คลัง เร่งปรับภาษีรถ PHEV จ่อชง ครม. เม.ย.นี้ แยกอัตราชัดเจนจาก HEV
คลัง เดินเครื่องปรับโครงสร้างภาษีรถยนต์ PHEV เตรียมเสนอเข้า ครม. เม.ย. 68 แยกอัตราภาษีจาก HEV พร้อมกำหนดเกณฑ์พิจารณาใหม่ 3 ข้อ หนุนไทยเป็นฐานผลิต พร้อมทบทวนภาษีแบตเตอรี่ คาดดันเข้าครม.ภายในไตรมาส 2 ปีนี้
ท่ามกลางเปลี่ยนผ่านสู่ยุคยานยนต์ไฟฟ้า กระทรวงการคลังเดินหน้าปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถ5ยนต์ Plug-in Hybrid Electric Vehicle (PHEV) ครั้งสำคัญ โดยตั้งเป้าเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาภายในเดือนเมษายน 2568 และให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และยกระดับไทยก้าวขึ้นเป็นฐานผลิตรถยนต์ PHEV
นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.การคลัง เปิดเผยว่า ปัจจุบัน PHEV และ HEV ถูกจัดอยู่ในพิกัดอัตราภาษีเดียวกัน โดยพิจารณาจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์( CO₂) ซึ่งไม่สะท้อนถึงการปล่อยมลพิษที่แท้จริงของ PHEV ส่งผลให้โครงสร้างภาษีไม่เอื้อต่อการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมนี้
ที่ผ่านมา กระทรวงการคลังได้สั่งการให้กรมสรรพสามิตศึกษาทบทวนหลักเกณฑ์การจัดเก็บภาษีใหม่ โดยมี 3 เกณฑ์สำคัญ ได้แก่
1.แยกอัตราภาษีของ PHEV ออกจาก HEV
2.กำหนดอัตราภาษีตามระยะทางที่วิ่งด้วยไฟฟ้าต่อการชาร์จ 1 ครั้ง โดยเบื้องต้นใช้ตัวเลข ที่ 80 กิโลเมตรเป็นเกณฑ์ และอาจขยายเพิ่มตามการพัฒนาเทคโนโลยี
3.ตัดเกณฑ์ความจุถังน้ำมันออกจากการพิจารณาภาษี เพื่อลดข้อจำกัดและเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมไทยให้แข่งขันในระดับสากล ซึ่งลดศักยภาพไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิต เพราะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และยังสร้างภาระกับประชาชน ทำให้รถ PHEV ไม่ได้ความนิยม
นอกจากนี้ ยังมีการเร่งศึกษาปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ โดยหลักการเบื้องต้น แบตเตอรี่ แบบใช้แล้วทิ้ง อาจเสียภาษีสูงกว่าแบตเตอรี่ที่ ชาร์จซ้ำได้ น้ำหนักเบา และมีรอบชาร์จนาน คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเสนอ ครม. พิจารณาไม่เกินไตรมาส 2/2568
ปัจจุบันอัตราภาษีแบตเตอรี่แบบ Flat Rate อยู่ที่ 8% เท่ากันทุกประเภท แต่แนวทางใหม่อาจเป็น ภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ เพื่อดึงดูดการลงทุน โดยเฉพาะการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ในประเทศไทย
“แบตเตอรี่ที่สะอาด และมีศักยภาพสูง อัตราภาษีจะถูกลง ส่วนแบตเตอรี่ที่ชาร์ทไม่ได้เต็มศักยภาพ เก็บประจุต่ำ อัตราภาษีจะแพงขึ้น ดังนั้น จะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิต ผลิตแบตเตอรี่ที่สะอาดขึ้น และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ไทยก้าวสู่ฐานการผลิตได้ง่ายขึ้น”