posttoday

พิชัย ชี้หุ้นไทยร่วงน้อย นักลงทุนมั่นใจแผนรับมือภาษีทรัมป์

04 เมษายน 2568

พิชัย รมว.คลัง เผยหุ้นไทยร่วงน้อยกว่าหลายประเทศ แม้ถูกสหรัฐขึ้นภาษีแรง สะท้อนนักลงทุนเชื่อมั่นรัฐบาลรับมือได้ ย้ำไม่ใช้มาตรการตอบโต้ เดินหน้าเจรจาสร้างสรรค์

นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดทุนไทยที่ปรับตัวลดลงหลังจากที่นาย โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าแบบฐานขั้นต่ำในอัตรา 10% จากทุกประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ โดยไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 36% ว่า แม้ดัชนีหุ้นไทยจะปรับตัวลดลง แต่เมื่อเปรียบเทียบกับหลายประเทศแล้ว ถือว่าหุ้นไทยร่วงในระดับที่น้อยมาก โดยเฉพาะประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางการค้ากับสหรัฐฯ ในสัดส่วนที่สูง เช่น ญี่ปุ่น ซึ่งสะท้อนว่านักลงทุนมีความเข้าใจในสถานการณ์ และเชื่อมั่นต่อพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทย รวมถึงมาตรการรับมือของภาครัฐ

ดัชนีหุ้นไทย ตกก็จริงแต่เมื่อเทียบกับประเทศที่ได้เปรียบการส่งออกแล้ว ก็ถือว่า อยู่ในระดับที่เข้าใจได้ แสดงว่าพื้นฐานนักลงทุนมีความเข้าใจ คงคิดว่าผลกระทบไม่มาก เพราะคิดว่า ด้วยเงื่อนไขว่ารัฐบาลมีแผนที่รับมือบางอย่างแล้ว
 

ส่วนกรณีที่หลายสถาบันเศรษฐกิจปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 ลงมาต่ำกว่า 2% โดยระบุว่าไม่รู้สึกแปลกใจ เนื่องจากผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีศุลกากรครั้งนี้ค่อนข้าง และมีความซับซ้อน และขยายวงกว้าง ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ไทยกับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ยังสะเทือนต่อระบบเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามสถานการณ์ครั้งนี้จะอยู่ที่ใครจะสามารถตั้งรับได้มากน้อยกว่ากัน 

 

พร้อมย้ำว่า รัฐบาลจะไม่ใช้มาตรการตอบโต้ทางการค้า แต่จะเดินหน้าเจรจากับสหรัฐฯ อย่างสร้างสรรค เพราะไทยเป็นประเทศที่ขนาดเล็ก ซึ่งจะดำเนิการอยู่บนพื้นฐานของความร่วมมือและความเข้าใจ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศในระยะยาว

เราต้องเข้าใจว่า โลกเชื่อมโยงกันมากขึ้น การที่ GDP ไทยจะชะลอลงจึงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่อยู่ที่ว่าเราจะบริหารจัดการผลกระทบเหล่านี้อย่างไร ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลจะทำคือการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การตอบโต้ เพราะไทยเป็นประเทศขนาดเล็ก และการรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าในระยะยาวสำคัญกว่า

นายพิชัยยังเน้นว่า แนวทางสำคัญหลังจากนี้ คือการสร้างสมดุลทางการค้า โดยไม่จำเป็นต้องลดการส่งออก ซึ่งยังเป็นฟันเฟืองหลักของเศรษฐกิจไทย แต่ควรมุ่งเน้นเพิ่มการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจ เช่น สินค้าเกษตร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG)

การส่งออกยังเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย สิ่งที่รัฐบาลต้องทำคือดูแลให้ดุลการค้าอยู่ในระดับเหมาะสม และสร้างความสมดุลผ่านการนำเข้าสินค้าที่จำเป็นมากขึ้น ไม่ใช่แค่ลดการส่งออกเพื่อลดแรงกดดันจากคู่ค้า