ศาลฯยกฟ้อง 4 กสทช.ผิด 157 สอบ ไตรรัตน์ หนุนบอลโลก 600 ล้านบาท
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้อง 4 กสทช.คดี ถูก ไตรรัตน์ ฟ้อง เคสหนุนงบบอลโลก 600 ล้านบาท เหตุน้ำหนักไม่เพียงพอ
วันนี้ (8 เม.ย. 2568) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ยกฟ้อง 4 กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้แก่ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 1), นางสาวพิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 2), นายศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 3), นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์ กรรมการ กสทช. (จำเลยที่ 4) และ 1 อดีต รองเลขาธิการกสทช.นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ กสทช. (จำเลยที่ 5)
โดยนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการเลขาธิการสำนักงาน กสทช.ฟ้องในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86, 157 พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ.2561 มาตรา 172
สำหรับคดีที่ นายไตรรัตน์ฟ้อง กรรมการ กสทช. ทั้ง 4 นั้น สืบเนื่องมาจากกรณีที่มีผู้บริโภคสื่อจำนวนมากไม่สามารถรับชมการถ่ายทอดฟุตบอลโลก ในปี 2565 ทั้งที่ กสทช. ได้สนับสนุนงบซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอด FIFA World Cup Final 2022 เป็นจำนวนเงิน 600 ล้านบาท โดยเป็นการบันทึกข้อตกลงระหว่างสำนักงาน กสทช. และการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) มีสาระสำคัญ คือ กกท. มีหน้าที่บริหารจัดการสิทธิที่ได้รับจาก FIFA ให้มีการออกอากาศที่ครอบคลุมกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ทุกประเภทอย่างเท่าเทียม เป็นธรรม และไม่เลือกปฏิบัติเพื่อให้สาธารณะได้รับชมการถ่ายทอดสดอย่างทั่วถึงโดยไม่มีค่าใช้จ่าย
ต่อมาปรากฏว่า กกท. ได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมมือกับบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยมีข้อกำหนดที่ไม่สอดคล้องกับระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง และไม่สอดคล้องกับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฯ ที่ กกท. ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. จนทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่สามารถุรับชมการถ่ายทอดสด เพราะสิทธิการหาประโยชน์จากการถ่ายทอดสดอยู่ในมือบริษัทเอกชน
จึงมีคำถามต่อมาว่า เหตุใด กกท. จึงได้มีการทำบันทึกกับเอกชนที่ขัดหรือแย้งกับบันทึกข้อตกลงที่ กกท.ทำไว้กับสำนักงาน กสทช. โดยที่ไม่มีการเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาก่อนการดำเนินการ
และขณะนั้นได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีการดำเนินการของสำนักงาน กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย” ซึ่งคณะอนุกรรมการดังกล่าวได้หนึ่งในข้อสรุปที่พบว่า การดำเนินการของการกระทำของนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เกี่ยวกับการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย อาจมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ประกาศที่เกี่ยวข้อง และมติที่ประชุม กสทช.
หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2566 ในการประชุมคณะกรรมการ กสทช. คณะกรรมการ กสทช. ทั้ง 4 คนได้มีมติเสียงข้างมากให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัย นายไตรรัตน์ และเปลี่ยนตัวรองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เป็นนายภูมิศิษฐ์ จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ซึ่งเป็นที่มาของการที่นายไตรรัตน์ได้ฟ้อง กสทช. ทั้ง4 ในความผิดมาตรา 83, 86 และ 157
เปิดคำพิพากษา 4 กสทช.
สำหรับคำตัดสิน ศาลพิเคราะห์เเล้ว เห็นว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่าจำเลยทั้ง5 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่เห็นว่าคณะกรรมการ กสทช.มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ตามมาตรา 27 มีหน้าที่ในการพิจารณาอนุมัติให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพและเป็นธรรมเเละมาตรา 20 มีหน้าที่อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายพิจารณาให้ความเห็นชอบจัดสรรงบประมาณและอนุมัติโดยคำสั่งตาม พรบ.นี้หรือตามที่รับมอบหมาย
การมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 2022 เป็นการได้กระทำการตามที่ระเบียบ กสทช. กำหนดไว้ ข้อเท็จจริงเห็นได้ว่าในการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสนับสนุนค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดดังกล่าวได้กระทำตามอำนาจหน้าที่โดยมีการตรวจสอบข้อเท็จจริงสรุปความคิดเห็นเสนอต่อที่ประชุม กสทช.ตามลำดับจัดการตรวจสอบและการประชุมรวม7 ครั้งภายใน3 เดือนตั้งแต่วันที่ 2 ก.พ.-28 เมษายน 2566
จากพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งหมดมิได้มีข้อพิรุธแต่ประการใดการตรวจสอบข้อเท็จจริงมีรายละเอียดชัดเจนโจทก์ในฐานะเลขาธิการ กสทช. จะมีการฝ่าฝืนข้อปฏิบัติของพนักงานรัฐ และผิดวินัย และการที่จำเลยที่1-4มีมติเห็นชอบผลการสอบสวนวินัยแก่โจทก์เป็นการเสนอตามระเบียบวาระการประชุมชอบด้วยพรบ.วิทยุกระจายเสียงแห่งชาติปี 2553 ประกอบระเบียบฯเรื่องวาระการประชุม
ส่วนการแต่งตั้งจำเลยที่5มารักษาการแทนก็มาจากเป็นผลจากการที่โจทก์มีการพิจารณาต่อเนื่อง ในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเป็นการพิจารณาตามวาระการประชุมที่ชอบด้วยบทบัญญัติด้วยเช่นกัน ในส่วนจำเลยที่ 5 เห็นว่าการกระทำของจำเลยที่5 เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ซึ่งเป็นไปตามระเบียบจากวาระที่ประชุมพยานหลักฐานโจทก์ ไม่มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยทั้ง5 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 การกระทำของจำเลยทั้ง5 ชอบด้วยกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยพยานหลักฐานของจำเลยเพราะไม่ ทำให้คำพิพากษาเปลี่ยนแปลง พิพากษายกฟ้อง
สำหรับคดีนี้มีผู้พิพากษาที่พิจารณาในสำนวนได้ทำความเห็นแย้งแนบท้ายคำพิพากษาซึ่งเป็นผลร้ายแก่จำเลยโดยระบุว่าการทำหน้าที่ของจำเลยที่1-4 ไม่โปร่งใสมีความจงใจให้โจทก์ออกจากตำแหน่งได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงเป็นที่เคลือบเเคลงความสงสัยต่อการทำหน้าที่ การกระทำของจำเลยที่1-4 เป็นความผิดตามโจทก์ฟ้อง
นายภูมิศิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ
ส่วนจำเลยที่5 ก็กระทำความผิดในการเร่งรัดขั้นตอน ในการเข้ามารับหน้าที่รักษาการแทน และเห็นว่าภายหลังมีคำสั่งยกเลิกการสอบสวนโจทก์ทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ไม่เลวร้ายพฤติกรรมแห่งคดีการลงโทษจำเลยทั้ง5 ไม่มีประโยชน์จึงให้รอการลงโทษพิพากษาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำความผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา83 พรบ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯมาตรา 172 ให้ลงโทษจำคุกคนละหนึ่งปีปรับคนละ 100,000 บาทโทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี