
Typhoon เบอร์หนึ่ง LLM ภาษาไทย หนุนอุตสาหกรรม AI ปั้นเศรษฐกิจประเทศ
หลายคนคงคุ้นเคยกับการใช้ Chat GPT แชตบอต AI ที่สามารถประมวลผล และตอบคำถามเราได้แบบอัตโนมัติ แต่หากเราต้องการถามเมนูอาหารไทย เช่น ไก่ย่าง สูตรที่ได้อาจไม่ใช่ไก่ย่างแบบไทยๆ หรือแม้แต่การสอบถามแหล่งท่องเที่ยวในประเทศไทย ก็อาจจะเป็นมุมมองที่ไม่ใช่แบบที่คนไทยต้องการนำเสนอ เพราะ AI ต่างชาติ จะกวาดข้อมูลจากทั่วโลกให้เรา ที่สำคัญเรามักเป็น เพียง “ผู้ใช้” รอการพัฒนาใหม่ๆของ AI ต่างชาติ เท่านั้น
สร้างจุดเปลี่ยนอุตสาหกรรม AI ไทย
อรวี สมิทธิผล Developer Relations Manager แห่ง SCB 10X เล่าถึงแรงบันดาลใจในการพัฒนา Typhoon โมเดลภาษาไทยขนาดใหญ่ (LLM : Large Language Models) ในการประมวลผล Generative AI เพื่อภาษาไทย โดยเน้นเป็นระบบเปิดให้นักพัฒนาสามารถต่อยอดธุรกิจไทยในทุกอุตสาหกรรม เพื่อเปลี่ยนจาก “ผู้ใช้” เป็น “ผู้สร้าง” เพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรม AI ของไทยสู่การแข่งขันบนเวทีระดับโลก
เพียงเวลาปีกว่า ปัจจุบัน Typhoon เป็นโมเดลภาษาไทยที่มียอดดาวน์โหลดสะสมสูงสุดในตลาดอยู่ที่ 4 แสนดาวน์โหลด ขณะที่นักพัฒนามีการเรียกใช้ API ของ Typhoon แล้วกว่า 21 ล้านครั้ง เราจึงมั่นใจว่าเราคือโมเดลโอเพ่นซอร์สภาษาไทยอันดับ 1 ในตลาด
ภาพรวมในตลาด LLM ส่วนใหญ่บริษัทต่างชาติ เป็นผู้พัฒนา ซึ่งก็มีข้อจำกัดอย่างที่ อรวี ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น ขณะที่ในประเทศไทย แม้พบว่ามีโมเดลภาษาไทยอยู่บ้าง แต่ก็มีเพียงไม่กี่ราย ซึ่งจากยอดดาวน์โหลด ทำให้เธอมั่นใจว่า Typhoon คือ เบอร์ 1 ในตลาด เพราะ Typhoon มีเทคโนโลยีที่อัพเดทตลอดเวลา
อรวี สมิทธิผล Developer Relations Manager แห่ง SCB 10X
“สิ่งสำคัญของ Typhoon คือ เราทำเป็นระบบโอเพ่น ซอร์ส นั่นหมายความว่า เราไม่ได้เก็บองค์ความรู้ไว้กับตัวเอง เราเปิดระบบให้นักพัฒนานำไปสร้าง AI เป็นของตนเองได้ ” อรวี กล่าวถึงข้อดีของ Typhoon พร้อมกล่าวเสริมว่า เมื่อใช้ของไทย เงินก็ไม่ไหลออกนอกประเทศ ช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยเติบโต ไม่เพียงแต่องค์กรขนาดใหญ่เท่านั้นที่ได้ประโยชน์ สตาร์ทอัพของไทยก็มีโอกาสเติบโตด้วย Typhoon ทำให้สามารถมีแต้มต่อในการสร้างแอปพลิเคชันต่างๆได้อย่างง่ายและรวดเร็วทำให้อุตสาหกรรมของไทยสร้าง AI ของตนเอง
โรดแมป Typhoon ต้องครอบคลุมและเข้าถึงง่าย
สำหรับพัฒนาการของ Typhoon อรวี เล่าว่า เริ่มจากเวอร์ชัน 1.0,1.5x และ 2.0 ซึ่งแต่ละเวอร์ชันจะเป็นการพัฒนาด้านเทคโนโลยีให้มีความฉลาดขึ้น โดยเวอร์ชัน 2.0 มีความพิเศษขึ้น 2 เรื่องใหญ่ คือ การให้เหตุผล เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการให้ข้อมูล หากมีการถามคำถามที่กว้างเกินไป Typhoon จะมีการถามกลับให้ชัดเจนว่าสิ่งที่ต้องการคืออะไร ก่อนจะเริ่มคิดและตอบเป็นขั้นตอนเพื่อให้ได้คำตอบที่แม่นยำ อีกจุดหนึ่งคือ โมเดลสามารถทำงานได้มากกว่าแค่กับข้อความ แต่ปัจจุบันสามารถทำงานกับเสียงและรูปภาพได้ เช่น การถามเกี่ยวกับข้อมูลที่อยู่ในไฟล์เสียงหรืออยู่ในรูปภาพ
กฤษณพงษ์ จิระยุติ Program Manager แห่ง SCB 10X
ขณะที่ กฤษณพงษ์ จิระยุติ Program Manager แห่ง SCB 10X กล่าวเสริมว่า โรดแมปของ Typhoon ในปีนี้คือ ต้องการให้ “Typhoon เข้าถึงง่าย” ซึ่งปกติการนำโมเดลมาพัฒนาในระบบโอเพ่น ซอร์ส ผู้ใช้งานจำเป็นต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ ระบบประมวลผล หรือ การ์ดจอ รองรับ ซึ่งค่อนข้างราคาแพง ดังนั้น Typhoon จะพัฒนาให้เป็นโมเดลที่ไม่จำเป็นต้องมีระบบคอมพิวเตอร์ที่การประมวลผลสูงขนาดนั้น ไม่ต้องลงทุนมาก ก็สามารถใช้งานและนำไปต่อยอดพัฒนาได้ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหาพาร์ทเนอร์ในการทำงานร่วมกัน
นอกจาก Typhoon ต้องเข้าใจภาษาไทย และเพิ่มการประมวลผล จากเสียงสู่ข้อความ และจากข้อความสู่เสียง รวมถึงการสั่งงานด้วยข้อความสู่รูปภาพ และการแปลข้อความจากรูปภาพที่ต้องพัฒนาให้ดีขึ้นตามเทรนด์ของเทคโนโลยี แล้ว เรื่องการเข้าใจวัฒนธรรมไทยก็เป็นสิ่งสำคัญของ Typhoon ที่ทีมต้องพัฒนาให้คนไทยได้คุยกับ Typhoon เหมือนการพูดคุยกับคนไทยจริงๆ
Typhoon หนุนทุกอุตสาหกรรมไม่จำกัดแค่ฟินเทค
แน่นอนว่า คำถามที่ตามมาคือ Typhoon พัฒนาโดย SCB 10X บริการถูกจำกัดเฉพาะในอุตสาหกรรมการเงินหรือไม่นั้น กฤษณพงษ์ ตอบอย่างหนักแน่นว่า “ไม่” เพราะปัจจุบันมีอุตสาหกรรมหลากหลายที่ใช้งาน Typhoon
เขายกตัวอย่างในวงการกฎหมาย ซึ่งสถาบันวิทยสิริเมธี นำไปพัฒนาเป็น แชทบอทด้านกฎหมาย ชื่อ สมหมาย มีความสามารถในการค้นหาและตอบคำถามทางกฎหมาย โดยใช้ฐานข้อมูลที่ครอบคลุมกฎหมายธุรกิจของประเทศไทย พร้อมทั้งมีการปรับ Fine-tuning เพื่อเพิ่มความถูกต้อง พร้อมสนับสนุนการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันของประชาชนและธุรกิจ
อุตสาหกรรมการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศิริราช ใช้ แชทบอท ในการตอบคำถามของศูนย์นวัตกรรมข้อมูลศิริราช (SiData+) แทนการใช้คน หรือแม้แต่ในงานวิจัย ทีดีอาร์ไอ ก็นำ Typhoon เป็นเครื่องมือในการสรุปข้อมูลเกี่ยวกับตลาดแรงงานในประเทศไทย เป็นต้น
ดังนั้น Typhoon จึงเป็น LLM โมเดลภาษาไทยที่เข้าใจคนไทย และเป็นระบบเปิดให้ทุกอุตสาหกรรมตั้งแต่สตาร์ทอัพไปถึงองค์กรขนาดใหญ่ มุ่งสู่ AI ในแบบของตนเองได้
ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมและติดต่อทีมได้ที่ https://opentyphoon.ai