posttoday

"บุณยวีร์ บุญสงเคราะห์" ใช้มุมมองเจนใหม่ขับเคลื่อน Moshi Moshi

31 มีนาคม 2568

คุยกับ บุณยวีร์ บุญสงเคราะห์ ผู้บริหารรุ่นใหม่แห่ง Moshi Moshi วัย 29 ปี บทบาทในการขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจและพัฒนาสินค้าด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่

KEY

POINTS

  • คุยกับ บุณยวีร์ บุญสงเคราะห์ ผู้บริหารรุ่นใหม่ Moshi Moshi วัย 29 ปี
  • ขับเคลื่อนกลยุทธ์ธุรกิจและพัฒนาสินค้าด้วยมุมมองคนรุ่นใหม่
  • แม้เป็นธุรกิจครอบครัว แต่การทำงานต้อง มืออาชีพ ไม่มีอภิสิทธิ์พิเศษ ทุกคนถูกประเมินจาก ผลงานและความสามารถ 

แม้จะอายุเพียง 29 ปี แต่ บุณยวีร์ บุญสงเคราะห์ พิสูจน์แล้วว่า อายุของเธอไม่ใช่อุปสรรคสำหรับการเป็นผู้บริหารแม้แต่น้อย ตราบใดที่เธอมีความมุ่งมั่นตั้งใจทำหน้าที่ให้ดีที่สุด 

 

บุณยวีร์ เป็นบุตรสาวของ สง่า บุญสงเคราะห์ ซีอีโอแห่ง โมชิ โมชิ (Moshi Moshi) ร้านค้าสไตล์ไลฟ์สไตล์ยอดนิยม ปัจจุบันเธอเข้ามาดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจและการปฏิบัติการ บริษัท โมชิ โมชิ รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มีบทบาทสำคัญในการกำหนดแผนกลยุทธ์ขององค์กร รวมถึงงานด้านมาร์เก็ตติ้ง เคียงข้างกับผู้เป็นพ่อ และพี่ชาย อชิระ บุญสงเคราะห์ ซึ่งโพสต์ทูเดย์เคยนำเสนอเรื่องราวของเขาไปก่อนหน้านี้  ("อชิระ บุญสงเคราะห์" ทายาท Moshi Moshi นำธุรกิจกงสีสู่ยุคใหม่)

 

โพสต์ทูเดย์ ได้พบกับ บุณยวีร์ เมื่อครั้งที่โมชิ โมชิ มีงานแถลงข่าวกลยุทธ์ธุรกิจเมื่อไม่นานผ่านมา จึงไม่พลาดที่จะพูดคุยกับเธอ ถึงมุมมอง ความคิด และประสบการณ์การทำงานในองค์กร 3 ปี แม้จะเป็นบทสนทนาสั้น ๆ แต่ก็สะท้อนแนวคิดของเธอได้เป็นอย่างดี

 

บุณยวีร์ เล่าว่า บทบาทของเธอเป็นงานที่ท้าทายไม่น้อย เพราะการตลาดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้ต้องติดตามเทรนด์อยู่เสมอ 
 

อย่างที่เคยเสนอไปก่อนหน้านี้ โมชิ โมชิ เป็นธุรกิจกงสีของตระกูลบุญสงเคราะห์ ที่เริ่มต้นมาจากร้านพร้อมภัณฑ์ฝั่งธนบุรี ก่อนขยับขยายมาสู่สำเพ็ง และเติบโตกลายเป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ 

 

คำถามจึงเกิดขึ้นว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้เธอตัดสินใจเข้ามาร่วมงานกับธุรกิจครอบครัว?

 

บุณยวีร์เล่าว่า ก่อนหน้านี้มีประสบการณ์ทำงานด้านเทรดมาร์เก็ตติ้งจากบริษัทอื่นมา 4 ปี และเข้ามาในช่วงที่บริษัทโมชิ โมชิ กำลังเตรียมตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งเป็นจังหวะที่งานมีความซับซ้อนและท้าทายมากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลหลักทำให้ตัดสินใจเข้ามาช่วยงานครอบครัว 

 

บุณยวีร์มองว่า โครงสร้างองค์กรที่มีสมาชิกในครอบครัว เช่น พี่ชาย พี่สาว และลูกพี่ลูกน้อง ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในฝ่ายพัฒนาสินค้า หลังจากพวกเขาทำงานในองค์กรมา 7-8 ปี เธอเห็นว่า มุมมองของคนรุ่นใหม่สามารถช่วยเติมเต็มธุรกิจได้ จึงเข้ามารับผิดชอบด้านกลยุทธ์ การขาย และการตลาด

 

เธออธิบายเพิ่มเติมว่า หนึ่งในบทบาทสำคัญของเธอคือการช่วยทีมบริหารเข้าใจ พฤติกรรมผู้บริโภครุ่นใหม่ เช่น เทรนด์ กล่องสุ่ม ที่ได้รับความนิยม เธอไม่เพียงบอกว่ามันเป็นกระแส แต่ยังช่วยวิเคราะห์ว่าทำไมผู้บริโภคถึงชอบ และเชื่อมโยงกับแนวทางการตลาดของบริษัท

 

"เป็นการเล่าความวัยรุ่นของเราให้ผู้บริหารฟัง เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่า เทรนด์แต่ละอย่างมีสตอรี่ และสร้างความรู้สึกแบบไหนให้กับผู้บริโภค ทำไมสินค้าบางอย่างถึงฮีลใจผู้คนได้ แล้วนำสิ่งนั้นมาผสานกับกลยุทธ์ของบริษัท"
 


