CRG ทุ่ม 1,200 ล้าน ขยาย 140 สาขา เติมส่วนที่ขาด ลุยชาบู-ปิ้งย่าง
CRG งัดกลยุทธ์ปี’68 ทุ่ม 1,200 ล้าน เปิดสาขาใหม่กว่า 140 สาขา เติมเต็มธุรกิจที่ยังขาด ชาบู-ปิ้งย่าง ปิดธุรกิจที่ไม่ทำกำไร เปิดโอกาส SME เข้ามาร่วมพอร์ต
ท่ามกลางการแข่งขันที่ดุเดือดในธุรกิจร้านอาหาร CRG ยักษ์ใหญ่แห่งวงการ กำลังส่งสัญญาณว่าตลาดเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง แม้จะต้องเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นคู่แข่งรายใหม่ที่ผุดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรือแม้แต่เหตุการณ์ไม่คาดฝันอย่างแผ่นดินไหว แต่ในมุมมองของ CRG ธุรกิจอาหารยังคงเดินหน้าต่อไปได้เสมอ เพราะไม่ว่าอย่างไร ผู้คนก็ยังต้องบริโภคอาหารในทุกมื้อ
อย่างไรก็ตาม การอยู่รอดในตลาดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหากไม่มีการปรับแบรนด์ให้โดนใจผู้บริโภค ต่อให้อยู่มานานค้างฟ้ามากแค่ไหน ก็มีสิทธิ์ที่จะล้มหายตายจากได้เช่นกัน
“แม้แต่แบรนด์ KFC ที่เป็นแบรนด์เก่าแก่คนรู้จักทั่วโลก ก็ยังต้องปรับภาพลักษณ์แบรนด์ให้สดชื่นขึ้น”
คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) กล่าวเช่นนั้น
เขากล่าวต่อว่า ภาพรวมปี 2567 ที่ผ่านมาธุรกิจเผชิญกับหลายสถานการณ์ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวแบรนด์ร้านอาหารใหม่ ๆ ที่เพิ่มการแข่งขันในตลาด ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงพฤติกรรมของกลุ่มผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตลอดจนการเข้ามารุกคืบของทุนจีน ที่ไม่ได้มีแค่ร้านอาหาร แต่ยังรวมถึงธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วย ซึ่งก็เป็นเรื่องที่มองว่าท้าทาย
และคาดการณ์ว่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2568 จะขยายตัวราว 5 - 7% คิดเป็นมูลค่ารวม 572,000 ล้านบาท แม้ตลาดจะยังคงเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรง เนื่องจากต้นทุนการลงทุนที่ไม่สูง ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่สามารถเข้าสู่ตลาดได้ง่าย โดยเฉพาะในกลุ่มร้านอาหารประเภทข้าว และก๋วยเตี๋ยวที่เริ่มต้นได้ไม่ยาก
แบรนด์ร้านอาหารจะต้องตั้งรับแบรนด์หน้าใหม่ที่กำลังจะเข้าสู่ตลาดอีกเป็นจำนวนมาก หากสังเกตจะเห็นว่าแบรนด์ใหม่ที่เข้ามาจะใช้สื่อทำการตลาดอย่างหนัก บางแบรนด์เปิดตัวกระแสแรงมาก แต่ผ่านไปไม่นานก็หายไปจากตลาด
“ผมมองว่า ถ้าในธุรกิจอาหารมีโปรดักส์ที่ใช่ โอกาสที่จะทำให้ธุรกิจขยายตัวได้มากๆ ก็จะเกิดขึ้น”
คุณณัฐ กล่าวต่อว่า แม้แต่แบรนด์เก่าแก่ ถ้าอยู่นานโดยไม่ปรับปรุงอะไรเลย ก็ยากที่จะไปต่อได้ อย่าง อานตี้ แอนส์ CRG ก็พยายามจะปรับภาพลักษ์ให้ดูสดใสมากขึ้น ทำการตลาดเจาะคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่ว่าเป็นแบรนด์ขนมของรุ่นป้า
ของแพง-ของถูกไม่เกี่ยว คนชอบพรีเมี่ยมคุ้มค่า
ยิ่งไปกว่านั้น เทรนด์ผู้บริโภคจะนิยมการบริการระดับพรีเมียมมากขึ้น mindset เกี่ยวกับ ของแพง-ของถูก กลายเป็นเรื่องที่หลายคนประเมินผิด เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันอาจจะไม่ได้ชอบของถูกเสมอไป เพียงแต่ชอบความคุ้มค่า สมเหตุสมผลกับราคา
โดยคุณณัฐ ได้ยกตัวอย่างแบรนด์ในเครืออย่าง โอโตยะ ที่มีการเพิ่มเมนูลิ้นวัวพรีเมียม เข้ามา ซึ่งราคาไม่ถูก แต่ผู้บริโภคเข้าใจเรื่องของคุณภาพ ราคาที่แฟร์ จึงทำให้ผลตอบรับจากลูกค้าดีมากสำหรับเมนูนี้
ศักยภาพตลาดร้านอาหารระดับกลางยังไปได้
ในแง่ของกำลังซื้อ แม้เศรษฐกิจจะได้รับแรงกดดันจากหลายปัจจัย แต่ CRG ยังคงมองเห็นศักยภาพของตลาดร้านอาหารระดับกลาง โดยเฉพาะเมื่อภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ช่วยหนุนการใช้จ่ายในภาคอาหาร ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ผู้บริโภคยังคงให้ความสำคัญ
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องจับตามองคือ ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่อาจทำให้โรงงานและธุรกิจบางส่วนต้องปิดตัวลง ผลจากตรงนี่ จะส่งผลต่ออัตราการจ้างงานและกำลังซื้อของประชาชน กระทบโดยตรงต่อการเติบโตของร้านอาหารระดับกลางในบางพื้นที่
สำหรับ CRG มีแบรนด์ร้านอาหารรวม 21 แบรนด์ ยอดขายส่วนใหญ่มาจากแบรนด์เรือธง เคเอฟซี, อานตี้ แอนส์, โอโตยะ, มิสเตอร์โดนัท, สลัดแฟคทอรี่ ฯลฯ
ปีที่ผ่านมา CRG เติบโต 9% ปิดรายได้ทะลุ 15,800 ล้านบาท มีจำนวนสาขามากกว่า 1,300 สาขาทั่วประเทศ
งบ 1,200 ล้านขยายสาขา-พัฒนาแบรนด์
คุณณัฐ บอกว่า เตรียมงบ 1,200 ล้านบาท กับการขยายสาขา และพัฒนาแบรนด์ใหม่ โดยแบ่งเป็น 800 ล้านบาทขยายสาขาใหม่ และ 200 ล้านบาทรีโนเวทสาขาปัจจุบัน และอื่นๆ อีก 200 ล้านบาท
เติมส่วนที่ยังขาด ชาบู-ปิ้งย่าง
การขยายตลาดเขาบอกว่าอาจมองหาส่วนที่ขาดนั่นก็คือ ชาบู-ปิ้งย่าง ที่ยังไม่มีธุรกิจนี้ในเครือ โดยมองว่าเป็นเซ็กเมนต์ที่มีดีมานด์สูง แต่ก็มีคู่แข่งจำนวนมากเช่นกัน แม้ว่ามีแนวคิดจะเปิดตลาดนี้มาแล้วหลายรอบ แต่ปีนี้ก็ยังคงมองว่ามีโอกาส
เนื่องจากอยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งการพัฒนาแบรนด์เองและการร่วมทุน (Joint Venture) กับแบรนด์ที่ได้รับความนิยมและสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว เช่น โอโตยะ ที่กำลังเปิดตัวธุรกิจชาบูของตัวเอง หรือแม้แต่อาหารสรีทฟู้ด ก๋วยเตี๋ยวเรือก็น่าสนใจ
จากประสบการณ์การร่วมทุนที่ประสบความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา ปัจจุบัน CRG มีรายได้จากธุรกิจร่วมทุนคิดเป็น 20% ของรายได้ทั้งหมด และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง
ในอนาคต หากแบรนด์ที่ร่วมทุนสามารถขยายตัวได้ตามแผน ซึ่งตอนนี้ก็ยังมองว่าอยากจะร่วมทุนกับ SME รายใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพเช่นเดียวกัน
และปีนี้ตั้งเป้าขยายสาขาใหม่ 120 - 140 สาขา ผลักดันรายได้สู่ 17,900 ล้านบาท เติบโต 13%