"หอการค้าไทย” ชี้เจรจาสหรัฐฯ ทางเลือกเดียว ทลายกำแพงภาษีทรัมป์
หอการค้าไทย ร่วมมือรัฐบาลเตรียมถกสหรัฐ ลุยปรับสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ ลดผลกระทบภาคเกษตร ประเมินหากเจรจาล้มเหลว ไทยเสี่ยงสูญเสียมูลค่าการค้าราว 1 ล้านล้านบาท
ดร.ชนินทร์ ชลิศราพงศ์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวในงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ภายใต้ หัวข้อ The Great trade War จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ และโพสต์ทูเดย์ ว่า ขณะนี้รัฐบาลไทยได้ร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเฉพาะหอการค้าไทย เร่งเตรียมความพร้อมเพื่อเจรจากับสหรัฐฯ อย่างจริงจังในประเด็นสำคัญเกี่ยวกับการปรับความสมดุลการค้าระหว่างสองประเทศ หลังนโยบายทางภาษีของสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะในภาคการเกษตรและอาหาร
ซึ่งการเจรจาเริ่มต้นตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และถึงแม้ว่าในช่วงแรกหลายๆ ประเด็นยังมีความไม่ชัดเจน เนื่องจากข้อมูลบางส่วน เช่น วันที่การปรับภาษีหรือการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ยังไม่ได้รับการประกาศจากทั้งสองฝ่าย แต่การทำงานร่วมกันของรัฐบาลและภาคเอกชนมีความต่อเนื่อง โดยหอการค้าไทยรับหน้าที่ในการรวบรวมข้อมูลและเสนอมุมมองจากภาคเอกชนเพื่อให้รัฐบาลนำไปใช้ในการเจรจา
ในระหว่างการเจรจา หนึ่งในประเด็นที่ได้มีการพูดถึงอย่างมากคือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของไทย การค้าระหว่างประเทศในปัจจุบันกำลังเผชิญกับการขาดดุลการค้าในระดับสูงสุดในรอบ 30 ปี โดยเฉพาะการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ซึ่งมีมูลค่ากว่า 1.9 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 19-20% ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ
หากการเจรจาครั้งนี้ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ไทยอาจเผชิญกับความเสียหายในลักษณะต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ โดยประเมินว่าอาจสูญเสียมูลค่าถึง 36% หรือประมาณ 1 ล้านล้านบาทจากการค้ากับสหรัฐฯ ทำให้ในขณะนี้ การเจรจาจึงถือเป็นทางเลือกเดียวที่มีอยู่ในการลดความเสี่ยงเหล่านี้
ทุกประเทศต้องปรับตัว โดยเฉพาะไทยที่มีปัญหาส่งออกและเศรษฐกิจในประเทศยังไม่แข็งแรง การเจรจาจึงเป็นทางเลือกเดียวที่เรามี เพราะการปรับโครงสร้างภาษีและนโยบายการส่งออกเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างเร่งด่วน การเจรจาต้องมีรายละเอียดและเป็นแพ็กเกจที่สหรัฐฯ ยอมรับ ไม่สามารถใช้แนวทางเก่าได้อีกแล้ว เราต้องมีแผนระยะสั้น กลาง ยาว เพื่อปรับสมดุลการส่งออกและลดการเกินดุลการค้าให้ได้มากที่สุด
สำหรับทิศทางการเจรจาของประเทศไทย มีการตั้งสมมติฐานร่วมกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ซึ่งตอนนี้มีภาระในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวง ทุกประเทศต้องเตรียมตัวและปรับตัวตามนโยบายใหม่ที่มุ่งเน้นไปที่การปรับสมดุลทางการค้าระหว่างประเทศ ในกรณีของไทย การเจรจาไม่ได้จำกัดอยู่แค่กับสหรัฐฯ เท่านั้น แต่ต้องมองในมุมกว้างไปถึงการปรับสมดุลในระบบการค้าระหว่างประเทศทั้งหมด
หอการค้าไทยได้ร่วมกับรัฐบาลในทุกขั้นตอนของการเจรจา และเป็นพันธมิตรที่สำคัญในการจัดทำแผนการเจรจา รวมถึงเสนอข้อเสนอที่สำคัญ เช่น นโยบายการนำเข้าผลิตภัณฑ์เกษตรจากสหรัฐฯ ซึ่งจะต้องมีความยืดหยุ่นและมีกลไกในการจัดการกับความไม่สมดุลในการนำเข้า เช่น การปรับลดอัตราภาษีหรือการปรับปรุงโควต้าให้เหมาะสม
ประเด็นที่สำคัญที่สุดในส่วนของการเจรจาคือสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งมีความสำคัญต่อการค้าระหว่างสองประเทศ โดยเฉพาะข้าวโพด ถั่วเหลือง และสินค้าหมู ซึ่งมีการนำเข้าจากสหรัฐฯ เป็นจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันไทยก็มีอัตราภาษีที่สูงในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ที่มากถึง 27% ซึ่งสูงกว่ามาตรฐานการค้าอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีโควตาสินค้าที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้ราคาสินค้าต่างๆ เช่น ข้าวโพดและถั่วเหลืองมีราคาแพง
ทางหอการค้าไทยเห็นว่าการปรับโครงสร้างการค้าระหว่างสองประเทศในเรื่องนี้จะต้องทำให้เกิดความสมดุล ไม่เพียงแค่เปิดโอกาสให้สินค้าจากสหรัฐฯ เข้าไทยได้มากขึ้น แต่ยังต้องรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรไทยที่อาจได้รับผลกระทบจากราคาตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป
อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการนำแผนระยะยาวมาปรับใช้กับการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการตั้งสมมติฐานในการลดอัตราภาษีสินค้าเกษตรและอาหารในอนาคต โดยมีแผนการดำเนินการในช่วงระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อให้เกิดความสมดุลระหว่างการรักษาผลประโยชน์ในประเทศและการเปิดตลาดการค้าใหม่ๆ สำหรับสินค้าเกษตรและอาหาร