InnovestX แนะไทยต้องเร่งเปิดเสรีการค้ายุโรป ทดแทนส่งออกสหรัฐ
นักวิจัยเศรษฐกิจ อินโนเวสท์ เอกซ์ หวั่น GDP ไทยติดลบแรง แนะทางออกต้องเร่งเจรจาเปิดเสรีทางการค้ากับยุโรป ทดแทนการส่งออกไปสหรัฐฯ หลังทรัมป์ขึ้นภาษี
ดร.ปิยศักดิ์ มานะสันต์ Head of Economic Reserch หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ อินโนเวสท์ เอกซ์ จำกัด (InnovestX) กล่าวในงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ภายใต้หัวข้อ "ผ่ากำแพงภาษี" ทรัมป์ ฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจ: Out of The Trump’s Uncertainty" ว่า
ขณะนี้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักประเมินตรงกันว่า GDP ไทยอาจลดลงเหลือเพียง 1.4% หรือราว ๆ 1% ต้น ๆ หากสถานการณ์สงครามการค้ายืดเยื้อ โดยเฉพาะในมุมของ “โมเมนตัม” ทางเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างชัดเจน โดยเริ่มจากภาคการส่งออกที่เผชิญปัญหามากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคการจ้างงานและการบริโภคภายในประเทศ
"ครึ่งปีหลังถือว่าน่ากังวลอย่างมาก GDP ในรายไตรมาส 3 และ 4 อาจเหลือเพียงระดับ 0 ต้น ๆ หรืออาจติดลบ หากพิจารณาภาคการส่งออก เราเคยเติบโต 8–10% ในไตรมาสแรก แต่แนวโน้มต่อจากนี้อาจกลับทิศแรง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ที่มีโอกาสติดลบถึง -10%"
ดร.ปิยศักดิ์ชี้ว่า ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ เริ่มมีแนวโน้มถดถอย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสินค้าไทยหลายกลุ่ม โดยเฉพาะ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร อัญมณี และยางพารา ซึ่งล้วนพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ค่อนข้างสูง หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น อาจส่งผลกระทบลากยาวต่อเศรษฐกิจไทยไปถึงปี 2026
จุดที่ควรเร่งดำเนินการในขณะนี้ คือการเปิดเสรีทางการค้ากับยุโรป
ดร.ปิยศักดิ์เผยว่า ได้หารือกับผู้บริหารในกระทรวงพาณิชย์ และพบว่ายุโรปเริ่มแสดงท่าทีเชิงบวกต่อการเจรจาเสรีการค้า (FTA) กับไทย หลังจากเห็นภาพของความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ-จีน ซึ่งอาจกลายเป็นโอกาสที่ดีของไทย
"หากสามารถบรรลุข้อตกลงการค้าเสรีกับยุโรปได้จริง ภายใน 3 ปีข้างหน้า มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับยุโรปอาจเติบโต 15–20% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเพียง 7% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด อาจขยับขึ้นมาแตะ 15–20% ได้ ซึ่งจะเข้ามาทดแทนการส่งออกไปสหรัฐฯ ได้บางส่วน"
ในระยะสั้น รัฐบาลควรพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ส่งออกอย่างเร่งด่วน อาทิ การพิจารณาลดภาษีนิติบุคคลบางส่วน หรืออุดหนุนทางภาษีให้กับภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบ รวมถึงการลดดอกเบี้ย ซึ่งแม้ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจต้องเผชิญข้อจำกัดจากแรงกดดันเงินเฟ้อ แต่หากเศรษฐกิจภายในยังตึงตัว ก็ควรมีพื้นที่ในการผ่อนคลายนโยบาย