ค่าไฟแพง ทวงสัญญา “พีระพันธุ์” ลดค่าไฟ 40 สตางค์ จริง หรือ แค่ฝัน?

27 มีนาคม 2568

ผ่านมาครึ่งปี ประชาชนยังจ่ายค่าไฟฟ้าเท่าเดิม ส่อแวว ประชาชน รับภาระค่าไฟแพงรับหน้าร้อน เหมือนทุกปีที่ผ่านมา

ผ่านมาแล้วครึ่งปี นับตั้งแต่ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ประกาศกร้าวว่า สามารถลดค่าไฟลงได้ถึง 40 สตางค์ ต่อหน่วย แต่ถึงวันนี้ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟในอัตราเดิม ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุ ที่ทำให้การใช้ไฟพุ่งสูง

ย้อนกลับไปเมื่อเดือนกันยายน 2567 พีระพันธุ์ สั่งให้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ชะลอแผนลดค่าไฟที่เสนอให้ลดลง 17 สตางค์ ต่อหน่วย โดยให้เหตุผลว่า แนวทางที่เขาจะดำเนินการสามารถลดค่าไฟได้มากกว่า ผ่านการบริหารจัดการเชื้อเพลิง หรือปรับพอร์ต Pool Gas ซึ่งหมายถึงการปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า ทั้งจาก ก๊าซอ่าวไทย, ก๊าซจากเมียนมาร์ และ LNG นำเข้า ที่มีราคาผันผวนสูง

นี้ถูกตั้งความหวังว่าจะทำให้ค่าไฟลดลงได้ถึง 40 สตางค์ และทันใช้งานในรอบบิล พฤษภาคม-สิงหาคม 2568 แต่เมื่อวานนี้ (26 มี.ค.) ที่ประชุมบอร์ด กกพ. กลับมีมติให้ตรึงค่าไฟฟ้าไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย เท่าเดิม ซึ่งหมายความว่า การลดค่าไฟครั้งใหญ่ที่เคยสัญญาไว้ยังไม่เกิดขึ้น

“เบรกเอง รับผิดชอบเอง?”

คำถามสำคัญคือ เกิดอะไรขึ้นกับแนวทางที่เคยประกาศไว้? คณะทำงานที่ตั้งขึ้นเพื่อศึกษาการลดค่าไฟ ได้ข้อสรุปหรือยัง? หรือสุดท้ายแล้ว การลดค่าไฟ 40 สตางค์ อาจเป็นเพียงคำสัญญาทางการเมือง?

ที่สำคัญ พีระพันธุ์ เองเป็นคนเบรกแผนลด 17 สตางค์ของ กกพ. โดยให้เหตุผลเรื่องการทบทวนสัญญาซื้อไฟจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แต่จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า แนวทางของเขาจะสามารถลดค่าไฟได้จริงหรือไม่

กกพ. ยืนยันว่า พ.ร.บ. ประกอบกิจการพลังงาน ให้อำนาจ คณะกรรมการกิจการพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ในการทบทวนและแก้ไขสัญญาซื้อไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงเกินจริง แต่การดำเนินการยังดูคลุมเครือ

สุดท้ายแล้ว ประชาชนยังคงต้องจ่ายค่าไฟในอัตราเดิม ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดของปี “พีระพันธุ์” จะสามารถทำตามสัญญาได้หรือไม่? หรือจะกลายเป็นอีกหนึ่งคำพูดที่เลือนหายไปในสายลม… ประชาชนกำลังรอคำตอบ

Thailand Web Stat