เธอเล่าต่อว่า พี่สาวและพี่ชายอยู่กับแบรนด์มาตั้งแต่วันแรก พวกเขามีประสบการณ์ด้านการจัดหาและพัฒนาสินค้า แต่เมื่อเวลาผ่านไป อาจมีบางเทรนด์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเกินไป เราจึงนำมุมมองสดใหม่และไอเดียใหม่ ๆ เข้ามาเติมเต็ม

 

ใช้ศักยภาพของตนเองเข้ามาในองค์กร 

 

ก่อนเข้ามาทำงาน บุณยวีร์ อาจไม่ได้เสนอแผนธุรกิจเหมือนพี่ ๆ แต่เธอนำเสนอ "ตัวตนและศักยภาพของตัวเอง" 

 

เธอเล่าว่า เธอต้องยื่น เรซูเม่และ CV สมัครเข้ามาตามระบบ ผู้บริหารจะมีการตรวจสอบรางวัล และผลงานจากบริษัทเดิมอย่างละเอียด ไม่ใช่แค่การเข้ามาเพราะเป็นสมาชิกในครอบครัว ทั้งยังได้รับการพิจารณาด้วยว่า 

 

"เราเข้ามา จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรอย่างไร? มีประสบการณ์อะไรจากการทำงานภายนอก 4 ปี แล้วประสบการณ์ที่มีจะเอามาปรับใช้ในองค์กรได้อย่างไร?” 

 

ไม่ใช่ว่าทุกคนในตระกูลจะเข้ามาทำงานในบริษัทได้หมด เพราะแม้ว่าเป็นคนในครอบครัว แต่ก็ต้องผ่านกระบวนการสัมภาษณ์อย่างมืออาชีพ ไม่ใช่แค่เพราะอยากเข้ามาแล้วจะได้รับตำแหน่ง หรือถ้าไม่อยากเข้ามา บริษัทก็จะไม่ง้อ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถและความเหมาะสมกับองค์กร

 

ให้ความเป็นธรรมกับทุกคน 


เธอเล่าว่า ครอบครัวเราค่อนข้างแฟร์กับทุกคน หากไม่ได้ทำงานที่บริษัท ก็จะ ไม่ได้รับสวัสดิการ ไม่ว่าจะเป็น ค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ รถยนต์ หรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ทุกอย่างต้องยุติธรรมกับคนในครอบครัว ใครที่ทำงานกับครอบครัวก็จะได้สวัสดิการ แต่คนที่ทำงานองค์กรภายนอกจะไม่ได้รับอะไร ต้องดูแลตนเอง 

 

เมื่อถามว่าการทำงานกับคนในครอบครัวมีความท้าทายอะไรบ้าง?

 

บุณยวีร์ เล่าว่า อย่างแรกต้องตัดเรื่องอารมณ์ความรู้สึกออกไป ไม่ควรสวมบทบาทความเป็นลูกหรือความเป็นญาติมากเกินไป ไม่เช่นนั้นการทำงานจะไม่มืออาชีพ เรามองตัวเองในฐานะ "พนักงาน" 

 

และต้องเข้าใจบทบาทของตัวเองและของคนอื่น เช่น ใครอยู่ตำแหน่งไหน ใครมีอำนาจตัดสินใจ เราก็ต้องเคารพโครงสร้างองค์กร และทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด

 

ตั้งแต่เด็ก ทุกคนในครอบครัวถูกปลูกฝังให้ยึดหลักการทำงานมากกว่าอำนาจที่ได้จากสายสัมพันธ์ ไม่มีใครได้รับอภิสิทธิ์พิเศษ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับความสามารถและผลงาน หากทำได้ในระดับไหน ก็ดำรงตำแหน่งตามนั้น ตามระบบและระยะเวลาการทำงาน

 

สิ่งที่พ่อสอนคือการปรับตัวและพัฒนา… 

 

ทั้งนี้ หลักการที่คุณพ่อสอนมาตลอด ส่วนใหญ่จะเป็นมุมมองการทำงาน คือ "การปรับตัวและการพัฒนา" ต้องคอยรับฟีดแบคจากลูกค้าเสมอ ว่าพวกเขามีความพึงพอใจหรือไม่ ถ้าไม่ ก็ควรรีบหาทางแก้ไขทันที

 

"เราต้องมองตัวเองเป็นลูกค้าเสมอ" เธอกล่าว

 

"เดินเข้าร้านของเราเอง แล้วลองถามตัวเองว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร"

 

แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องไม่ตัดสินจากมุมมองตัวเองเพียงอย่างเดียว สิ่งที่เราไม่ชอบไม่ได้แปลว่าลูกค้าจะไม่ชอบเสมอไป ทุกการตัดสินใจต้องยึดตามความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก และหากพบปัญหา ต้องแก้ไขโดยเร็วที่สุด เพราะการปล่อยให้ปัญหาค้างคา ไม่เพียงแต่ส่งผลต่อความพึงพอใจของลูกค้าเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อยอดขายในระยะยาวอีกด้วย 

 

“การทำงานตนเองอาจไม่ใช่คนที่ทะเยอทะยานสุดโต่ง แต่เป็นคนที่ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในทุก ๆ วัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ถ้ารับผิดชอบงานอะไร ก็ควรทำให้เต็มที่ และที่สำคัญ ต้องทำงานด้วยความสุข” บุณยวีร์ กล่าวทิ้งท้าย