ปมร้อน ตั๋ว P/N 4.4 พันล้าน คืออะไร หลังนายกฯ ถูกกล่าวหาเลี่ยงภาษี?
จับตา ตั๋ว P/N มูลค่า 4.4 พันล้านของ แพทองธาร นายกรัฐมนตรี ประเด็นร้อนในศึกซักฟอก อาจเข้าข่ายนิติกรรมอำพราง โยกย้ายทรัพย์สินโอนหุ้น เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีหรือไม่?
"ตั๋วสัญญาใช้เงิน" (P/N) กำลังเป็นที่จับตามอง เมื่อฝ่ายค้านตั้งข้อสังเกตว่า อาจถูกใช้เป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษีและทำธุรกรรมนิติกรรมอำพราง เพื่อยักย้ายถ่ายเททรัพย์สิน โดยเฉพาะในกรณีของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจเกี่ยวกับ การถือครองหุ้น และการออกตั๋ว P/N มูลค่ากว่า 4.4 พันล้านบาท
นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร รองหัวหน้าพรรคประชาชน เปิดเผยข้อมูลกลางสภาว่า นายกฯ อาจจงใจเลี่ยงภาษีหรือไม่ โดยออกตั๋ว P/N แทนการจ่ายเงินสดในการรับโอนหุ้นจากบุคคลในครอบครัว ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่ง ไม่มีวันครบกำหนดชำระหนี้ ไม่มีดอกเบี้ย และเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นเพียงบนเอกสาร ทำให้เกิดข้อกังขาว่า นี่คือ "การใช้ ช่องโหว่ทางกฎหมาย เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีการรับโอนหุ้นจากครอบครัว ที่มีมูลค่ารวม 218 ล้านบาท?"
ประเด็นนี้ทำให้ "ตั๋ว P/N" ถูกตั้งคำถามว่า เป็นเครื่องมือทางการเงินที่ใช้บริหารหนี้สิน หรือเป็นกลไกในการหลีเลี่ยงภาษีกันแน่ แล้วตั๋ว P/N คืออะไร และมีข้อกฎหมายเกี่ยวข้องอย่างไร มาหาคำตอบไปพร้อมกัน
ตั๋ว P/N คืออะไร?
ตั๋วสัญญาใช้เงิน หรือ P/N (Promissory Note) เป็นตราสารทางการเงินที่มีผลทางกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 982 ซึ่งกำหนดให้เป็นหนังสือตราสารที่บุคคลหนึ่ง ("ผู้ออกตั๋ว") ให้คำมั่นสัญญาว่าจะชำระเงินให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง ("ผู้รับเงิน") ตามจำนวนที่ระบุไว้ในตั๋ว โดยสามารถใช้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินหรือทำธุรกรรมการเงินอื่นๆ ได้
ลักษณะสำคัญของตั๋ว P/N
1. เป็นหนังสือที่แสดงคำมั่นสัญญาในการชำระเงิน
2. มีการระบุจำนวนเงินที่แน่นอน
3. มีวันครบกำหนดใช้เงิน (ยกเว้นบางประเภทที่เป็น "ตั๋วตามความต้องการ")
4. มีชื่อของผู้รับเงิน
5. มีลายมือชื่อของผู้ออกตั๋ว
6. สามารถใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายและโอนได้ในบางกรณี
การใช้ตั๋ว P/N ในปัจจุบัน ตั๋วสัญญาใช้เงินมักถูกใช้ในภาคธุรกิจและการเงิน เช่น
• การให้สินเชื่อเงินกู้ระยะสั้นของธนาคารเพื่อเพิ่มสภาพคล่องทางธุรกิจ
• การกู้ยืมเงินระหว่างบริษัทหรือบุคคล
• การเช่าซื้อ โดยผู้ให้เช่าซื้ออาจใช้ตั๋ว P/N เป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคาร
• การซื้อขายสินค้าแบบเชื่อเงิน โดยผู้ซื้อออกตั๋ว P/N ให้แก่ผู้ขายแทนการชำระเงินทันที
• การทำธุรกรรมในตลาดการเงินและหลักทรัพย์
การใช้ตั๋ว P/N เพื่อเลี่ยงภาษี?
กลไกที่อาจใช้ในการเลี่ยงภาษีผ่านตั๋ว P/N ได้แก่
1. การออกตั๋ว P/N แทนการชำระเงินทันที
- ในบางกรณี ผู้รับโอนทรัพย์สินอาจออกตั๋ว P/N เพื่อเป็นหลักฐานว่า "มีหนี้" แทนการจ่ายเงินสด โดยไม่มีการกำหนดวันครบกำหนดชำระ ทำให้ในทางพฤตินัย ผู้รับโอนได้ทรัพย์สินไปโดยไม่ต้องเสียภาษี ณ ขณะนั้น
2. การใช้ตั๋ว P/N ที่ไม่มีดอกเบี้ยและไม่กำหนดวันครบกำหนดชำระ
- หากไม่มีการเรียกเก็บหนี้จริง หรือมีการถือครองตั๋ว P/N เป็นเวลานานโดยไม่มีการชำระเงิน อาจถูกใช้เป็นกลไกเพื่อเลี่ยงภาษีของขวัญหรือภาษีจากการรับให้ทรัพย์สิน
3. การทำธุรกรรมในลักษณะของ "นิติกรรมอำพราง"
เช่น การซื้อขายหุ้นระหว่างเครือญาติ โดยออกตั๋ว P/N เพื่อให้ดูเหมือนว่ามีการชำระเงินเกิดขึ้น แต่แท้จริงแล้วไม่มีการจ่ายเงินสดจริง ทำให้ไม่ต้องเสียภาษีจากการรับให้หุ้น
ผลกระทบและข้อกฎหมาย ตั๋ว P/N เป็นตราสารที่มีผลทางกฎหมาย แต่หากมีการใช้เพื่อเลี่ยงภาษี รัฐอาจเข้ามาตรวจสอบและดำเนินมาตรการทางกฎหมาย เช่น
• การพิจารณาว่าเป็น "นิติกรรมอำพราง" ตามประมวลรัษฎากร
• การเรียกเก็บภาษีย้อนหลังหากพบว่ามีการใช้ตั๋ว P/N เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีอย่างไม่ถูกต้อง
• การดำเนินคดีหากพบว่ามีการหลีกเลี่ยงภาษีโดยเจตนา
การใช้ตั๋ว P/N เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในธุรกรรมระยะสั้น และการบริหารจัดการหนี้สิน แต่ต้องใช้อย่างโปร่งใสและเป็นไปตามกฎหมาย หากมีการนำไปใช้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษี หรือทำธุรกรรมที่ไม่โปร่งใส อาจส่งผลเสียต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ รวมถึงรัฐสูญเสียรายได้จากการเก็บภาษี ซึ่งหลายฝ่ายจับตาว่า ในอนาคตอาจนำไปสู่การทบทวนและปรับปรุงประมวลรัษฎากรหรือไม่ เพื่อป้องกันช่องโหว่ในระบบการเสียภาษีและรักษาความยุติธรรมในการเก็บภาษี