posttoday

ตึกสตง.ถล่มแผ่นดินไหว ITD ทุนจีนพันธมิตร ต้องสร้างใหม่เอง

30 มีนาคม 2568

เปิดความเห็น ธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญ ชี้สัญญาอาคารสตง.ก่อนถล่ม ITD ทุนจีนพันธมิตร ต้องสร้างใหม่เอง

เมื่อวันที่ 30มีนาคม 2568 นายธนกฤต วรธนัชชากุล อัยการผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชากฎหมาย ให้ความเห็นว่า กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ผู้รับจ้างก่อสร้างโครงการมูลค่า 2,136 ล้านบาท และกิจการร่วมค้า PKW ซึ่งเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างภายใต้วงเงิน 74.653 ล้านบาท  มีแนวโน้มที่จะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับงานก่อสร้างก่อนที่จะมีการส่งมอบงานแม้ว่าความเสียหายจะเกิดจากแผ่นดินไหว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้จำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างละเอียด โดยคำนึงถึงข้อกำหนดเฉพาะในสัญญาจ้างก่อสร้างระหว่าง สตง. และกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี รวมถึงผลการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของการถล่ม

โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่นี้เริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2564 และมีกำหนดแล้วเสร็จเดิมคือวันที่ 31 ธันวาคม 2566 แต่มีการขยายระยะเวลาก่อสร้างออกไป ทำให้กำหนดแล้วเสร็จใหม่เป็นวันที่ 3 มิถุนายน 2567  ส่งผลให้สัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างต้องมีการเพิ่มค่าจ้างเพิ่มเติมอีก 148 วัน เป็นจำนวนเงิน 9,718,716 บาท    

นายธนกฤต ให้ความเห็นว่า สัญญาจ้างก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. น่าจะมีการใช้แบบสัญญาจ้างก่อสร้างตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และแบบเอกสารประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ของกรมบัญชีกลาง  การพิจารณาเงื่อนไขความรับผิดชอบกรณีอาคารถล่มจึงต้องอ้างอิงจากหลักการและข้อกำหนดในเอกสารเหล่านี้   

ตามแบบสัญญาจ้างก่อสร้างมาตรฐาน ข้อ 11 วรรคสอง ระบุว่า หากอาคารถล่มลงมาก่อนการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากความผิดของผู้รับจ้าง หรือจากเหตุสุดวิสัย เช่น แผ่นดินไหว ผู้รับจ้างจะต้องรับผิดชอบในการก่อสร้างอาคารใหม่ด้วยค่าใช้จ่ายของตนเอง และไม่สามารถเรียกร้องค่าจ้างก่อสร้างเพิ่มเติมจาก สตง. ได้  

ข้อกำหนดนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวถือเป็นเหตุสุดวิสัยตามกฎหมายไทย ซึ่งหมายถึงเหตุการณ์ใดที่เกิดขึ้นหรือเกิดเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ หรือกีดกันมิให้บุคคลนั้นปฏิบัติตามสัญญาได้ แม้บุคคลนั้นจะใช้ความระมัดระวังอย่างเต็มที่และเหมาะสมตามสมควรแล้วก็ตาม    

แต่มีข้อยกเว้นที่สำคัญคือ หากการที่อาคารถล่มลงมานั้นเกิดจากความผิดของ สตง. ในฐานะผู้ว่าจ้าง ความรับผิดชอบในการก่อสร้างใหม่และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องอาจตกเป็นของ สตง. 

นอกจากนี้ ในแบบสัญญาจ้างก่อสร้าง ข้อ 13 ยังกำหนดไว้ว่า ผู้รับจ้างจะไม่สามารถอ้างเหตุจากการมีคณะกรรมการตรวจรับพัสดุ หรือผู้ควบคุมงาน เพื่อให้ตนเองพ้นจากความรับผิดตามสัญญาได้ 

หมายความว่า การที่กิจการร่วมค้า PKW เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้างจะไม่เป็นเหตุให้กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี พ้นจากความรับผิดชอบในกรณีอาคารถล่ม 

ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง เช่น วิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่ง สตง. ได้ใช้ในการว่าจ้างกิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ประกอบประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องจ้างทำของ กำหนดความสัมพันธ์และความรับผิดชอบผู้ว่าจ้างและผู้รับจ้าง

"กิจการร่วมค้า ไอทีดี-ซีอาร์ซีซี ในฐานะผู้รับจ้างก่อสร้าง จะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. แห่งใหม่ที่ถล่มลงมา เนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวเกิดขึ้นก่อนการส่งมอบงานครั้งสุดท้าย" นายธนกฤตระบุ

Thailand Web Stat