลึกไปถึงภาคการเกษตรซึ่งเป็นธุรกิจที่ซีพีทำอยู่ เจ้าสัวธนินท์ เล่าว่า ซีพีมีสินค้าที่เกี่ยวกับการเกษตรทุกอย่าง ตั้งแต่ต้นน้ำ ถึงปลายน้ำ ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารของพืช การเลี้ยงสัตว์ การขนส่ง ไปจนถึงค้าปลีก และไปยังโต๊ะอาหารถึงทุกคน “แต่ไม่ใช่ผูกขาดนะ” เขากล่าวย้ำ
นอกจากนี้ ซีพียังใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยธุรกิจด้านการเกษตรหลายภาคส่วน เช่น ไบโอเทคโนโลยี,การใช้โดรนกับพื้นที่การเกษตร 40,000 ไร่ ในการพ่นยาฆ่าศัตรูพืช การใช้รถแทรกเตอร์ไร้คนขับ การเลี้ยงสัตว์ด้วยเทคโนโลยี IoT ผสานเทคโนโลยี AI ในการวัดความชื้น ให้เหมาะสม เป็นต้น
เจ้าสัวซีพี กล่าวเสริมอีกว่า ภาคการเกษตรเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่ไฮเทค และเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของประชาชนมากขึ้น ความไฮเทค เป็นสิ่งที่คนสร้าง และคนก็เป็นคนใช้ ถ้าไม่มีความรู้ จะทำอย่างไร เพราะของใหม่เกิดขึ้นทุกวัน และเจริญขึ้นทุกวัน การค้าปลีก อย่าไปขึ้นราคา เพราะวันนี้ราคาที่ไหนถูกที่สุดมันรู้กันทั้งโลก การมีเครื่องจักรช่วยเพิ่มกำลังการผลิต 5 เท่า
นักธุรกิจต้องมีหน้าที่ ไม่ใช่การขึ้นราคา ธุรกิจมีกำไรก็มาจากประชาชน ถ้าคนไทยไม่รวยขึ้น จะมีกำลังซื้อมาซื้อสินค้าได้อย่างไร ดังนั้นรัฐบาลต้องออกกฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้ประเทศด้วย ทำอย่างไรให้ประเทศและคนไทยร่ำรวย
ประเทศไทยจะแข็งแรงได้นอกจากมาจากมหาวิทยาลัยเป็นหลักในการให้ความรู้ ให้ปัญญา เรียนไปด้วย ทำงานไปด้วย จบมาต้องทำงานได้เลยแล้ว นักธุรกิจก็ต้องช่วย คู่กับนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ประชาชนมีกิน มีใช้