ศึก 2 ประเทศมหาอำนาจ "จีน-สหรัฐ" ไร้การเจรจา นำไปสู่วิกฤตเศรษฐกิจโลก
หอการค้าไทยในจีน วิเคราะห์ศึก 2 ประเทศมหาอำนาจ เมื่อ “จีน-สหรัฐ” ไม่คุยกัน เป็นเรื่องน่ากลัว หากสหรัฐชนะเกมแรกแล้วไม่หยุด อาจเก็บภาษีอื่นเพิ่ม
ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน กล่าวในงานเสวนา Roundtable “Trump’s Global Quake: Thailand Survival Strategy” ภายใต้หัวข้อ “The Great Trade War : กลยุทธ์ ไทยสู้ศึกสงครามการค้าโลก” ที่จัดขึ้นโดยกรุงเทพธุรกิจ ฐานเศรษฐกิจ โพสต์ทูเดย์ ว่า ตลอด 8 ปีตั้งแต่ Trade War ครั้งที่ 1 จนถึงปัจจุบัน จีนมีความแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ เหมือน “กระท้อนที่ยิ่งทุบ ยิ่งหวาน”
ตลอด 8 ปีที่ผ่านมาขนาดเจอโควิด-19 จีนพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันของเขาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็นประเด็นน่าสนใจ ในขณะที่ไทยมีข้ออ้างโควิด-19 ทำให้ไม่สามารถพัฒนาได้ แต่เขามองว่าโควิดคนอื่นไม่พัฒนา เขากลับเดินหน้าพัฒนาอย่างจริงจัง และทำให้เขามีความสามารถในการแข่งขัน
ล่าสุดวันนี้ (9 เม.ย.) จีนเพิ่งออกสมุดปกขาว หนึ่งในประเด็นสำคัญนอกจากกรอบความร่วมมือระหว่างจีนสหรัฐ ในรูปแบบต่าง ๆ ในมิติเชิงเศรษฐกิจ หนึ่งในนั้นคือการเรียกร้องขอให้สหรัฐ กลับไปทบทวนและหันเข้าสู่โต๊ะเจรจา
จีน-สหรัฐ ใส่กลอนประตูปิดช่องทางเจรจา
ซึ่งจริงๆ แล้วช่วง 2 วันที่ผ่านมาทางสหรัฐ ผมคิดว่าในมิติด้านหนึ่ง อาจเป็นเทคนิคในการเจรจาที่วางจุดยืนแข็งแกร่ง ว่าถ้าจะขึ้นภาษีหยุดปิดทุกประตูการเจรจา
อีกด้านคิดว่า เป็นความผิดพลาดความไม่เข้าใจของวัฒนธรรมที่มีความแตกต่างกันสหรัฐต้องการสื่อสารตรง ๆ ผ่านสื่อ แต่จีนบอกว่าการทำแบบนี้ ทำให้เสียหน้า เพราะฉะนั้นเขาไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการตอบโต้ ฉะนั้นผู้นำจะเสียหน้าต่อประชากรในจีน 1.4 พันล้านคน เฉพาะในประเทศ ทั้งยังมีคนอีกทั่วโลกที่จับตาอยู่ หรือสหรัฐฯ ออกมาพูดทำนองว่า ถ้าขึ้นภาษี เดี๋ยวปิดประตูเจรจา ส่งสัญญาณว่าอยากปิดดีลเรื่องนี้ แต่ทำไม่เป็น
ตรงนี้เป็นข้อสังเกตว่าเป็นการผลักให้จีน ไม่เปิดช่องทางในการเจรจา ที่สมเหตุสมผลอีกต่อไป เพราะไม่อยู่ในหลักเกณฑ์การพูดคุย ที่ผ่านมาจีน สหรัฐ เขามีเวทีในการพูดคุย จะสังเกตว่าทุกปีจะมีการเจรจาระหว่างผู้นำสองฝ่ายอยู่เรื่อย ๆ แต่ 3 เดือนนี้กำลังส่งสัญญาณว่า ช่องทางในการเจรจาเหล่านี้ กำลังปิดกลอนประตูลง
ศึก 2 ประเทศมหาอำนาจไม่คุยกัน อาจนำไปสู่ปัญหาใหญ่
ดร.ไพจิตร มองว่า การที่มหาอำนาจสองฝ่ายไม่คุยกัน เป็นเรื่องน่ากังวลใจ เพราะเป็นมหาอำนาจทั้งการเมือง การทหาร อาจนำไปสู่ความไม่เข้าใจของสองฝ่าย กลายเป็นปัญหาที่ใหญ่ขึ้น จีนจับสัญญาณบางอย่างว่าสหรัฐก็ไม่ได้อยากเข้าสู่โต๊ะเจรจา อาจพาย้อนยุคไปถึงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 1-2 ที่สหรัฐฯ ทศวรรษ 1930 เป็นช่วงที่สหรัฐขาดดุลการค้าแบบนี้ และขึ้นภาษี
