คลังเปิดโมเดล "G Token เงินดิจิทัล" เตรียมใช้แทนพันธบัตรรัฐบาล

26 มีนาคม 2568

จับตาแนวทาง G-Token เงินดิจิทัลรูปแบบใหม่กระทรวงคลัง ไม่ขัดกฎหมาย เปิดทางรายย่อยลงทุนแทนพันธบัตรรัฐบาล เริ่มต้น 2 หมื่นบาท รับผลตอบแทนสูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก

กระทรวงการคลังเดินหน้าเปิดตัว G-Token (Government Token) ซึ่งเป็นเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่ภาครัฐออกให้ประชาชนลงทุนแทนพันธบัตรรัฐบาลแบบเดิม โดยตั้งเป้าให้ผู้ที่มีเงินฝากจำนวนน้อยสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 20,000 บาท และได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า G-Token เป็นการปรับรูปแบบการระดมทุนของภาครัฐ จากเดิมที่พันธบัตรรัฐบาลจำหน่ายให้กับสถาบันการเงิน มาอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ด้วยเงินลงทุนที่ต่ำกว่าเดิม

 

ตาม มาตรา 9 แห่งพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 บัญญัติห้ามผู้ใดทำ จำหน่าย ใช้หรือนำออกใช้ซึ่งวัตถุหรือเครื่องหมายใด ๆ แทนเงินตรา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง การออก G-Token จึงเป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่สามารถกำหนดขอบเขตและเงื่อนไขใด ๆ ในการอนุญาตได้

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยืนยันว่า G-Token ไม่ใช่การพิมพ์เงินใหม่ หรือเป็นการแข่งขันกับธปท. แต่เป็นการนำวงเงินที่มีอยู่ในระบบและเคยเป็นพันธบัตรรัฐบาล มาปรับเปลี่ยนรูปแบบและแพลตฟอร์มในการออก

ปกติรัฐบาลจะกู้หนี้ประชาชนประมาณปีละ 1 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงได้สำหรับผู้ที่มีเงินฝากเพียง 1-2 หมื่นบาท ดังนั้น เราจึงออกสเตเบิลคอยน์ เพื่อทำให้การแลกเปลี่ยนง่ายขึ้น โดยผู้ที่มีเงินเก็บ เช่น แม่ค้า สามารถใช้สเตเบิลคอยน์ในการซื้อพันธบัตรได้ทันที แทนการฝากเงินในธนาคารที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ ซึ่ง G-Token ไม่ใช่การพิมพ์เงินใหม่แต่อย่างใด

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2568 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนการบริหารหนี้ประจำปีงบประมาณ 2568 โดยกระทรวงการคลังเสนอวงเงินรวม 1,663,295.45 ล้านบาท แบ่งเป็น 


1. แผนก่อหนี้ใหม่ 1,221,322.24 ล้านบาท 
2. แผนบริหารหนี้เดิม 1,740,552.96 ล้านบาท 
3. แผนการชำระหนี้ 489,380.65 ล้านบาท

ในส่วนแผนบริหารหนี้เดิม มีหนี้ในประเทศรวม 1,646,035.72 ล้านบาท โดยในส่วนอาจนำมาปรับโครงสร้างเพื่อออก G-Tokenโดยในจำนวนนี้มีหนี้ที่น่าจะนำออก G-Token ด้วยการทำปรับโครงสร้างเงินกู้รัฐบาลที่ครบกำหนด ได้แก่

1.พันธบัตรออมทรัพย์ปีงบประมาณ 2561 ครั้งที่ 1 (รุ่นอายุ 7 ปี) วงเงิน 15,479 ล้านบาท

2.พันธบัตรพิเศษปีงบประมาณ 2563 (ประเภททยอยชำระคืนเงินต้น) จำนวน 625 ล้านบาท

3.พันธบัตรออมทรัพย์พิเศษรุ่น "สุขกันเถอะเรา" ปีงบประมาณ 2558 จำนวน 10,000 ล้านบาท

4.พันธบัตรรัฐบาลปีงบประมาณ 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 42,361 ล้านบาท


ทั้งนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) จะเป็นผู้พิจารณาหนี้ที่จะนำมาปรับโครงสร้างและออกเป็น G-Token ขายให้กับประชาชน รวมถึงวงเงินที่เหมาะสมสำหรับการขาย

 

โดยเบื้องต้นกำหนดวงเงินขั้นต่ำ

การลงทุนใน G-Token จะมี วงเงินขั้นต่ำที่ 20,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป เพื่อให้รายย่อยสามารถเข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น 

 

ผลตอบแทน

ผู้ที่ลงทุนใน G-Token จะได้รับ ดอกเบี้ย ในอัตราที่ สูงกว่าการฝากเงินในธนาคารทั่วไป

 

โอกาสการลงทุน

การออก G-Token จะช่วยให้ ประชาชนรายย่อย สามารถเข้าถึงการลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลได้ง่ายขึ้น และทำให้ โอกาสในการลงทุนกระจายไปยังกลุ่มคนมากขึ้น

 

นอกจากนี้ นายพิชัย เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีแผนที่จะเพิ่มทางเลือกในการลงทุนให้กับประชาชน โดยการทดลองนำเสนอ Bond Tokenization ซึ่งไม่ต้องมีสินทรัพย์มาการันตี คาดว่าโครงการนี้จะเริ่มต้นภายในปีงบประมาณ 2568 โดยจะมีวงเงินเริ่มต้นประมาณ 5,000 ล้านบาท

 

G-Token ที่ออกในช่วงแรกจะสามารถซื้อขายใน ตลาดรอง ได้ เช่นเดียวกับพันธบัตรรัฐบาลทั่วไป และในระยะยาว กระทรวงการคลังมีแผนพัฒนาแพลตฟอร์มให้ G-Token สามารถนำไปใช้ในการซื้อขายสินค้าได้

 

รัฐบาลมองว่า การออก G-Token จะช่วยเพิ่ม สภาพคล่องในระบบการเงิน และเปิดช่องทางการออมที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินในธนาคาร ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสการลงทุนได้โดยไม่ต้องแย่งกัน

 

อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า ธปท. ยังไม่เห็นด้วยกับกับแนวทางนี้ ทั้งในเรื่องของการรองรับระบบและการป้องกันการทุจริต รวมถึงข้อกังวลเรื่องการควบคุมปริมาณเงินในระบบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบทบาทของ ธปท. ในการรักษาเสถียรภาพและประสิทธิภาพของระบบการชำระเงิน

 

ขอบคุณเครดิตจาก ฐานเศรษฐกิจ

Thailand Web Stat