"ทรัมป์ 2.0" วิกฤติหรือโอกาสของระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย?

25 กุมภาพันธ์ 2568

ผลกระทบ “ทรัมป์ 2.0” วิกฤติหรือโอกาสของระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย? จากมุมมองดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายสาธารณะ

"ผลกระทบของทรัมป์ 2.0: วิกฤติหรือโอกาสของระบบวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมของประเทศไทย" ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร กรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กสว.) ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและนโยบายสาธารณะ เกริ่นนำถึงความกังวลที่หลายฝ่ายตั้งคำถาม 

 

ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวางแผนและปรับตัวของประเทศไทยในบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ทรัมป์ 2.0: ไม่ใช่ ‘ข้อยกเว้น’ แต่เป็น ‘New Normal’

“เมื่อวันก่อน กสว. ได้หารือกับผู้เชี่ยวชาญจากธนาคารโลก ท่านหนึ่งเล่าว่า จริงๆ แล้วในยุคไบเดนมีผลกระทบต่อการค้าโลกไม่ต่างจากยุคทรัมป์"

 

"เพียงแต่ชุดนโยบายอาจแตกต่างกัน ไบเดนเน้นอุดหนุนอุตสาหกรรมภายในประเทศ ส่วนทรัมป์ใช้นโยบายกำแพงภาษี"

 

"แต่ทั้งสองต่างต้องการสร้างฐานอุตสาหกรรมและลงทุนด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีในสหรัฐฯ”

 

อาจารย์อาร์มชี้ให้เห็นว่า ในยุค “ทรัมป์ 1.0” หลายคนมองว่าทรัมป์เป็นเพียงปรากฏการณ์พิเศษระยะสั้น แต่เมื่อพิจารณาถึงนโยบายของประธานาธิบดีไบเดน

 

กลับพบว่ามีความต่อเนื่องและใกล้เคียงกับนโยบายของทรัมป์มากกว่าที่จะเป็นการหวนกลับไปสู่ยุคโอบามา 

 

“เราจะเห็นคลื่นนโยบายมหาศาลภายใน 2 ปีต่อจากนี้ ที่จะเปลี่ยนแปลงระบบสหรัฐฯ จากรากฐาน” อาจารย์อาร์มกล่าว

 

\"ทรัมป์ 2.0\" วิกฤติหรือโอกาสของระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย?

อเมริกาต้องมาก่อน ตัวแปรสำคัญ “ทรัมป์ 2.0”

 

ปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนนโยบาย “ทรัมป์ 2.0” คือการแข่งขันทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและเศรษฐกิจกับประเทศจีน อาจารย์อาร์มอธิบายว่า

 

“มีความจำเป็นที่รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องตัดค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อนำเงินไปลงทุนด้านการทหารและวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี เพื่อแข่งขันกับจีนมากขึ้น” 

 

ความต้องการของสหรัฐฯในการรื้อฟื้นฐานอุตสาหกรรม ยุติสงครามในยูเครนและตะวันออกกลาง เพื่อมุ่งเป้ามาที่การแข่งขันกับจีน สะท้อนถึงแนวคิดปฏิบัตินิยมและแนวคิด “อเมริกาต้องมาก่อน (America First)” ของทรัมป์

 

“เป้าหมายสำคัญของทรัมป์ 2.0 และนโยบายสหรัฐฯ ในโลกหลายขั้วอำนาจ คือ ขั้วอำนาจอื่นต้องไม่ท้าทายผลประโยชน์พื้นฐานของสหรัฐฯ”

 

แนวคิดนี้สะท้อนถึง “America First Foreign Policy” ที่แตกต่างจากแนวคิดเดิม ที่สหรัฐฯ รับบทเป็น “ตำรวจโลก” หรือ “ผู้พยุงกฎระเบียบโลก” 

 

การประกาศตัดงบประมาณองค์กร USAID, การออกจากองค์การอนามัยโลก, และการไม่ยอมรับ Paris Climate Agreement ล้วนเป็นการเปลี่ยนแปลงทิศทางนโยบายสหรัฐฯ อย่างมีนัยสำคัญ

“ทรัมป์ 2.0” ผลกระทบต่อระบบการค้าโลกและประเทศไทย

 

ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตาคือ “สงครามการค้า” รอบใหม่ในยุค “ทรัมป์ 2.0” อาจารย์อาร์มตั้งคำถามว่า “สงครามการค้ารอบใหม่นี้จะเป็นหนังม้วนเดิมกับสงครามการค้า 1.0 หรือไม่?”

 

อาจารย์อาร์มชี้ให้เห็นถึง 2 ประเด็นที่แตกต่างกันระหว่าง “ทรัมป์ 2.0” กับ “ทรัมป์ 1.0” โดยระบุว่า

 

  • ประเด็นแรก คือ “ครั้งนี้คงไม่ใช่แค่แท็กติกการเจรจา ครั้งนี้ของจริง น่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงรากฐานเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศที่มีนัยสำคัญมาก และมีผลกระทบอย่างมากต่อประเทศไทย”

 

  • ประเด็นที่สอง คือ “เป้าหมายของสงครามการค้าเปลี่ยนไป” ในยุค “ทรัมป์ 1.0” มุ่งจัดการกับ “ความเอาเปรียบทางการค้าของจีน”

 

แต่ในยุค “ทรัมป์ 2.0” ทรัมป์มองว่า “ทุกคนเอาเปรียบอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือศัตรู” เป้าหมายจึงไม่ใช่แค่จีน แต่รวมถึง สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และ “ประเทศไทยเราอาจหนีไม่พ้น”

 

จุดประสงค์ที่ลึกกว่านั้น คือ สหรัฐฯ “ต้องการรื้อฟื้นฐานการผลิตอุตสาหกรรม” ทรัมป์ต้องการให้บริษัทต่างๆ ย้ายฐานการผลิตกลับสู่สหรัฐฯ โดยใช้มาตรการกำแพงภาษีและลดภาษีในประเทศเป็นเครื่องมือ 

 

“หากต้องการจัดการกับจีน การขึ้นกำแพงภาษีจีนอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ เพราะจีนปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปมากแล้ว และเปลี่ยนรูปแบบจาก Made in China เป็น ‘Made by China’ ในประเทศอื่น เช่น เม็กซิโก เวียดนาม ไทย” 

 

ดังนั้น “สิ่งที่ทรัมป์ทำคือ ขึ้นกำแพงภาษีสินค้าทั่วโลก เพื่อจัดการกับโรงงานจีนในต่างประเทศ และกดดันให้โรงงานของบริษัทพันธมิตรและบริษัทสหรัฐฯ ย้ายกลับอเมริกา”

\"ทรัมป์ 2.0\" วิกฤติหรือโอกาสของระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมไทย?

 

จีนเล่นเกมยาว เพิ่มเงินลงทุนภาคเทคโนโลยี

ตัดภาพมาที่ฝั่งจีน อาจารย์อาร์มกล่าวถึง “ไพ่” ใบต่างๆ ที่จีนอาจใช้ตอบโต้สหรัฐฯ เช่น ข้อตกลงการค้า การลดค่าเงิน การจำกัดการส่งออกแร่สำคัญ หรือการตอบโต้ด้วยกำแพงภาษี 

 

แต่ “นโยบายพื้นฐานของจีนคือ เล่นเกมของตัวเองและเล่นเกมยาว” 

 

ยุทธศาสตร์ใหม่ของจีนคือการเปลี่ยนทิศทางการลงทุนจากภาคอสังหาริมทรัพย์ไปสู่ภาควิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เช่น AI, Quantum Computing, Smart Manufacturing, Robotics และ EV Battery

 

จีนมุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ กระตุ้นเศรษฐกิจภายใน หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดสหรัฐฯ และยุโรป และทุ่มทรัพยากรลงทุนในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านพลังงานสะอาด ซึ่งจีนมองว่าเป็น “การปฏิวัติอุตสาหกรรมยุคใหม่” จีนเริ่มเป็นผู้นำในด้านพลังงานสะอาด แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และโซลาร์เซลล์อย่างชัดเจน

 

อาจารย์อาร์มยกตัวอย่าง “Tech War” หรือ “สงครามเทคโนโลยี” ด้าน AI ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่เปรียบเสมือน “ศึกขนมชั้น” แต่ละชั้นมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบแตกต่างกันไป  

 

สหรัฐฯ เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการจำกัดการส่งออกชิปไปยังจีนตั้งแต่ยุคไบเดน และมีแนวโน้มที่จะดำเนินนโยบายนี้ต่อไปในยุคทรัมป์ 

 

 

ความท้าทายใหม่ของไทยในยุคโลกาภิวัฒน์

 

อาจารย์อาร์มสรุปภาพรวมของโลกวันนี้ว่า “ตั้งแต่ปี 2001 ที่จีนเข้า WTO ถึงปี 2018 (ทรัมป์ 1.0) เป็นยุคโลกาภิวัฒน์ที่ทุกคนใช้จีนเป็นฐานการผลิตของโลก (Globalization 1.0) 

 

แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยุค “ทรัมป์ 2.0” คือ ยุคโลกาภิวัฒน์โฉมใหม่ (Globalization 3.0) ที่ไม่มีสหรัฐฯ และจีนอยู่ในภาพเหมือนที่เราคุ้นตา”

 

สำหรับประเทศไทย อาจารย์อาร์มเตือนว่า ประเทศไทยอาจเผชิญแรงกดดันจาก 3 บีบ ได้แก่

  1. ตลาดสหรัฐฯ ยากขึ้น
  2. การแข่งขันในตลาดจีนดุเดือดขึ้น
  3. สินค้าจีนทะลักเข้าไทยและอาเซียน

 

ยุคสงครามการค้ารอบแรกที่ไทยเคยได้รับประโยชน์อาจไม่หวนกลับมา “โลกาภิวัฒน์ที่เหลืออยู่ จะเป็นโลกาภิวัฒน์ที่หดตัวลง และท้าทายประเทศต่างๆ ทั่วโลก”

 

เปลี่ยนคำถาม เปลี่ยนยุทธศาสตร์ สู่ความแข็งแกร่งของไทย

 

“คำถามวันนี้เปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าเราจะรุ่งเรืองอย่างไรใน Globalization 1.0 หรือ 2.0 แต่เป็น ทำอย่างไรที่เราจะแข็งแกร่งใน Globalization 3.0? ทำอย่างไรที่จะสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศให้แข็งแรง? หาตลาดใหม่? ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี?”

 

อาจารย์อาร์มทิ้งท้ายด้วย 2 ประเด็นสำคัญ 

 

  • ประเด็นแรก คือ “โลกใหม่ บริบทใหม่ โลกาภิวัฒน์ใหม่ เทคโนโลยีใหม่” ทุกคนต้องเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ 
  • ประเด็นที่สอง คือ “เปลี่ยนจากความคิดเชิงรับ เป็นเชิงรุก” 

 

“เราต้องมี Thailand First Development Agenda สร้างฐานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งยั่งยืน สร้างตลาดใหม่ สร้าง Growth Engine ใหม่ และให้ความสำคัญกับวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี”

 

“ทรัมป์ 2.0” จะเป็นวิกฤติหรือโอกาสสำหรับประเทศไทย ขึ้นอยู่กับว่าเราใช้คำถามเดิมหรือเปลี่ยนคำถามใหม่ ใช้ยุทธศาสตร์เชิงรุกหรือตั้งรับ

Thailand Web Stat