posttoday

เปิดความเห็นเวทีเฮียริ่งประมูลคลื่น พ.ค.68 ปูทาง 6G คาดเงินเข้ารัฐ 1.2 แสนล.

06 กุมภาพันธ์ 2568

เปิดความเห็นเวทีเฮียริ่งประมูลคลื่นรอบใหม่ พ.ค.68 คาดเงินเข้ารัฐ 1.2 แสนล. ปูทาง 6G-AI เอกชนติงราคาสูง ขอยืดระยะเวลาจ่ายค่าคลื่น 10 ปี เผยสนใจคลื่น 3500 MHz แต่ไม่มีประมูลครั้งนี้

สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (สำนักงาน กสทช.) เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล 850 MHz 1500 MHz 1800 MHz 2100 MHz 2300 MHz และ 26 GHz และ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุฯ ที่เกี่ยวข้อง โดย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.กล่าวว่า การประมูลคลื่นครั้งนี้จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ค.2568 หากประมูลได้ทั้งหมด 6 คลื่นย่านความถี่ จำนวน 450 MHz คาดว่าจะนำเงินเข้ารัฐได้ 1.2 แสนล้านบาท 

ประมูลคลื่นปูทางสู่ 6G

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ใช้บริการโทรศัพท์มือถือกว่า 120 ล้านราย โดยใช้เครือข่าย 4G ประมาณ 99.15% และ 5G ประมาณ 91% ทั่วประเทศ มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2572 จะมีความต้องการใช้งานบรอดแบนด์เคลื่อนที่ภายในประเทศมากถึง 1,156 GB ต่อคนต่อปี และจะมีการประยุกต์ใช้ Smart 5G ในภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น การผลิตของภาคการเกษตร การจัดระเบียบเมืองให้ปลอดภัย การพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่แม่นยำ การพัฒนาด้านการศึกษา รวมถึงการพัฒนาระบบการสื่อสารความเร็วสูงให้มีความทันสมัย รองรับกับความต้องการของประชาชน โดยเฉพาะระบบสาธารณสุข การเข้าถึงทางการแพทย์ ที่ต้องอาศัยข้อมูลเพื่อช่วยเหลือชีวิตคนอย่างทันท่วงที 

ดังนั้น กสทช. จึงมุ่งมั่นที่จะขยายเครือข่าย 5G เพื่อให้มั่นใจว่าทุกคนและทุกภาคส่วน จะได้รับความสะดวกสบายในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่สามารถเชื่อมต่อ และส่งข้อมูลได้ในทันที หากมองไปไกลกว่าการจัดสรรคลื่นความถี่ กสทช. มุ่งหวังที่จะผลักดัน ให้เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถเข้าถึงทุกคนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แม้ในพื้นที่ห่างไกล ผ่านระบบโทรคมนาคม ด้วยการใช้ประโยชน์ในระบบสาธารณสุข การเงิน การขนส่ง และการผลิต โดยมีคลื่นความถี่เป็นปัจจัยพื้นฐานของการพัฒนา ซึ่งแน่นอนว่าต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทุกท่านจะเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อนำไปใช้งานในภาคส่วนต่าง ๆ 

เปิดความเห็นเวทีเฮียริ่งประมูลคลื่น พ.ค.68 ปูทาง 6G คาดเงินเข้ารัฐ 1.2 แสนล.

นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.

ประธาน กสทช. กล่าวเพิ่มเติม ว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ การพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลล้ำยุค อย่าง AI ที่ทั้งหน่วยงานรัฐและองค์กรเอกชน เริ่มเตรียมความพร้อมนำไปใช้งานอย่างกว้างขวาง รวมถึงเทคโนโลยีนวัตกรรมอื่น ๆ เช่น 5.5G 6G คลาวด์ และ Use case ใหม่ ๆ ซึ่งต้องอาศัยคลื่นความถี่ และระบบโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ และสอดประสานกัน เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนผ่านระบบอัจฉริยะ แห่งอนาคต นำไปสู่การสร้างความแข็งแกร่งให้กับระบบเศรษฐกิจของประเทศ กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแล จะสร้างความเชื่อมั่นและผลักดันนโยบายจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพ มีความโปร่งใสและยุติธรรม ด้วยการออกแบบหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน และเกิดการแข่งขันอย่างแท้จริงในการประมูล เพื่อให้เกิดการนำคลื่นความถี่ไปต่อยอดการใช้งานที่สร้างคุณค่าให้กับสังคม สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมดิจิทัล ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการเชื่อมโยงกันอย่างสมบูรณ์ นำไปสู่ความสำเร็จในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G and beyond

สำหรับการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ ร่างประกาศ กสทช.ฯ นี้ ได้จัดขึ้นเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 โดยได้เชิญผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. ทั้ง 4 ฉบับข้างต้น ซึ่งสามารถนำส่งแบบแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2568 จนถึงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ในเวลา 16.30 น.

เอไอเอสสนในคลื่น 3500 MHz

ด้านนายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีอัจฉริยะ (Cognitive Tech-Co) มีความพร้อมและสนใจเข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านที่ กสทช. เตรียมเปิดประมูล

พร้อมย้ำว่า อยากให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลนั้น พิจารณาราคาคลื่นความถี่ ที่นำออกมาประมูลให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน ซึ่งหากราคาคลื่นอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ย่อมส่งผลดีต่อการหนุนให้เกิดการลงทุนขยายโครงข่ายสัญญาณให้ครอบคลุมและประชาชนคือผู้ได้รับประโยชน์นั้น โดยเอไอเอส พิจารณาทุกคลื่นความถี่

ส่วนคลื่น 3500 MHz ซึ่งเป็นย่านความถี่หลักของ 5G ระดับสากล ถ้ากสทช. มีแผนจะนำออกมาประมูลในรอบนี้ ก็มีความสนใจ ซึ่งก็ถือว่าเป็นการประมูลล่วงหน้า แต่ก็ยังไม่ได้คำตอบว่าจะนำมาร่วมประมูลในรอบนี้หรือไม่

ทรูติงราคาแพงขอยืดชำระ 10 ปี

ด้านนายจักรกฤษณ์ อุไรรัตน์  หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านกิจการองค์กร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นอันดับต้น ๆ ของเอเชียแปซิฟิค การประมูลที่กำลังจะจัดขึ้น จึงมีความสำคัญในการส่งเสริมความต่อเนื่องในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลของประเทศ อย่างไรก็ตาม ร่างประกาศหลักเกณฑ์การประมูล ที่ กสทช. นำมารับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ 

บริษัทฯ เห็นว่ามีประเด็นที่ควรปรับปรุงเพื่อมุ่งส่งเสริมให้กระบวนการจัดสรรคลื่นความถี่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การจัดให้มีประมูลคลื่นความถี่ทุกย่านพร้อมกัน เพื่อส่งเสริมการแข่งขันและสร้างความโปร่งใสจากการประมูล โดยเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลคลื่นความถี่ได้ทุกย่านพร้อมกันและลดข้อจำกัดจากความไม่แน่นอนในขั้นตอนการประมูล นอกจากนี้ บริษัทฯ เห็นว่าราคาขั้นต่ำ หรือ Reserve Price ที่ระบุในร่างประกาศฯ แม้ว่าจะเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาขั้นต่ำในอดีตแต่ยังสูงกว่าราคาเฉลี่ยของคลื่นความถี่ในย่านเดียวกันในต่างประเทศมาก ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงให้ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้มากเท่าที่ควร และทำให้ประเทศไทยสูญเสียโอกาสในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรโทรคมนาคมของชาติ 

เงื่อนไขการชำระเงินที่ไม่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจของประเทศ และปั่นทอนความสามารถในการลงทุนพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคม โดยกำหนดให้ต้องชำระค่าคลื่นความถี่ 50% ตั้งแต่งวดแรก (ก่อนรับใบอนุญาต) จึงเสนอให้แบ่งชำระค่าคลื่นความถี่เป็น 10 งวดเหมือนการประมูลครั้งที่ผ่านมา 


