สศค. คาดภาษีทรัมป์ ฉุดศก.โลกชะลอ จีดีพีไทยเสี่ยงถดถอยทางเทคนิค
สศค. คาดนโยบายภาษีทรัมป์ ฉุดศก.โลกชะลอเหลือ 2.8% ในปี 2568 จากคาดการณ์เดิม 3.2% ขณะที่ ศก.ไทยเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค หากจีดีพีลดลง 2 ไตรมาสติดต่อกัน
ดร. พงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาคจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวในงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ภายใต้หัวข้อ "ผ่ากำแพงภาษี" ทรัมป์ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ: Out of The Trump’s Uncertainty" ว่า นโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กำลังสร้างแรงกระเพื่อมในเศรษฐกิจโลกอย่างรุนแรง เนื่องจากการตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโลก และอาจทำให้เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบอย่างมากในระยะยาว
การขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยเฉพาะภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้นกว่า 104% ต่อสินค้านำเข้าจากจีน และภาษีที่มีผลกับประเทศอื่นๆ ตั้งแต่วันที่ 9 เมษายนนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงในเชิงเศรษฐกิจ และเป็นการท้าทายหลักการทางเศรษฐศาสตร์ของดาวิด ริคาร์โด ที่สนับสนุนการแบ่งงานการผลิตระหว่างประเทศต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อให้เกิดการค้าระหว่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการผลิต แต่การดำเนินนโยบายของทรัมป์กลับพยายามดึงการผลิตกลับไปที่สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้เกิดการปรับสมดุลในระบบเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ขณะนี้มีการขาดดุลการค้าอย่างมาก
การที่ทรัมป์ทำในตอนนี้เหมือนกับธานอสในภาพยนตร์ Avengers ที่ดีดนิ้วแล้วสามารถปรับสมดุลในโลกได้ แนวทางการปรับตัวของทรัมป์ที่ต้องการให้สหรัฐฯ มีการค้าที่ยุติธรรมและสมดุลกับประเทศอื่นๆ
อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการปรับขึ้นภาษีของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ สศค. คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2568 อาจขยายตัวเพียง 2.8% จากที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ 3.2% ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทยที่พึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก โดยอาจทำให้จีดีพีของไทยติดลบ 2 ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งจะถือเป็นภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือ Technical Recession ในทางเทคนิค
ในการปรับประมาณการจีดีพีของไทยในปี 2568 ของสศค.ในวันที่ 28 เม.ย.นี้ ยอมรับว่ามีความท้าทายอย่างมากต่อการคาดการณ์ เพราะมีทั้งกรณีแผ่นดินไหว และนโยบายภาษีของสหรัฐ สถานการณ์นี้น่าจะ 10 พลัสเลย อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตาม เพราะช่วงนี้ยังอยู่ในช่วงฝุ่นตลบ
ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับปัญหาความไม่แน่นอนจากภาษีที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้ราคาสินค้าที่จำหน่ายในสหรัฐฯ สูงขึ้นตามกำแพงภาษี ส่งผลให้เงินเฟ้อในสหรัฐฯ พุ่งสูงขึ้น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจจะชะลอตัวลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า Stagflation หรือการเติบโตชะลอและเงินเฟ้อสูง ทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีความยากลำบากในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในช่วงที่เศรษฐกิจตกต่ำและเงินเฟ้อสูง
ขณะที่ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากการขึ้นภาษีนี้ เนื่องจากสินค้าใหญ่ที่ไทยส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ยางรถยนต์ เซมิคอนดักเตอร์ และหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งรวมถึง 40% ของมูลค่าการส่งออกไทยไปสหรัฐฯ จะเผชิญกับการลดลงในปริมาณการส่งออก ขณะเดียวกันการลดกำลังการผลิตในประเทศจะส่งผลกระทบต่อภาคแรงงานและรายได้ภายในประเทศ โดยคาดการณ์ว่าอาจจะลดลงประมาณ 5% ต่อปี
การลดลงของกำลังการผลิตจะกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและแรงงาน ซึ่งส่งผลต่อการบริโภคภายในประเทศและการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจมหภาคและหนี้สาธารณะของไทยอาจเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
สำหรับแนวทางการรับมือของไทย ในช่วงการประชุมวอร์รูมที่กระทรวงการคลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้หารือเกี่ยวกับวิธีการรับมือกับการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ โดยการเจรจาเชิงยุทธศาสตร์จะเป็นแนวทางหลัก โดยไทยจะไม่ใช้วิธีการต่อสู้แบบจีนหรือการลดภาษีแบบเวียดนาม แต่จะเน้นการร่วมมือและการเจรจาที่สามารถสร้างผลประโยชน์ร่วมกันกับสหรัฐฯ เหมือนกับที่เกาหลีใต้ได้ดำเนินการ
ยุทธศาสตร์ 5 เสาหลักในการเจรจากับสหรัฐฯ ของไทย
1.ลดการเกินดุลการค้า ไทยจะเน้นการลดเกินดุลการค้าที่สหรัฐฯ ขาดดุลมาก โดยอาจเพิ่มการนำเข้าจากสหรัฐฯ เช่น การนำเข้าเครื่องจักรและเครื่องบินมากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดการตอบโต้ภาษีจากสหรัฐฯ
2.ลดภาษีที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไทยจะทบทวนการลดภาษีสินค้าที่ไม่ได้ใช้งาน เช่น เนื้อสัตว์และข้าวโพด ซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าจากสหรัฐฯ เพื่อใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ในประเทศ นอกจากนี้ยังมีการลดภาษีบางรายการ เช่น มอเตอร์ไซค์จากสหรัฐฯ
3.อำนวยความสะดวกในการค้าขาย ไทยจะเน้นการทบทวนและปรับปรุงกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้ากับสหรัฐฯ เพื่อให้การค้าระหว่างทั้งสองประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ
4.ตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้า ไทยจะต้องกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าให้ชัดเจนเพื่อป้องกันสินค้าที่มาสวมสิทธิ์ในประเทศไทย โดยการทำใบกำหนดแหล่งกำเนิดสินค้าจะช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ
5.สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ ไทยจะสนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติหรือฟาร์มเกษตร เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและสร้างโอกาสในการเติบโตให้กับทั้งสองประเทศ
โดยยุทธศาสตร์เหล่านี้จะช่วยให้ไทยสามารถรับมือกับผลกระทบจากนโยบายภาษีของสหรัฐฯ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนาคต
สำหรับ กลยุทธ์เสริมเพื่อรับมือกำแพงภาษีสหรัฐฯ ได้แก่
1.ทำให้สหรัฐฯ ผ่อนคลาย พิจารณาทบทวนภาษีบางรายการที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ เช่น เนื้อสัตว์และสินค้าเกษตรอื่นๆ
2.กวาดบ้านให้เรียบร้อย ลดอุปสรรคในการค้าขาย โดยการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
3.เน้นการตรวจสอบแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ในไทย
3.ไปลงทุนในบ้านเขาด้วย สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลงทุนในฟาร์มเกษตรหรืออุตสาหกรรมพลังงาน
4.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยจำเป็นต้อง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยการปรับปรุงวิธีการผลิตและยกเลิกการอุดหนุนที่ไม่ทำให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว
5. ไปลงทุนในบ้านเขาด้วย สนับสนุนการลงทุนในสหรัฐฯ เช่น การลงทุนในฟาร์มเกษตรหรืออุตสาหกรรมพลังงาน
6.การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ไทยจำเป็นต้อง ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอย่างยั่งยืน โดยการปรับปรุงวิธีการผลิตและยกเลิกการอุดหนุนที่ไม่ทำให้เกษตรกรสามารถแข่งขันได้ในระยะยาว