คลัง จ่อหั่น GDP ปี 68 เซ่นผลกระทบแผ่นดินไหว-ภาษีทรัมป์
สศค. เตรียมปรับลดประมาณการจีดีพีปี 68 หลังเศรษฐกิจไทยเผชิญแรงกระแทกซ้อนจากแผ่นดินไหว และภาษีนำเข้าของสหรัฐ ที่กดดันความเชื่อมั่น
นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า สศค. เตรียมแถลงข่าวปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2568 ในวันที่ 28 เมษายนนี้ โดย สศค.จะเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจแรกที่ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจจาก 2 ปัจจัยสำคัญ ปัจจัยแรกได้แก่ เหตุการณ์แผ่นดินไหว และแรงกดดันจากนโยบายกีดกันการค้าระหว่างประเทศ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากไทย ในอัตราสูงถึง 36% ภายใต้แนวทางกีดกันทางการค้า (Protectionism) ที่มีลักษณะตอบโต้ประเทศคู่ค้า
เรากำลังประเมินเพื่อปรับลดคาดการณ์การเติบโตของจีดีพีปี 2568 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวในกรอบ 2.5-3.5% หลังเผชิญปัจจัยลบที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไล่เลี่ยกัน ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจในหลากหลายมิติ ทั้งด้านการบริโภคภายในประเทศ การลงทุนภาคเอกชน ภาคการส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเสาหลักของการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในช่วงที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะผลการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งผลกระทบที่แท้จริงจะขึ้นอยู่กับผลลัพธ์ของการเจรจาทางการทูตและการค้า ระหว่างรัฐบาลไทยกับฝ่ายสหรัฐ
ทั้งนี้ รัฐบาลไทยอยู่ระหว่างจัดเตรียมมาตรการเพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีความเปราะบางสูง
โดยกระทรวงการคลังเตรียมดำเนินมาตรการทางการเงิน ผ่าน สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาตรการเหล่านี้จะมุ่งเน้นการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและเงื่อนไขผ่อนปรน เพื่อช่วยพยุงสภาพคล่องและลดความเสี่ยงของผู้ประกอบการรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอก
หากสหรัฐดำเนินการเก็บภาษีนำเข้าตามที่ประกาศไว้ จะถือเป็นระดับผลกระทบรุนแรงที่สุดตามกรอบที่ประเมินไว้ อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยกำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเจรจากับฝ่ายสหรัฐ ซึ่งหากผลออกมาในทิศทางที่ดี ก็มีโอกาสที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอาจไม่รุนแรงเท่าที่ประเมินไว้ในขณะนี้ โดยยังมีมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐเข้ามาช่วยพยุงเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม นายพงศ์นครชี้ว่า เศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยสนับสนุนในบางด้าน เช่น รายได้ภาครัฐจากภาษีซึ่งยังเป็นไปตามเป้าหมาย ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลต่อรายได้เกษตรกร ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงฟื้นตัว แม้ได้รับผลกระทบเล็กน้อยจากเหตุแผ่นดินไหว
ในส่วนของภาคการส่งออก สศค. ยังคงใช้ตัวเลขเดือนมีนาคมนี้ เป็นฐานในการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนที่สหรัฐฯ จะประกาศขึ้นภาษี ดังนั้น ตัวเลขจริงที่จะสะท้อนผลกระทบจะทยอยปรากฏในเดือนปลายเดือนเม.ย.2568 ถ้าการส่งออกยังไม่ถูกกระทบหนัก ประกอบกับมาตรการกระตุ้นของรัฐ และการที่เงินบาทอ่อนค่าลง ก็อาจพอช่วยประคองจีดีพีไว้ได้ในระดับหนึ่ง
เมื่อถูกถามถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งถัดไปควรปรับลดดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่ นายพงศ์นครตอบว่า การดำเนินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครม. ซึ่งควรพิจารณาให้สอดคล้องกับนโยบายการคลังเพื่อให้เกิดพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในทิศทางเดียวกัน
นายพงศ์นคร ยังกล่าวด้วยว่า การปรับลดประมาณการเศรษฐกิจในปี 2568 จะส่งผลต่อการวางกรอบนโยบายการคลังในระยะกลาง ซึ่งจำเป็นต้องมีการทบทวนแผนการคลังประจำปีงบประมาณ 2569-2572 เนื่องจากฐานการเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดไว้เดิม โดยเดิมรัฐบาลประเมินว่า จีดีพี ในช่วงปี 2569-2571 จะขยายตัวในช่วง 2.3-3.3% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.8% และในปี 2572 คาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ 2.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 3%
การขึ้นภาษีของสหรัฐอาจไม่ใช่เพียงภาวะช็อกระยะสั้น แต่อาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในระยะยาว