
CISA ใบเบิกทางสู่อาชีพวิเคราะห์การเงินการลงทุน สู่มาตรฐานสากล
ตลาดทุนไทยเผชิญทั้งโอกาส และความท้าทายจากปัจจัยสำคัญ เช่น แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย การเติบโตของ GDP ความผันผวนทางการเมือง การเข้ามาของ AI และกระแสเงินทุนจากต่างชาติ
ซึ่งล้วนส่งผลต่อทิศทางการลงทุนและความต้องการบุคลากรด้านการวิเคราะห์และบริหารการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
หลักสูตร CISA (Certified Investment and Securities Analyst) จึงถูกออกแบบมาเพื่อพัฒนาศักยภาพ ของนักวิเคราะห์การลงทุน ให้สามารถประเมินและเปรียบเทียบสินทรัพย์ประเภทต่างๆ ได้อย่างแม่นยำ พร้อมใช้ความรู้ในการตัดสินใจลงทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางความซับซ้อนของตลาดทุนในปัจจุบัน
ล่าสุดตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) จัดพิธีมอบวุฒิบัตร “CISA Certificate Awarding Ceremony 2025”
ให้แก่ผู้สอบผ่านหลักสูตร CISA ทุกระดับในปี 2566-2567 ซึ่งมีจำนวนมากถึง 692 คน เพิ่มจากพิธีมอบครั้งที่ผ่านมา สะท้อนการเติบโตของบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์การลงทุน
พัฒนาบุคลากรในตลาดทุน
นายศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาบุคลากรในตลาดทุนถือเป็นภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะบุคลากรด้านการวิเคราะห์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการลงทุนอย่างมีข้อมูลที่ถูกต้อง และครบถ้วน
โดย CISA ถือเป็นรากฐานสำคัญในการยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้านการวิเคราะห์การเงินและการบริหารการลงทุน โดยมุ่งเน้นสร้างบุคลากรคุณภาพในหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นนักวิเคราะห์การลงทุน ผู้จัดการกองทุน วาณิชธนากร หรือผู้ดูแลนักลงทุนสัมพันธ์
ทั้งนี้หลักสูตรได้รับการพัฒนาโดยทีมงานของตลาดหลักทรัพย์ฯ และได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. มีโครงสร้างที่สามารถเทียบเคียงกับหลักสูตร CFA (Chartered Financial Analyst) ระดับสากล เพียงแต่ใช้ภาษาไทย ทำให้ผู้เรียนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ได้ง่ายขึ้น ในต้นทุนที่เหมาะสม และอยู่ในบริบทของตลาดทุนไทย
"ทุกเนื้อหาที่เรียนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง ไม่ว่าจะเป็นตราสารทางการเงิน กฎเกณฑ์ หรือแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนไทย นอกจากนี้หลักสูตรยังผสานทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ เพื่อให้ผู้เรียนมีความพร้อมสำหรับการทำงานจริงทันที"
ขยายองค์ความรู้ผ่าน e-Learning และมหาวิทยาลัยชั้นนำ
นายศรพล กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมการเรียนรู้อย่างกว้างขวางผ่านระบบ e-Learning เนื่องจากปัจจุบัน คนไทยยังมีความรู้ด้านการเงินที่ไม่เพียงพอ การนำหลักสูตรนี้เข้าสู่มหาวิทยาลัยเป็นอีกแนวทางที่ช่วยให้เยาวชนได้รับความรู้พื้นฐานด้านการลงทุนและตลาดทุน
จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกว่า 13 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้หลักสูตร CISA สามารถบูรณาการเข้ากับหลักสูตรปริญญาตรี โดยบางมหาวิทยาลัยให้สามารถเก็บหน่วยกิต คลังหน่วยกิต หรือเปิดเป็น Mini Program เพื่อให้นักศึกษาเข้าถึงความรู้ด้านการเงินได้มากขึ้น
