
ภาษีทรัมป์กระทบส่งออก-การลงทุน ฉุดเศรฐกิจไทยปี 68 โตเหลือ 1.5%
ในวันที่ 9 เม.ย.2568 ทรัมป์ประกาศเลื่อนการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้รายประเทศ (Reciprocal tariff) ออกไปอีก 90 วัน เพื่อให้ประเทศต่างๆ มีโอกาสเจรจาปรับลดภาษี แต่ยังคงอัตราภาษีนำเข้าขั้นต่ำทุกประเทศที่ 10% ไว้
ขณะที่ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจีนอีกหลายรอบ รวมเป็น 145% หลังจีนประกาศขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ ก่อนหน้านี้ นำไปสู่สงครามการค้าเต็มรูปแบบของสองเศรษฐกิจใหญ่ของโลก
SCB EIC มองว่าแม้สหรัฐฯ จะเปิดช่องให้เจรจาภาษีในช่วง 3 เดือนข้างหน้า แต่มาตรการภาษีนำเข้าชุดใหญ่ที่สหรัฐฯ ประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย.2568 จะยังคงเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สร้างความไม่แน่นอนกดดันการค้า การลงทุน และเศรษฐกิจโลกสูง
อัตราภาษีนำเข้าที่สหรัฐฯ ตั้งให้สินค้าจากไทยที่ 36% นั้น ถือว่าอยู่ในเกณฑ์สูง สะท้อนสัดส่วนการเกินดุลการค้าของไทยกับสหรัฐฯ ที่สูง โดยอัตราภาษีตอบโต้ไทยสูงเป็นอันดับ 20 จาก 185 ประเทศคู่ค้าสหรัฐฯ และเป็นอันดับ 10 ของเอเชีย สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก (17%) และค่าเฉลี่ยเอเชีย (23%) จึงต้องจับตามองการเจรจาที่จะเกิดขึ้นว่าจะสามารถลดอัตราภาษีนำเข้านี้ได้มากน้อยอย่างไร
ภายใต้การค้าโลกที่ชะลอลงและความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า ทั้งผลทางตรงจากการที่ไทยส่งออกตลาดสหรัฐฯ สูงเป็นอันดับ 1 และผลทางอ้อมผ่านเศรษฐกิจคู่ค้าหลักชะลอตัว (เช่น จีน) การแข่งขันทางการค้ารุนแรงขึ้น และการลงทุนชะลอจากความไม่แน่นอนของนโยบายภาษีเพิ่มเติมในระยะข้างหน้า
SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยปี 2568 จะเติบโตชะลอลงเหลือ 1.5% (เดิม 2.4%) จากการประกาศขึ้นภาษีชุดใหญ่ของสหรัฐฯ และเหตุการณ์แผ่นดินไหวล่าสุด
โดย SCB EIC มองว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะแผ่วลงอย่างมาก จากมาตรการภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มมีผลเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี การประกาศขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไปมาเช่นนี้ จะมีผลให้ธุรกิจชะลอการลงทุนทันที เพื่อรอดูความชัดเจนของรัฐบาลสหรัฐฯ อีกครั้ง
ในการปรับคาดการณ์เศรษฐกิจลงครั้งนี้ ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกสินค้าและการลงทุนเอกชนที่ปรับแย่ลง
มูลค่าการส่งออกสินค้า (รวมทองคำ) คาดว่าจะหดตัว -0.7%YOY (เดิม 1.6%YOY) โดยจะมีแนวโน้มหดตัวตั้งแต่ไตรมาส 2 จากผลของภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ และเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะหมวดอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และปิโตรเคมี
มูลค่าส่งออกไทยทั้งปีอาจดูหดตัวไม่มาก แม้ไทยจะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ สาเหตุหลักเพราะ (1) มูลค่าการส่งออกในช่วง 2 เดือนแรกของปีที่ออกมาแล้วเติบโตดีเกือบ 14%YOY และ (2) มูลค่าการส่งออกทองขยายตัวสูงตามราคาทองคำ
การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะยังไม่ฟื้นในปีนี้มองขยายตัวเพียง 0.3%YOY (เดิม 2.9%YOY) จากที่หดตัวในปีก่อน ผลจากความไม่แน่นอนของนโยบายสหรัฐฯ ที่สูงขึ้นมาก ธุรกิจต่างชาติอาจต้องรอดูท่าทีรัฐบาลสหรัฐฯ ต่ออาเซียนและไทย รวมถึงผลการเจรจาของรัฐบาลไทย
