เปิดเบื้องลึกผู้รับเหมา ทุนจีน หุ้นสูงสุด "ตึก สตง." 2พันล้านถล่ม
หลังเหตุแผ่นดินไหว อาคาร สตง. 30 ชั้น พังถล่มจนกลายเป็นประเด็นร้อน โฟกัสของสังคมหันไปที่บริษัทผู้รับเหมา คือ "บมจ.อิตาเลียนไทยฯ" และพันธมิตรจากจีน "ไชน่า เรลเวย์ฯ"
เปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น ‘ผู้รับเหมาอาคาร สตง.’ หลังพังถล่ม พบจีนถือหุ้นเต็มเพดาน กรรมการไทยโยงอีกหลายบริษัท
หลังเกิดเหตุแผ่นดินไหว อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่อยู่ระหว่างก่อสร้างเกิดพังถล่ม จนกลายเป็นประเด็นใหญ่ สังคมหันมาจับตาไปที่ผู้รับเหมาโครงการ ซึ่งประกอบด้วย บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) และพันธมิตรสำคัญจากจีน “ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย)”
ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10 (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 10 สิงหาคม 2561 ด้วยทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท ให้บริการด้านทรัพยากรมนุษย์ และรับเหมาก่อสร้างทั้งอาคาร ถนน และระบบราง
โครงสร้างผู้ถือหุ้นของบริษัทนี้ มีผู้ถือหุ้นใหญ่คือ “China Railway No.10 Engineering Group Co., Ltd.” จากจีน ถือครอง 49% เต็มเพดานตามกฎหมายไทยที่อนุญาตให้ต่างชาติถือหุ้นในบริษัทไทยได้
ส่วนผู้ถือหุ้นคนไทย มี
- นายโสภณ มีชัย ถือ 40.80% (407,997 หุ้น)
- นายประจวบ ศิริเขตร ถือ 10.20% (102,000 หุ้น)
- นายมานัส ศรีอนันท์ ถือเพียง 3 หุ้น (0.00%)
กรรมการบริษัทประกอบด้วย นายชวนหลิง จาง และนายโสภณ มีชัย เมื่อตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม พบว่า
- นายโสภณ มีชัย ซึ่งเป็นทั้งกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ยังถือหุ้นในบริษัทอื่นอีก 5 แห่ง
- นายประจวบ ศิริเขตร นักลงทุนรายใหญ่ ถือหุ้นใน 6 บริษัท
- ด้านนายมานัส ศรีอนันท์ ถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ มากถึง 11 แห่ง
ขณะที่สังคมกำลังรอฟังผลสอบสวนสาเหตุการถล่มของอาคาร สายตาหลายคู่ก็กำลังเพ่งเล็งไปที่ความโปร่งใสในโครงสร้างทุนของกลุ่มผู้รับเหมารายนี้
โครงการนี้ได้ใช้ข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ร่วมกับองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เพื่อเสริมสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ โดยมีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับผู้รับเหมาเพื่อป้องกันการทุจริต การเพิ่มงบประมาณครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2563 ซึ่งมีการขออนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมจากรัฐบาลเพื่อปรับเปลี่ยนรายการโครงการและเพิ่มวงเงินก่อสร้าง
ในปี 2567 สตง. ได้ขออนุมัติวงเงินค่าควบคุมการก่อสร้างเพิ่มเติมจากเดิมที่ 76.8 ล้านบาท เป็น 84.37 ล้านบาท เนื่องจากมีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป จากสาเหตุของสถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงในแบบการก่อสร้าง ซึ่งส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมในการควบคุมงานก่อสร้าง
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "สำรวจ "ตึก สตง." นวัตกรรมก่อสร้างยุคใหม่ไทย ภายใต้เทคโนโลยีจีน"
ส่องที่อยู่ "ไชน่า เรลเวย์ นัมเบอร์ 10" ปมผู้รับเหมา "ตึกใหม่ สตง."
อ้างอิงข้อมูลจาก: ฐานเศรษฐกิจ