เอกชน-ภาคประชาชนหนุน 3500 MHz

ผศ.ดร.วิทวัส สิฎฐกุล อาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอิเล็กทรอนิกส์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ  ตั้งข้อสังเกตว่า กสทช. ควรจะตั้งราคา Reserved Price คลื่น 1800 MHz ให้ต่ำลงเนื่องจากความต้องการคลื่นกับ Supply ของคลื่นมีความแตกต่างจากการประมูลในครั้งที่ผ่านๆมา หากตั้งราคาสูงเกินไปโดยอาศัยหลักเกณฑ์ในมิติ 3 ด้าน โดยไม่คำนึงมิติ มูลค่าธุรกิจ อาจจะไม่เหมาะสม เนื่องจากไม่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของผู้รับใบอนุญาตที่อาจจะทำให้ขาดความสามารถในการเพิ่มคุณภาพของเครือข่าย

นราพล ปลายเนตร ตัวแทนภาคประชาชน อดีตพนักงานบริษัทโทรคมนาคม กล่าวว่า คลื่น 3500 MHz เป็นคลื่นความถี่พื้นฐานในการให้บริการ 5G ทั่วโลก ประเทศไทยจึงควรขับเคลื่อนให้ไปตามมาตรฐานโลกด้วย เนื่องด้วยทั้งอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งโทรศัพท์มือถือที่ประชาชนต้องใช้งานก็ต้องรองรับคลื่น 3500 MHz ด้วยเช่นกัน หากไทยใช้คลื่นที่มีมาตรฐานจะส่งผลให้การใช้งานเครื่องมือที่เกี่ยวข้องราคาก็ควรถูกลงด้วยที่ใช้คลื่นเดียวกันทั่วโลก ประชาชนจะได้ไม่เสียเงินซื้อโทรศัพท์ที่มีราคาสูง แต่ไม่ได้ใช้งาน ค่าบริการก็ควรสมเหตุสมผลด้วยเช่นกัน

วิลาส วงศ์แจ่มบุญ  ตัวแทนจากบริษัท ZTE กล่าวว่า การนำคลื่น 3500 MHz มาประมูลเพื่อไม่ให้ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาชน เสียโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี 5G บนคลื่น3500 MHz ที่มี ecosystem ที่สมบูรณ์ที่สุดใน 5G mid band

กสทช.แจงประมูลสล็อตเล็ก สร้างทางเลือก

ด้านพล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านคลื่นความถี่และมาตรฐานทางเทคนิค กสทช. กล่าวว่า สิ่งที่เอกชนต้องการให้ยืดระยะเวลาการชำระค่าประมูลคลื่นความถี่นั้น ทราบว่าสำนักงานกสทช.จะรับฟังความเห็นเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ในวงประชาพิจารณ์มีเรื่องที่ถูกตั้งคำถามดังนี้ การเปิดประมูลเพียงสล็อตละ 5MHz ผู้แทนจากบริษัทวางโครงข่ายเห็นว่าเป็นสล็อตที่เล็กเกินไป ซึ่งสำนักงานกสทช.ได้ชี้แจงว่า เหตุผลที่ทำเช่นนี้ เพราะต้องการให้มีตัวเลือก และราคาไม่สูงเกินไป หากเอกชนต้องการประมูลหลายสล็อต ก็สามารถทำได้ เพราะไม่มีการกำหนดเพดานการประมูล 

อีกประเด็นคือ เอกชนมองว่า คลื่น 1500 MHz และ คลื่น 2100 MHz ที่เป็น TDD นั้น เกรงว่าจะเป็นคลื่นที่ไม่มีระบบนิเวศน์รองรับ แต่สำนักงานกสทช.มองว่า เป็นทางเลือกให้ผู้ประกอบการ โดยคลื่น 1500 MHz เหมาะสำหรับใช้งานเสริมกับคลื่นความถี่อื่นในการดาวน์ลิงก์ได้ หากผู้ประกอบการไม่สนใจ ก็ไม่เป็นไร แต่ดีกว่าปล่อยให้คลื่นอยู่เฉยๆ