ความไม่แน่นอนเหล่านี้จะชะลอการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากจีน ที่เคยมองว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนการลงทุนภาคเอกชนที่สำคัญในปีนี้ ขณะที่การลงทุนจากธุรกิจในประเทศ โดยเฉพาะการก่อสร้าง และการลงทุนในยานพาหนะเชิงพาณิชย์จะยังคงซบเซา ส่งผลให้การลงทุนภาคเอกชนไทยฟื้นตัวไม่ได้ในปีนี้
องค์ประกอบอื่นๆ ของเศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบทางอ้อมจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ เช่นกัน
การท่องเที่ยว ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้ลง 1.5 ล้านคน เหลือ 36.7 ล้านคน ตามเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ส่งผลให้อุปสงค์การท่องเที่ยวไทยลดลงตาม
การบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัวเหลือ 2.2%YOY (เดิม 2.6%YOY) ตามการปรับลดลงของรายได้ของลูกจ้างในธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีสหรัฐฯ รวมถึงความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับลดลง ภาพการบริโภคภาคเอกชนในปีนี้จะยังขยายตัวได้ระดับหนึ่งจากมาตรการกระตุ้นภาครัฐ ที่จะยังมีต่อเนื่อง
มูลค่าการนำเข้าสินค้า คาดจะขยายตัวเหลือ 0.9%YOY แม้อุปสงค์ในประเทศจะปรับลดลง แต่มองว่าการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน ทั้งวัตถุดิบ สินค้าขั้นกลาง และสินค้าบริโภคอาจรุนแรงขึ้น
ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะเผชิญความไม่แน่นอนที่สูงขึ้นมากในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะจากนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตลอด ขึ้นอยู่กับความสำเร็จและระยะเวลาในการเจรจาต่อรองของรัฐบาลไทยเป็นหลัก
รวมทั้งประเมิน กนง. มีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มอีก 3 ครั้ง ไปอยู่ที่ 1.25% ณ สิ้นปี 2568 (เดิม 1.50%) เพื่อดูแลเศรษฐกิจที่ชะลอลงมากภายใต้ความไม่แน่นอนสูง
อัตราดอกเบี้ยนโยบายคาดว่าจะกลับมาอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงปี 2561-2562 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ รอบแรกที่ไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง
นโยบายการเงินจำเป็นต้องช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยมากขึ้น มาตรการภาษีทรัมป์ที่มากกว่าคาดมากจะยิ่งซ้ำเติมเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้ว และทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตต่ำกว่าระดับศักยภาพอย่างมีนัย นโยบายการเงินจะมีบทบาทช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยมากขึ้น และช่วยผ่อนคลายภาวะการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือนได้
ดังนั้น รัฐบาลควรเร่งเจรจาลดผลกระทบภาษีครั้งใหญ่นี้ โดยเน้นสิ่งที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญ 3 เรื่อง คือ ลดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ ลดมาตรการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี และแก้ปัญหาสำคัญอื่นๆ เช่น การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิเสรีภาพแรงงาน รัฐบาลควรเจรจาบนผลประโยชน์ในภาพรวมและมีกลไกดูแลผลกระทบของภาคส่วนต่างๆ อย่างเหมาะสม ควบคู่กับการเร่งสร้างความเข้มแข็งภายในประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาว