ทีวีดิจิทัล ย้ำจุดยืน คงคลื่น 3500 MHz ป้องจอดำ สกัดทีวีไทยล่มสลาย
บิ๊กทีวีดิจิทัล ตบเท้า แสดงจุดยืนค้านนำคลื่น 3500 MHz ประมูลทำคลื่นมือถือ เหตุปัจจุบันใช้รองรับดูทีวีผ่านดาวเทียม หวั่นจอดับ ทีวีไทยล่มสลาย
จากการที่ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล เพื่อนำข้อมูลจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการและประชาชนไปประเมินผลกระทบจากการเปิดประมูลนำคลื่น 3500 MHz
เนื่องจากปัจจุบัน คลื่น 3500 MHz ใช้รองรับการรับชมทีวีผ่านดาวเทียมระบบ C Band ไปใช้ในกิจการโทรคมนาคม อันจะส่งผลให้เกิดจอดำครั้งใหญ่ และอาจเป็นจุดล่มสลายของอุตสาหกรรมดิจิทัลทีวีในครั้งนี้ถือเป็นประเด็นที่อุตสาหกรรมให้ความสำคัญอย่างมาก
ทั้งนี้ ในเวทีดังกล่าว นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบ ดิจิตอล (ประเทศไทย) นำโดยนายสุภาพ คลีขจาย และคณะ นำทัพผู้บริหารระดับสูงของดิจิทัลทีวีตบเท้าเข้าร่วมแสดงจุดยืนรักษาคลื่น 3500 MHZ พร้อมหน้า ไม่ว่าจะเป็น นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม (จีเอ็มเอ็มแกรมมี่ ), นายถกลเกียรติ วีรวรรณ (วันสามสิบเอ็ด) ,นายวัชร วัชรพล (ไทยรัฐทีวี), นายชาคริต ดิเรกวัฒนชัย (ช่อง 3) , นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ (เนชั่นทีวี) นางสาวนงลักษณ์ งามโรจน์ (ช่อง 8) , นายศิริ บุญพิทักษ์เกศ (อมรินทร์ทีวี ) โดยแสดงจุดยืนดังนี้
1. ความล้มเหลวจากการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์สู่ระบบภาคพื้นดิน (DVBT) ของ กสทช.ทำให้ระบบการรับชมทีวีของไทยในปัจจุบันรับชมผ่านระบบจานดาวเทียม (DVBC) ถึง 70% ซึ่งในจำนวนนี้รับชมในระบบ C Band ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz เป็นส่วนหนึ่งในการ รับส่งสัญญานถึง 60% กสทช.จึงควรดูแลรักษาความถี่นี้เพื่อผู้ชมทีวีส่วนใหญ่ของประเทศ ต่อไปให้นานที่สุดจนสิ้นสุดอายุของดาวเทียมไทยคม หรืออย่างน้อยจนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตเพื่อทดแทนการรับชมทีวีภาคพื้นดินที่ กสทช.ไม่สามารถขยายจำนวนฐานผู้ชมได้ตามคำชี้ชวน
2. คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูลพร้อมกันในคราวเดียว จากการศึกษาแผนงานร่วมกันของผู้ประกอบการโทรคมนาคม ชี้ชัดว่ากระบวนการการเตรียมความพร้อมในการเปลี่ยนผ่านหากต้องใช้คลื่น 3500MHz ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงเป็นเหตุผลสมควรที่สามารถเลื่อนแผนการประมูลคลื่น 3500 MHz ออกไปก่อน เพื่อให้ไม่กระทบต่อผู้ชมก่อนสิ้นสุดอายุใบอนุญาตของดิจิทัลทีวีปี 2572
3. กสทช. ควรเร่งวางภูมิทัศน์ของระบบทีวีแห่งชาติ หลังจากสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2572 รวมถึงการออกหลักเกณฑ์การประมูลครั้งต่อไปให้แล้วเสร็จ ภายในกลางปี 2568 เพื่อเห็นภาพรวมในอนาคตของอุตสาหกรรม ซึ่งมีความสำคัญต่อการคงอยู่ของโทรทัศน์แห่งชาติที่ประชาชนสามารถเข้าถึงอย่างสะดวกโดยไม่มีค่าใช้จ่ายอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม
อนึ่ง ใบอนุญาตของโทรทัศน์ระบบดิจิทัลจะสิ้นสุดอายุลงใน เดือน เม.ย. 2572 ท่ามกลางความผันผวนของเทคโนโลยีการรับชม และระหว่างเฝ้ารอความชัดเจนแผนของแม่บทในการดำเนินการโทรทัศน์แห่งชาติ หลังปี 2572
สมาคมฯและผู้ประกอบการได้เคยยื่นหนังสือถึงประธานกสทช. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของคลื่น 3500 MHZ ที่เป็นหัวใจหลักต่อการรับชมทีวีของคนไทยทั้งประเทศมาแล้ว
วันนี้จึงพร้อมใจกันมาแสดงจุดยืนในการรักษาคลื่นความถี่นี้ไว้อีกครั้ง เพื่อไม่ให้ทีวีไทยถึงคราวล่มสลายก่อนกาล
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบ ดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า ความล้มเหลวของการหาการรับการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์ของ กสทช. ทำให้ปัจจุบันการรับชมทีวีของคนไทยกว่า 70% ต้องรับชมผ่านระบบ C BAND ที่ใช้คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz การที่ กสทช. มีแนวคิดที่จะนำคลื่นความถี่ย่านดังกล่าวมาประมูล
ในขณะที่ยังคงอยู่ในสัญญาสัมปทาน จะสร้างความเสียหายให้กับทั้งอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล รวมถึงผู้รับชมกว่า 2,000,000 ครัวเรือน หรือราวประมาณ 10,000,000 คน
ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ ที่ปรึกษาพิเศษเครือเนชั่น แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ว่า กสทช.ควรนำคลื่นความถี่ 3500 MHz ออกมาประมูลหลังสิ้นสุดใบอนุญาตในเดือนเม.ย. 2572 กลุ่มทีวีดิจิทัลเห็นด้วย แต่ต้องมีแผนแม่บทรองรับ ก่อนใบอนุญาตสิ้นสุด ในระหว่างนี้ กสทช.ควรมีโรดแมพ และ ภูมิทัศน์ ที่ชัดเจน หลังสิ้นสุดใบอนุญาต ประชาชนสามารรับชมผ่านช่องทางไหนได้บ้าง เพราะทีวีดิจิทัล เป็นทีวีระดับชาติมีประชาชนรับชมมากที่สุดและความน่าเชื่อถือมากที่สุด
นายไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมยังมีเพียงพอต่อการใช้งาน ไม่มีเหตุจำเป็นต้องเร่งประมูล ที่สำคัญผู้ประกอบการ ยังต้องการเวลาในการเตรียมความพร้อมอีกมากกว่า 2 ปีในการเปลี่ยนผ่าน ดังนั้น กสทช. ไม่ควรเร่งการประมูลคลื่น 3500 MHz
พร้อมประเมินว่า หากมีการประมูลคลื่น 3500 MHz จะทำให้ภาคอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัลเสียหายมากกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมา ทางสมาคมฯ และผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล ได้เคยยื่นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อชี้ให้เห็นความสำคัญของคลื่น 3500 MHz ต่อการดำเนินธุรกิจและการรับชมทีวีของคนไทยมาแล้ว แต่ขณะนี้ ยังไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจน
หาก กสทช. ยืนยันที่จะนำคลื่น 3500 MHz ออกมาประมูล ทางสมาคมฯ และผู้ประกอบการ ก็พร้อมที่จะเดินหน้าขอความเป็นธรรมตามกฎหมาย