กสทช.ยึดใบอนุญาต “เคโฟร์” เตือนอย่าหลงเชื่อหลอกลงทุน

26 มีนาคม 2568

กสทช.มีมติให้การอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม “เคโฟร์” สิ้นสุดลง เตือนอย่าหลงเชื่อแอบอ้างนำธุรกิจโทรคมนาคมลงทุน ย้ำไม่มีใบอนุญาตขายตู้เติมเงิน

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (26 มี.ค. 2568) ที่ประชุม กสทช. มีมติให้การอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เพื่อให้บริการขายต่อบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (บริการ MVNO) ของบริษัท เคโฟร์ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (บริษัท เคโฟร์ฯ) ประกอบธุรกิจให้บริการ MVNO ในนามซิมการ์ด “K4” สิ้นสุดลง 

ทั้งนี้เป็นไปตามข้อ 13.1 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม หลังจากกองกำกับการ 4 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ออกหมายจับบริษัท เคโฟร์ฯ 

บริษัทดังกล่าวเป็นผู้รับใบอนุญาตจาก กสทช. พร้อมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจ ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากมีผู้เสียหายที่ถูกชักชวนให้ลงทุนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ เข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวน เมื่อเดือน ธ.ค. 2567 จนนำไปสู่การออกหมายจับ และตรวจยึดทรัพย์สิน

สำหรับธุรกิจของบริษัท เคโฟร์ฯ นอกจากทำธุรกิจซิมการ์ดในชื่อ “K4” บริษัทยังได้ประกอบธุรกิจตู้เติมเงินชื่อ “เคธี่ปันสุข” เพื่อให้บริการเติมเงินค่าโทรศัพท์ค่าย K4 ควบคู่กันไปด้วย ซึ่งธุรกิจใน

ส่วนของการให้บริการตู้เติมเงินนั้น ไม่ถือเป็นบริการโทรคมนาคมที่อยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของ กสทช. โดยเมื่อกลางปี 2567 ได้มีประชาชนบางส่วนโทรศัพท์สอบถาม Call Center หมายเลข 1200 ของสำนักงาน กสทช. ว่าบริษัท เคโฟร์ฯ ได้รับใบอนุญาตจริงหรือไม่

แต่ประชาชนบางส่วนยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเรื่องธุรกิจ MVNO กับธุรกิจตู้เติมเงิน โดยบริษัทมีการตั้งกลุ่มไลน์ชักชวนประชาชนให้ลงทุนตู้เติมเงินเคธี่ปันสุขเครื่องละ 50,000 บาท จะได้รับผลตอบแทนสูง ซึ่งบางส่วนไม่ได้รับตู้เติมเงิน แต่ได้รับผลตอบแทน

อย่างไรก็ดี เมื่อสำนักงาน กสทช. ทราบเรื่องที่มีประชาชนสอบถามผ่านคอลเซ็นเตอร์ที่มีการนำเรื่องการรับใบอนุญาตชักชวนให้ลงทุน จึงได้มีการจัดทำข่าวประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อบริษัทชักชวนลงทุนตู้เติมเงินเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2567 แต่มีความเป็นไปได้ว่าขณะนั้นยังไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น จนกระทั่งปลายปี 2567 เริ่มมีผู้ลงทุนที่ได้รับความเสียหาย ได้รับเงินล่าช้า จึงเข้าแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ   

นายไตรรัตน์ กล่าวว่า เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2568 สำนักงาน กสทช. ได้รับข้อมูลจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (CIB) แจ้งข้อมูลการดำเนินคดีจับกุมกรรมการและยึดอายัดทรัพย์สินทั้งของบริษัท เคโฟร์ฯ และกรรมการ เพื่อเป็นพยานหลักฐานในคดี จำนวนกว่า 400 รายการ มูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท 

มีประชาชนผู้เสียหาย 74 ราย มูลค่าความเสียหายรวม 29,770,771.45 บาท ในคดีอันเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ซึ่งการถูกอายัดทรัพย์สินอาจส่งผลกระทบต่อคุณสมบัติการเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามข้อ 6.7 ของ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ที่ผู้ขอรับใบอนุญาต บุคคลผู้เป็นกรรมการ ผู้จัดการ หรือผู้มีอำนาจในการจัดการของนิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตต้องไม่อยู่ระหว่างถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สิน

หรือถูกฟ้องคดีและศาลประทับรับฟ้องไว้พิจารณาในความผิดที่เกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ดังนั้นการขาดคุณสมบัติดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ กสทช. มีอำนาจพิจารณาให้การอนุญาตสิ้นสุดลง ตามข้อ 13.1 ของประกาศ กสทช. ฉบับดังกล่าว

เมื่อสำนักงาน กสทช. ได้พิจารณาถึงคุณสมบัติของบริษัท เคโฟร์ฯ ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม เห็นว่าการที่ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจได้ดำเนินการจับกุมบริษัท เคโฟร์ฯ

พร้อมทั้งกรรมการผู้มีอำนาจในฐานความผิดร่วมกันฉ้อโกงประชาชน และร่วมกันกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และดำเนินการยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว มีผลให้บริษัท เคโฟร์ฯ ขาดคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาต 

เป็นเหตุให้ กสทช. ต้องมีมติให้การอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของบริษัท เคโฟร์ฯ สิ้นสุดลงนับตั้งแต่วันที่ กสทช. มีมติ และให้บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ขายส่งบริการโทรคมนาคมที่ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้แก่บริษัท เคโฟร์ฯ ให้บริการแก่ผู้ใช้บริการของบริษัท เคโฟร์ฯ ต่อไป 

จากข้อมูลของ NT ถึงสิ้นปี 2567 มีผู้ใช้ซิม K4 ประมาณ 46,000 เลขหมาย มียอดเติมเงินล่าสุดสิ้นปี 2567 ประมาณ  1.7 ล้านบาท เฉลี่ยมียอดเติมเงินเลขหมายละ 37 บาท 

ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ขอย้ำว่า กสทช. ไม่มีการให้ใบอนุญาตขายตู้เติมเงิน ซึ่งตู้เติมเงินไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และกรณี MVNO ไม่สามารถนำซิมการ์ดไปทำธุรกิจเครือข่ายได้ หากไม่แน่ใจสามารถโทรศัพท์สอบถาม Call Center ของสำนักงาน กสทช. หมายเลข 1200 

Thailand Web Stat