จับตา กนง. ลดดอกเบี้ย ช่วยลดผลกระทบภาษีทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทย
ลุ้น กนง. ลดดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อไทยเดือน มี.ค.68 เพิ่มขึ้น 0.84% ต่ำกว่าคาด สัญญาณบอนด์ยีลด์ 10 ปี ลดลงสะท้อนไปก่อนแล้ว ช่วยลดผลกระทบภาษีทรัมป์ต่อเศรษฐกิจไทย
เมื่อเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มชะลอตัวลง คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มักจะถูกมุ่งเป้าให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
ล่าสุด ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) เก็บภาษีตอบโต้เพิ่มเติมกับคู่ค้าของสหรัฐฯ บางประเทศ ในอัตรา 10-49% จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 9 เม.ย.2568 และมาตรการภาษีศุลกากรแบบครอบจักรวาล (Universal Tarrifs) เรียกเก็บภาษีศุลกากรพื้นฐานในอัตรา 10% จากทุกประเทศ มีผลบังคับใช้วันที่ 5 เม.ย.2568
จากกรณีดังกล่าวก็มีการเรียกร้องให้ กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีกเช่นกัน
หลังจากหลายสำนักได้มีการประเมินภาษีทรัมป์จะกระทบต่อเศรษฐกิจไทย อาทิ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ CIMBT คาด GDP ไทยมีโอกาสโตต่ำ 2%
ขณะที่ บล.บัวหลวง คาดจะกดดันเศรษฐกิจไทยปี 2568 เติบโตต่ำกว่า 1% และประเมินทรัมป์เก็บภาษีตอบโต้กระทบเศรษฐกิจไทยขยายตัวลดลงเหลือ 1.4%
ทั้งนี้ ล่าสุด ธปท.ได้ออกมาระบุว่า อยู่ระหว่างการประเมินผลกระทบกรณีทรัมป์ปรับขึ้นภาษีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งต้องคำนึงถึงปัจจัยและช่องทางต่างๆ ที่ผลของมาตรการจะถูกส่งผ่านมายังภาคเศรษฐกิจให้ครบถ้วน
โดย ธปท. จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และพร้อมดูแลความผันผวนในตลาดการเงินเพื่อลดผลกระทบต่อภาคธุรกิจและเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวม
อย่างก็ไรก็ตาม ในมุมมองของนักวิเคราะห์ เห็นพ้องไปทิศทางเดียวกันว่าด้วยหลายปัจจัยสะท้อนความเป็นไปได้ และมี ROOM ที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยโยบายลง
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า คระกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในวันที่ 30 เม.ย.นี้ หลังจากอัตราเงินเฟ้อไทย ในเดือน มี.ค.2568 เพิ่มขึ้น 0.84% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ และเพื่อเป็นการลดผลกระทบจากการที่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ขึ้นภาษีทั่วโลก ซึ่งไทยถูกเก็บภาษีอยู่ที่ 37% ซึ่งจะมีต่อเศรษฐกิจไทย
โดย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง ครั้งละ 0.25% หลังจากปรับลดอัตราดอกเบี้ยไปแล้ว 1 ครั้ง ในอัตรา 0.25% เหลือ 2.00% ต่อปี ในการประชุม กนง. ครั้งแรกของปี 2568 เมื่อเดือน ก.พ.2568 ที่ผ่านมา ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายเหลือ 1.50% ต่อปี ในสิ้นปี 2568
นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ พาย จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “โพสต์ทูเดย์” ว่า มีโอกาสที่ กนง. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ในเดือน เม.ย.นี้ หรือเดือน มิ.ย.2568 เนื่องจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 10 ปี ของไทย ปรับลดลง 25-30 bps สะท้อนไปแล้ว
ด้าน บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หลังจากที่ TRUMP ประกาศเก็บภาษีตอบโต้ทั่วโลก ทำให้นักลงทุนกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯจะปรับตัวขึ้นในอนาคต ดังนั้นดอกเบี้ยนโยบายจึงควรอยู่ระดับสูง ส่งผลให้ BOND YIELD สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแรงวานนี้ จาก 3.86% เป็น 4.21% (+35 BPS.) ซึ่งคล้ายคลึงกับเหตุการณ์ในอดีตอย่างช่วง GREAT DEPRESSION ในปี 1930-1932 ที่ดอกเบี้ยนโยบายมีโอกาสปรับขึ้นก่อนจาก 4.0% สู่ระดับ 6.25% (กังวลเงินเฟ้อสูงขึ้น) ก่อนที่จะทยอยปรับลงหลังจากนั้น 6.25% สู่ 2.0% (ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว)
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเงินเฟ้อในปัจจุบันกับราคาน้ำมันดิบถือว่าอยู่ระดับต่ำกว่าในอดีตมาก จึงทำให้แม้ FED WATCH TOOL จะคาดว่าการประชุมเดือน พ.ค.2568 FED จะคงดอกเบี้ยไว้ระดับเดิมที่ 4.50% แต่การประชุมถัดๆ ไปยังมีโอกาสทยอยลดดอกเบี้ยเรื่อยๆ โดยในปีนี้มีโอกาสลดดอกเบี้ยถึง 4 ครั้งราว 1%
ขณะที่ในมุมของประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ผ่านมาประกาศเงินเฟ้อ มี.ค.2568 +0.84%YoY (ต่ำคาดและเดือนก่อนหน้า) โดยหากนำดอกเบี้ยนโยบายมาคิด REAL INTEREST จะอยู่ระดับ 1.16% ซึ่งถือว่ายังพอมี ROOM ให้ กนง. ลดดอกเบี้ยได้ในอนาคต (ฝ่ายวิจัยฯ คาดลดดอกเบี้ยช่วงครึ่งหลังของปี 2568) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วง TRADE WAR 1.0 ที่มี REAL INTEREST เพียง 0.74% ในช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งน่าจะพอเป็นปัจจัยหนุนให้ FLOW ต่างชาติที่ซื้อสุทธิตราสารหนี้ในช่วงที่ผ่านมาทยอยไหล และกลับเข้าตลาดทุนได้บ้าง