ครม.ไฟเขียว พ.ร.ก.ปราบอาชญากรรมออนไลน์-พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล

08 เมษายน 2568

อุดช่องโหว่อาชญากรรมออนไลน์ – คุมเข้มสินทรัพย์ดิจิทัล P2P พร้อมให้ธนาคารและค่ายมือถือ ร่วมรับผิด มีผลวันถัดไปหลังประกาศลงราชกิจจานุเบกษา

การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 เม.ย. 2568 มีมติเห็นชอบ พ.ร.ก. มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล  ที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยทั้ง 2 ฉบับผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว และมีการปรับปรุงรายละเอียดร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เหมาะสมกับภารกิจของแต่ละหน่วยงาน มีผลบังคับใช้ทันที

นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า จากเดิมที่กระทรวงดีอี ได้ เสนอแก้ไข พ.ร.ก.ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี แต่  คณะกรรมการกฤษฎีกา เห็นว่าควรนำเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล ไปรวมกับ  พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จึงต้องเสนอแก้ในส่วนของ  พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล ด้วย เพื่อให้อำนาจในการควบคุมดูแล ไปอยู่กับหน่วยงานกำกับ คือ  สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต.

สำหรับสาระสำคัญของการแก้ไข  พ.ร.ก.ที่เสนอเข้าที่ประชุม แยกตามลักษณะของปัญหา โดย พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล จะมุ่งควบคุมธุรกรรมการแลกเปลี่ยนบุคคลสู่บุคคล (peer-to-peer หรือ P2P) ที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี โดยให้อำนาจ ก.ล.ต. ในการกำกับดูแล รวมถึงการจัดการกับแพลตฟอร์มต่างชาติที่มีการทำธุรกิจกับผู้ใช้งานในไทย เช่น ใช้ภาษาไทยหรือบัญชีธนาคารไทย หากไม่ขออนุญาตจะมีโทษตามกฎหมาย โดย  ก.ล.ต. จะเป็นหน่วยงานกำกับดูแล และตรวจสอบ หากผิดกฎหมาย จะเสนอกลับมาให้อำนาจกระทรวงดีอี ปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มดังกล่าวทันที

ส่วน พ.ร.ก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี จะมุ่งเน้นการรแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ โดยเฉพาะการหลอกลวงผ่านลิงก์และระบบออนไลน์ต่าง ๆได้กำหนดให้ผู้ให้บริการ เช่น ธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม และแพลตฟอร์มโซเชียล ต้องมีมาตรการควบคุม  หากไม่ดำเนินการในมาตรฐานที่ควรเป็น ละเลยจนเกิดความเสียหายจะต้องร่วมรับผิดชอบ 

พร้อมให้อำนาจ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ในการคืนเงินเหยื่อได้ หากสามารถพิสูจน์เส้นทางการเงินได้ชัดเจน โดยไม่ต้องรอคำสั่งศาลเหมือนในอดีต 

Thailand Web Stat