สังคมผู้สูงอายุ ต้องเสริมทักษะวางแผนการเงินหลังเกษียณ
ไม่เพียงเท่านั้นในอนาคต การวางแผนการเงินหลังเกษียณจะกลายเป็นประเด็นสำคัญยิ่งขึ้น นายศรพล บอกว่า เนื่องจากประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ คนที่จบหลักสูตร CISA จึงสามารถต่อยอดให้กับผู้ที่ต้องการให้คำแนะนำด้านการลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มที่ต้องการให้คำปรึกษาด้านการเงินแก่ผู้สูงอายุ
ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ปัญหาคนที่เพิ่งเกษียณในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา บางรายมีเงินก้อนสุดท้าย เอาไปบริหารจัดการได้ไม่ดีพอ
วันนี้เสี่ยงต่อการหลอกลงทุนได้ค่อนข้างเยอะ ในต่างประเทศมีการให้คำแนะนำ ในการบริหารจัดการเงินที่เฉพาะเจาะจงกับผู้สูงอายุ ผมคิดว่าเป็นจุดเติบโตได้ไม่ใช่การแนะนำการเงินอย่างเดียว แต่จะมีกลุ่มเฉพาะที่หลังจากจบหลักสูตรนี้ไปสามารถต่อยอดได้
มองว่าต่อไปนี้จะเริ่มมีคนทยอยเกษียณ เพราะฉะนั้น ไม่ใช่แค่ต้องบริหารจัดการเงินให้พอหลังเกษียณ แต่เกษียณแล้ว มีเงินก้อนแล้ว จะจัดการอย่างไรให้พอกับไลฟ์สไตล์ และจะส่งมอบมรดกให้กับลูกหลานอย่างไร
ยกระดับมาตรฐานวิชาชีพอย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบัน มีผู้สำเร็จหลักสูตร CISA กว่า 3,000 คน และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังคงมุ่งมั่นพัฒนาและปรับปรุงหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของตลาดทุน
โดยได้มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่เมื่อ 2 ปีที่แล้ว และเปิดโอกาสให้ผู้ที่สำเร็จการศึกษาหลักสูตรเดิมกลับมาเรียนรู้เนื้อหาที่อัปเดตเพิ่มเติม เช่น มาตรฐานบัญชีใหม่ และกรณีศึกษาล่าสุดที่เกิดขึ้นในตลาดทุน
CISA พัฒนาวงการวิเคราะห์การลงทุนไทย
นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) กล่าวเสริมว่า สมาคมฯ มีบทบาทสำคัญในการกำหนดกรอบมาตรฐานของหลักสูตร CISA ตั้งแต่เนื้อหาการเรียนการสอนไปจนถึงกระบวนการประเมินผล
เพื่อให้หลักสูตรมีคุณภาพสูงและสอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยมุ่งสร้างบุคลากรที่มีทักษะเชิงลึกทั้งด้านการวิเคราะห์การลงทุน การบริหารความเสี่ยง และการจัดการกองทุน ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพของตลาดทุนไทยให้เติบโตและแข่งขันได้ในระดับโลก
ทุกปี สมาคมฯ จะวิเคราะห์แนวโน้มและความต้องการของนักวิเคราะห์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรให้ตอบโจทย์ตลาดทุนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว อาทิ การปรับเนื้อหาให้ครอบคลุมมาตรฐานบัญชีใหม่ แนวทางวิเคราะห์หุ้นที่กำลังมาแรง หรือการบรรจุหลักการ ESG (Environmental, Social, and Governance) เข้าเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลการวิเคราะห์
นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับจริยธรรมและจรรยาบรรณของนักวิเคราะห์ เพื่อสร้างมาตรฐานการปฏิบัติงานที่โปร่งใสและเป็นมืออาชีพ
อีกหนึ่งแนวทางในการส่งเสริมและยกระดับวิชาชีพ คือ การมอบรางวัลให้แก่นักวิเคราะห์ที่มีผลงานโดดเด่นในแต่ละปี เช่น รางวัลนักวิเคราะห์ยอดเยี่ยมในหมวดอุตสาหกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหมวดธนาคาร พลังงาน หรือกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงรางวัลนักวิเคราะห์ ESG ยอดเยี่ยม
“แม้ว่าจำนวนบุคลากรด้านนี้อาจยังไม่มากนัก แต่ด้วยภาวะตลาดทุนที่เผชิญกับความท้าทาย ทำให้ทีมวิเคราะห์ในองค์กรต่าง ๆ ยังไม่ได้ขยายตัวมาก แต่สมาคมฯ เชื่อว่าคุณภาพของนักวิเคราะห์ไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และสามารถแข่งขันกับนักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ต่างชาติได้อย่างทัดเทียม”
AI กับอนาคตของนักวิเคราะห์การลงทุน
นายสมบัติ เปิดเผยว่า สำหรับปัจจัยที่มีผลต่ออาชีพด้านการวิเคราะห์ฯ คือ บทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงิน
ปัจจุบัน สมาคมฯ ได้ร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการจัดอบรมเกี่ยวกับ AI แก่นักวิเคราะห์ โดยได้ศึกษาวิจัยแนวโน้มการใช้ AI จากองค์กรชั้นนำระดับโลก และนำมาประยุกต์ใช้กับวงการวิเคราะห์การลงทุนของไทย
อย่างไรก็ตาม แม้ AI จะสามารถช่วยสรุปข้อมูลและวิเคราะห์ผลลัพธ์ได้ดีในระดับหนึ่ง แต่การคัดกรองข้อมูลยังต้องอาศัยประสบการณ์ของนักวิเคราะห์อาวุโส โดยเฉพาะในกรณีที่ข้อมูลอาจมีความคลาดเคลื่อน หรืออาจถูกบิดเบือน
"AI เป็นเครื่องมือที่ดีในการช่วยวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น แต่สุดท้ายแล้ว นักวิเคราะห์ยังคงมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบความถูกต้องและมองหาโอกาสที่ AI อาจมองข้ามไป" นายสมบัติกล่าว
สำหรับนักวิเคราะห์รุ่นใหม่ที่ต้องการเข้าสู่วงการนี้ นายสมบัติเน้นย้ำว่า การพัฒนาทักษะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับอาชีพอื่น ๆ อย่างนักกีฬา ที่ต้องฝึกฝนทักษะและเพิ่มพูนประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ
30 ปีในเส้นทางการเงินและการลงทุน
มยุรี โชวิกรานต์ ผู้ได้รับรางวัล CISA Achievement Award รางวัลเชิดชูเกียรติแก่ผู้ผ่านหลักสูตร CISA ในฐานะบุคคลผู้สร้างคุณูปการต่อตลาดทุนไทย ผู้มีส่วนร่วมในการพัฒนาตลาดทุนไทย กล่าวว่า
หลักสูตร CISA ให้ความรู้เฉพาะทางด้านการเงินและการลงทุน ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเติบโตในสายอาชีพนี้ โดยเฉพาะผู้ที่จบปริญญาตรีด้านเศรษฐศาสตร์ หรือปริญญาโทด้าน MBA สาขาการเงิน เป็นการต่อยอดจากความรู้เดิมที่มี
ได้ช่วยพัฒนาทักษะการคิดและการวิเคราะห์ ทั้งในมุมมองที่กว้างและลึก ซึ่งตนเองได้นำความรู้เหล่านี้ไปใช้ในการทำงานตลอดเส้นทางอาชีพ ตั้งแต่เริ่มต้นเป็นนักเศรษฐศาสตร์ จนกลายมาเป็นนักกลยุทธ์การลงทุน และสุดท้ายได้ก้าวมาเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่งคั่งและการลงทุนให้กับลูกค้าในฐานะนักวางแผนการเงินส่วนบุคคลซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในโลกการลงทุนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา
3 องค์ประกอบสู่ความสำเร็จในเส้นทางอาชีพ
มยุรี กล่าวว่า สำหรับตนเองการได้รับรางวัลนี้คือผลจากการทำงานหนักตลอด 30 ปี การใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ผ่านมาในสายอาชีพ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการที่ทำให้สามารถก้าวมาถึงจุดนี้ได้คือ
- การมีเป้าหมายที่ชัดเจนในเส้นทางอาชีพ
- ความมุ่งมั่นในการเดินทางไปสู่เป้าหมาย ซึ่งสะท้อนจากความเพียรและวินัยในการพัฒนาตนเอง
- การมีจรรยาบรรณที่มั่นคง จรรยาบรรณเป็นเกราะป้องกัน เพราะในสายอาชีพนี้มีสิ่งเย้ายวนระหว่างทางเสมอ แต่การที่เรามีจรรยาบรรณที่ดี ยึดมั่นในหลักการ เราก็สามารถที่จะเดินในเส้นทาง สายวิชาชีพนี้ได้ถึงเป้าหมายสง่างาม