ท้ายสุด ขาดดุลการค้า นำไปสู่วิกฤตโลกครั้งใหญ่ คล้ายกับเมื่อครั้งสงครามรอบสองที่ “ไม่มีอะไรจะกิน ก็ต้องรบกัน” จีนมองว่าการทำแบบนี้กำลังผลักโลกไปถึงจุดนั้น
สหรัฐครองลิขสิทธิ์ทรัพย์สินปัญญา ไม่เป็นธรรมประเทศอื่น
สหรัฐ หลังผลักดันทรัพย์สินทางปัญญาบนเวทีโลกได้สำเร็จ สหรัฐฯ ไม่ยอมหยิบเรื่องภาคบริการขึ้นสู่โต๊ะเจรจา เพราะสหรัฐได้ดุลจากการขายลิขสิทธิ์ การขายสิทธิบัตรต่าง ๆ ผมประเมินคร่าวๆ ปีๆ นึงน่าจะมี 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เงินเหล่านี้บางส่วนไหลกลับเข้าสหรัฐ บางส่วนไปซ่อนไว้ ไม่ขยายการลงทุน หลีกเลี่ยงภาษี ลักษณะแบบนี้เองก็ไม่เป็นธรรมกับเราเช่นกัน พอจับห่วงตอนบน ยอดภูเขาของห่วงโซ่ ได้มาแล้วก็ครอง แต่คนอื่น ๆ ต้องจ่ายเงินให้
อีกส่วนหนึ่งที่ทรัมป์พูดถึง คือ การเอากรีนแลนด์เป็นรัฐที่ 51 ของสหรัฐ เพราะขณะนี้ จีน รัสเซีย ยุโรป พัฒนาเส้นทางสายไหมขั้วโลก ซึ่งสหรัฐกังวลว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อเสถียรภาพความมั่นคง
นอกจากนี้ทรัมป์ยังทุ่มงบประมาณพัฒนาอู่ต่อเรือโดยเฉพาะเรือรบ เตรียมเรียกเก็บค่าเซอร์ชาร์จเรือเข้าเทียบท่าที่ไม่ใช่เรือของสหรัฐ โดยฉพาะจีน ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะกลายเป็นภัยคุกคามใหญ่
อย่างไรก็ตามขณะนี้หลายประเทศต่อสายเจรจากับทรัมป์ หากว่า สหรัฐชนะเกมแรกแล้วไม่หยุด อาจจะเก็บภาษีเพิ่มเติมอีก พร้อมขยายวงไปยังเรื่องอื่น เช่น การลงทุน โดยเก็บภาษีเพิ่มขี้น และหากว่าประเทศอื่นใช้โมเดลนี้บ้าง จะเป็นอย่างไร ซึ่งเราต้องพิจารณาให้รอบด้าน คงต้องติดตามกันต่อไป
ดร.ไพจิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างการผลิตอย่างจริงจัง เพื่อเข้าสู่กลไกตลาดเสรีให้มากขึ้น ลดการพึ่งพาการนำเข้าสินค้าที่มีศักยภาพในการผลิตเองได้ในประเทศ
ขณะเดียวกันควรปรับสมดุลทางการค้าซึ่งปัจจุบันกระจุกตัวอยู่กับประเทศพัฒนาแล้ว ให้ขยายออกไปสู่ตลาดใหม่ เช่น ประเทศในแอฟริกาและลาตินอเมริกา
ดร.ไพจิตรยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการเร่งรัดการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหานอมินี และส่งเสริมการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมใหม่หรืออุตสาหกรรมแห่งอนาคต พร้อมทั้งปลุกกระแสรักชาติ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ร่วมกันในสังคม
นอกจากนี้ รัฐบาลควรใช้เวทีขององค์การการค้าโลก (WTO) เพื่อเปิดการเจรจาการค้า และใช้เวทีอาเซียนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการเพิ่มอำนาจต่อรองร่วมกันของภูมิภาค พร้อมจัดตั้งทีมเศรษฐกิจที่มีบทบาทครอบคลุมในทุกมิติ ไม่จำกัดเพียงด้านการค้าเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงผลประโยชน์โดยรวมของประเทศในระยะยาว